ธรรมนัสชี้ ลักลอบปลูกข้าวพันธุ์เพื่อนบ้านในไทย เป็นสิ่งไม่ควรทำ

เปิด 7 แนวทางพัฒนาพันธุ์ข้าว

ธรรมนัสเปิดประชุมเวทีข้าวไทย เปิด 7 แนวทางพัฒนาพันธุ์ข้าว ยกระดับคุณภาพผลผลิต แข่งขันกับตลาดโลก ชี้ลักลอบนำเข้าสายพันธุ์ข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาปลูกในไทยนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ

วันที่ 13 ธันวาคม 2566 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมเวทีข้าวไทย ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “อนาคตข้าวไทย : โอกาสและความท้าทาย” พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายรัฐกับอนาคตข้าวไทย” ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับข้าวซึ่งเป็นสินค้าเกษตรหลักของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถด้านการผลิตและการตลาดตลอดโซ่อุปทาน โดยมีแนวทางดังนี้

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า

1) ส่งเสริม สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ได้สายพันธุ์ข้าวที่หลากหลาย ตรงความต้องการของตลาด มีความต้านทานโรค ให้ผลผลิตสูง มีรายได้เพิ่มขึ้น

2) นำเครื่องจักรกล เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ในการผลิต เพื่อลดต้นทุนด้านการเกษตร

3) ส่งเสริมการทำนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รองรับการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพภูมิอากาศ ลดการเผาตอซังในไร่นา ส่งเสริมให้เกษตรกรนำเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นามาใช้ประโชน์ สร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การผลิตปุ๋ย การนำไปเป็นอาหารสัตว์ และการนำไปใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวล ช่วยลดมลพิษทางอากาศ PM 2.5

Advertisment

4) สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีอำนาจในการต่อรองในการเข้าถึงปัจจัยการผลิตและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าว สามารถพึ่งพาตนเองได้

5) ส่งเสริมการผลิตข้าวที่ได้มาตรฐานรองรับตรงตามความต้องการของตลาด

6) ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าข้าวให้เป็นผลิตภัณฑ์อื่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต

7) เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการโลจิสติกส์เพื่อการส่งออกข้าวไทย การส่งเสริมหาตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อ การเจาะกลุ่มตลาดข้าวเฉพาะ สร้างตราสินค้าให้เป็นที่รู้จัก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณค่าและคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าข้าวไทย

Advertisment

ส่วนกรณีที่มีประเด็นพันธุ์ข้าวไทยไม่ติดอันดับในการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก The World’s Best Rice 2023 ในปีนี้นั้น ขอชี้แจงว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากปีนี้ประเทศไทยไม่ได้ส่งพันธุ์ข้าวเข้าประกวด ซึ่งหน่วยงานที่ส่งเข้าประกวดคือ กระทรวงพานิชย์ และสมาคมผู้ส่งออกข้าว

สำหรับกรณีการลักลอบนำเข้าสายพันธุ์ข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาปลูกในไทยนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แม้จะปลูกได้ปริมาณที่มากกว่าหรือเท่ากัน แต่ขอให้คำนึงถึงคุณภาพเป็นสำคัญ เนื่องจากสายพันธุ์ข้าวไทยมีอัตลักษณ์เฉพาะ ซึ่งกรมการข้าวต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เกษตรกร อีกทั้งได้เตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้สำหรับฤดูกาลผลิตหน้าแล้ว

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญจะทำอย่างไรให้เมล็ดพันธุ์ข้าวมีคุณภาพดี ผลผลิตต่ำ กรมการข้าวจึงต้องตระหนักและมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ทนทานต่อโรค และตรงความต้องการของตลาดโลก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย

ประเทศไทยมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4.68 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 17 ล้านคน เนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปีและนาปรัง เฉลี่ยปีละ 70-71 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 47 ของเนื้อที่ทำการเกษตรทั้งประเทศ (149 ล้านไร่) มีผลผลิตข้าวประมาณ 31-32 ล้านตันข้าวเปลือกต่อปี หรือประมาณ 20 ล้านตันข้าวสาร โดยในปี 2565 ไทยส่งออกข้าวได้ 7.71 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 138,698 ล้านบาท และปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) ส่งออกได้แล้ว 6.08 ล้านตัน มูลค่า 117,590 ล้านบาท

สำหรับการประชุมเวทีข้าวไทย ประจำปี 2566 จัดโดยมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับภาคีองค์กรพันธมิตร ได้แก่ กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นถึงโอกาส ปัญหาและความท้าทายของเศรษฐกิจข้าวไทย นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืน เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการกำหนดทิศทางและสร้างยุทธศาสตร์ข้าว นำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวและชาวนาไทยให้ปรับตัวก้าวทันกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ