ธนสรรไรซ์ส่งออกพุ่ง ลุ้น “อิรัก” สั่งนำเข้าเพิ่มแสนตัน

ส่งออกข้าว

ธนสรรไรซ์ คาดส่งออกปี’66 กวาด 8.5 แสนตัน ฝ่าปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าเศรษฐกิจโลกซบ ตลาดส่งออกไม่ฟื้น ลุ้น “อิรัก” หันกลับมาซื้อไทยแทนอินเดียหลัก 1 แสนตัน หลังธัญพืชโลกติดปมรัสเซีย-ยูเครน จับตาเอลนีโญกระทบผลผลิต ดันราคาข้าวสารพุ่ง

นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทคาดการณ์เป้าหมายการส่งออกปี 2566 ว่าจะมีปริมาณ 8.5 ล้านตัน ใกล้เคียงกับปี 2565 โดยยอดส่งออกในช่วง 6 เดือนแรกสามารถทำได้มากกว่า 3.2 แสนตันแล้ว แนวโน้มตลาดส่งออกข้าวครึ่งปีหลังจะขึ้นอยู่กับปัจจัยเศรษฐกิจคู่ค้าเป็นหลัก ประกอบกับสถานการณ์การค้าธัญพืชโลกหลังจากรัสเซีย-ยูเครนมีปัญหาเรื่องการส่งออกธัญพืชผ่านทะเลดำไม่ได้ และปัจจัยจากภาวะภัยแล้งว่าจะส่งผลกระทบต่อพืชเกษตรมากน้อยเพียงใด

ศุภชัย วรอภิญญาภรณ์
ศุภชัย วรอภิญญาภรณ์

“ตัวเราบอกกับทีมงานมาตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมาว่าเราไม่ดูตัวเลขเป้าหมายเป็นหลัก แต่ให้ดูว่าทำอย่างไรระมัดระวังไม่ให้บริษัทเสียหาย เช่น แข่งกันให้เทอมการเงินลูกค้า สุดท้ายจะไปเสียหายเกินกำลังก็ทำไม่ไหว เทอมเงินก็จะโอเวอร์ไปหมด ผมจึงไม่ได้ดูว่าเราอยู่ท็อป 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 10 เพียงขอให้ยอดสมูทไปเรื่อย ๆ แบบนี้ และไม่มีการเสียหายให้เก็บเงินได้จะดีกว่า”

สำหรับตลาดส่งออกในขณะนี้พบว่า ตลาดยุโรปเศรษฐกิจไม่ดี ลูกค้าไม่ได้ลดคำสั่งซื้อน้อยลง แต่มีลูกค้ามาขอยืดเวลาบ้าง เพราะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ภาวะการขายอืด เป็นต้น ส่วนจีน ยอดฝั่งข้าวหอมมะลิของธนสรรฯไม่ลดลงเลย แต่ลูกค้าให้ข้อมูลว่า เมื่อ 3-4 เดือนที่จีนมีการโฆษณาเอาข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาผสมกับข้าวไทย ทำให้ผู้บริโภคไม่มั่นใจว่าซื้อไปแล้วเป็นข้าวไทยหรือไม่ รัฐบาลใหม่ควรส่งคนไปโปรโมตทำการตลาดให้เกิดความเชื่อมั่นว่านี่เป็นข้าวหอมมะลิไทย หรือเป็นข้าวออร์แกนิก เป็นข้าวพรีเมี่ยมของไทย

ขณะที่ตลาดอิรักชะลอการซื้อเมื่อประมาณ 2 เดือนก่อน เพราะหันไปซื้อข้าวสาลีในตลาดโลกแทน แต่เมื่อเกิดปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กลับมามีปัญหา ทำให้อิรักเริ่มกลับมา คาดว่า ใน 1-2 เดือนนี้จะเห็นยอดในตลาดนี้กลับมาใหม่ โดยปกติอิรักจะซื้อหลักแสนตันต่อเดือน ส่วนแอฟริกายังมาซื้อไม่มากเพราะปกติซื้ออินเดียเป็นหลัก แต่การที่อินเดียประกาศหยุดส่งออก แต่ไม่ได้หยุดส่งออกข้าวนึ่ง ก็คงไม่ส่งผลกับเรามากนัก ยังมองว่ายอดส่งออกน่าจะใกล้เคียงกับปี 2565 โดยจะต้องมาประเมินอีกครั้งเรื่องผลกระทบภัยแล้งว่าจะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ ธนสรรไรซ์ ทำรายได้จากตลาดภายในประเทศสัดส่วน 20% และตลาดส่งออก 80%

ในส่วนของตลาดภายในประเทศนั้นยังมีผู้เล่นจำนวนมาก มีการแข่งขันสูง พบว่าตอนนี้มีผู้ผลิตหลายรายก็หันมาทำตลาดภายในเพิ่มขึ้น ซึ่งเราก็ต้องพยายามรักษาฐานลูกค้าเก่าไว้ให้ได้ เพราะลูกค้าก็มีการปรับพฤติกรรมบริโภค ข้าวเกรดรองอย่างข้าวขาวพื้นนุ่มออกมาหลายตัวมากขึ้น เพราะราคาถูกกว่าประมาณ 30-40 บาทต่อถุง ทำให้ยอดขายข้าวเกรดรองเติบโต แต่ข้าวที่แพง ๆ อาจจะขายยาก

ขณะที่ตลาดในประเทศได้มีการปรับราคาข้าวถุงในประเทศไปก่อนหน้านี้ ขนาดถุง 5 กก. ถุงละ 10-20 บาท เพราะได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบข้าว และค่าไฟ โดยอัตราการปรับขึ้นรุนแรงเป็นข้าวขาว 5% ข้าวขาว 100% จะปรับขึ้นแรงกว่าข้าวหอมมะลิ ข้าวพื้นนุ่มต่าง ๆ เพราะราคาข้าวขาวในตลาดปรับขึ้นไปมาก จากตันละ 14,000-15,000 บาท ตอนนี้ปรับไปถึง 18,000 บาท ยังไม่นับรวมค่าถุง ค่าไฟ ค่ากรรมกร และค่าเครื่องจักร และหากจำหน่ายเข้าห้างก็จะมีค่าธรรมเนียมต่าง ๆ อีก 15-20%

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทขายผ่านห้างประมาณ 20% และขายนอกห้างประมาณ 80% โดยหันมาทำตลาดออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมาผ่านเฟซบุ๊ก และแพลตฟอร์มออนไลน์

“ในแต่ละเดือนยอดขายช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นหลักล้านบาทแล้ว ถือว่าเป็นระดับที่พอใจ ส่วนหนึ่งเป็นการโปรโมชั่น เพราะในออนไลน์ตอนนี้ก็มีการแข่งขันสูงเช่นกัน อย่างแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดัง ๆ ต่างก็มีโปรโมชั่น จัดคูปองส่วนลดให้ลูกค้าเก็บ ซึ่งก็มีส่วนช่วยให้ยอดขายเติบโตขึ้นเหมือนกัน แต่หากเทียบการขายข้าวภายในประเทศกับส่งออกแล้ว มาร์จิ้นในประเทศมากกว่าแต่ปริมาณไม่ได้เยอะ เทียบกับส่งออกมีวอลุ่มมากกว่าเป็นแสนตันต่อเดือน”