ผลโพลเอกชนถึง APEC 2022

ธุรกิจ

สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จัดทำข้อเสนอจากภาคเอกชนสู่นโยบายบนเวทีผู้นำเอเปค 2022 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ ภายใต้แนวคิด Business of the People

โดยได้ทำการสำรวจความเห็น “Business of the People Poll” จากผู้ประกอบการไทย 451 ตัวอย่างใน 5 ภูมิภาค ถึงความท้าทาย โอกาสในการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต 5-10 ปีข้างหน้า

สถานการณ์ทางธุรกิจ

ผลสำรวจ Business of the People Poll พบว่า สถานะทางธุรกิจในปัจจุบันเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการประเมินด้านยอดขาย ต้นทุน กำไร สภาพคล่อง การจ้างงานและภาพรวมธุรกิจ กลุ่มตัวอย่าง 40.4% เห็นว่าอยู่ในสถานะ “ทรงตัว” เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ภาพรวมภาคธุรกิจไทยในอนาคต 5-10 ปีข้างหน้า เชื่อว่าสถานะทางธุรกิจจะฟื้นกลับมาดีขึ้น และมีโอกาสเติบโตถึง 95%

โดยปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ คือ การนำเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาช่วย การได้รับการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ และการช่วยเหลือด้านนโยบายจากภาครัฐ นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการร่วมมือกันของภาครัฐและภาคเอกชนในการส่งเสริมการเชื่อมโยงภาคธุรกิจเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เน้นความยั่งยืน

ไฮไลต์สำคัญของการสำรวจครั้งนี้ยังพบว่า ภาคธุรกิจส่วนใหญ่เห็นพ้องด้านการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย การลดความเหลื่อมล้ำ การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ และต้องส่งเสริมสิ่งแวดล้อม เช่น green economy

ในขณะเดียวกันกับความต้องการที่จะพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน ยังมีอีก 3 ข้อปฏิบัติที่ภาคธุรกิจทำได้ไม่เต็มที่ นั่นคือ 1.การบริหารจัดการขยะ 2.ลดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ และ 3.ลดการปล่อยมลพิษ ที่ยังไม่สามารถส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมให้ดีได้

สร้างความเข้าใจ BCG Model

ขณะที่การดำเนินนโยบายด้าน BCG และสิ่งแวดล้อม เป็นนโยบายที่ภาคธุรกิจให้ความสำคัญมากถึง 65.8% อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึง BCG model พบว่า มีภาคธุรกิจกว่า 39.9% ที่ยังไม่มีความเข้าใจเรื่องนี้ และส่วนมากจะเป็นกลุ่มวิสาหกิจรายย่อย (micro) และรายย่อม (small) แต่ในอนาคตเชื่อว่า BCG model และสิ่งแวดล้อม จะมีความสำคัญมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มองว่า การที่ประเทศไทยได้รับโอกาสในการเป็นเจ้าภาพการจัดงานประชุมสุดยอดผู้นำ APEC CEO Summit 2022

ยังถือเป็นโอกาสในการเผยแพร่ BCG model ให้นักลงทุนฝั่งตะวันตก และคนไทยได้รับรู้และเข้าใจบทบาทของ BCG model มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงจะช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

เร่งเปิดเสรีทางการค้า

อีกด้านหนึ่ง ภาคธุรกิจส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจ และเห็นด้วยกับการเปิดเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) 92.6% โดยมองว่าเป็นประโยชน์ และโอกาสในการสร้างการรวมกลุ่มในการแข่งขัน ทั้งยังช่วยลดต้นทุนและลดภาษีการค้า

ซึ่งหากมีการเปิดการค้าเสรี การสนับสนุนจากภาครัฐในด้านการส่งเสริมการลงทุนแก่รายย่อย การสร้างความโปร่งใสในระบบ และการอำนวยความสะดวกจะเป็นผลดีต่อการดำเนินงานของภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 ยังมองว่า ทั่วโลกยังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อจากการปรับตัวของราคาพลังงานที่สูงขึ้น

ปัญหาการขาดแคลนอาหาร และความท้าทายใหม่จากปัญหา climate change หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การร่วมมือกันในทุก ๆ ฝ่ายถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้

ตาราง สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

ซึ่งการฟื้นฟูยังต้องคำนึงถึงความ balance และความยั่งยืนเป็นสำคัญ สิ่งที่ภาคธุรกิจควรทำคือ การแสวงหาความร่วมมือ การนำเครื่องมือเข้ามาเป็นตัวช่วยเพื่อให้เกิดสังคมดิจิทัล การเปิดกว้างเพื่อให้เกิดการค้าแบบเสรี การเอื้ออำนวยความสะดวกต่อกันทั้งการค้าขายและการเดินทาง เพราะฉะนั้น การร่วมมือกันที่เกิดขึ้นจะเป็นตัวสร้าง new value ของโลก

“จากที่ต้องเผชิญกับโควิด 3 ปี การประชุมเอเปคครั้งนี้ถือเป็นโชคดีของประเทศไทย ที่จะช่วยขับเคลื่อนเอสเอ็มอีได้ แต่ต้องเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวคือ การแลกเปลี่ยน และเรียนรู้ พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชาวต่างชาติที่จะเข้ามา

รวมถึงการยกระดับขีดความสามารถแก่ผู้ประกอบการให้เพิ่มมากขึ้น เวทีการประชุมเอเปคในครั้งนี้จะเอื้อในด้านการส่งออกของไทย ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวดีขึ้น และยังสามารถดึงนักลงทุนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามามากขึ้นด้วย”

เงินทุน เส้นเลือดใหญ่ในธุรกิจ

สุดท้าย ภาคธุรกิจเห็นว่าปัจจุบันเทคโนโลยีและดิจิทัลมีความสำคัญมากถึง 68.5% และจะมีความสำคัญในอนาคตอย่างมาก ในขณะที่ส่วนใหญ่ภาคธุรกิจจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและดิจิทัลในด้าน e-Commerce มากที่สุด และการบริหารสินค้า-คลังสินค้า และด้านการผลิต ตามลำดับ

ในด้านของแหล่งเงินทุน ภาคธุรกิจส่วนใหญ่จะใช้แหล่งเงินทุนภายในกว่า 60-70% ขณะที่ธุรกิจรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพียง 55% ถือว่าอยู่ใน “ระดับต่ำ” แต่มองว่าในอนาคตจะเกิดกำไรสะสมและเงินทุน เจ้าของเพิ่มขึ้น 6.7% ซึ่งมากกว่าการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวถึงการวางพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจว่า ระบบการเงินของประเทศ คือโครงสร้างพื้นฐานของสาธารณูปโภค ที่จะสร้างให้เกิดการลงทุน การค้าขาย ในส่วนของระบบการทำงานของธนาคารจึงมุ่งเน้นไปในส่วนของการสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่าง พร้อมเพย์ ที่ทำให้เกิดการจ่ายเงินแบบเรียลไทม์ เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพในระดับโลก จุดนี้เกิดขึ้นได้

เพราะการวางโครงสร้างพื้นฐานที่ทางธนาคารสมาชิกของประเทศไทยร่วมกันกับทางภาคเอกชน และยังดำเนินการขับเคลื่อนไทยแลนด์ สมาร์ท หรือ “พร้อมบิทส์”

โดยจะเชื่อมโยงระบบการค้า การผลิต การสั่งสินค้า การชำระเงินและการชำระภาษีของการนำเข้า-ส่งออก เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มนี้ ทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบที่ทาง กกร.ผลักดัน และต้องการเห็นในดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งนำไปสู่ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังตอบโจทย์ความสำคัญด้านความยั่งยืนได้ดี