อนาคต “ซอฟต์พาวเวอร์” อาวุธใหม่ดันจีดีพีสู้ความท้าทายโลก

ซอฟต์พาวเวอร์

การผลักดันส่งออกซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่เวทีโลก เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล โดยล่าสุดเมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับพันธมิตร จัดสัมมนาติดปีกให้กับผู้ประกอบการไทย ด้วย “Soft Power X ทรัพย์สินทางปัญญา” ขึ้นเพื่อขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทย

สิ่งสำคัญมากกว่า “นิยาม”

ใจความตอนหนึ่งที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า ทุกวันนี้ทุกคนพยายามนิยามคำว่า ซอฟต์พาวเวอร์ แต่ดิฉันคิดว่าการนิยามคำว่าซอฟต์พาวเวอร์เป็นสิ่งที่สำคัญน้อยที่สุด

เพราะรัฐบาลกำลังทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น ผลักดันอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ เน้นเศรษฐกิจมากขึ้น เป็นพลังอำนาจที่เมื่อเกิดขึ้นกับวัฒนธรรมใด มีคนคล้อยตามโดยไม่ต้องบีบบังคับ จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากมายต่อวัฒนธรรมและประเทศเหล่านั้น จะเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ให้กับประเทศไทยทางภาคธุรกิจและคนไทยทั้งประเทศ

สิ่งสำคัญคือ การนำสินทรัพย์ทางปัญญาที่มีคุณค่า ต่อยอดไปให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เพื่อสร้างงานและเพิ่มรายได้ นับเป็นสิ่งที่ต้องทำทั้งระบบ เช่น การทำ OTOP สนับสนุนสินค้าไทยอย่างเป็นระบบ ครัวไทยสู่ครัวโลก สร้างเชฟไทยส่งออกไปต่างประเทศให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก การสนับสนุนแฟชั่นครั้งใหญ่ กรุงเทพฯเมืองแฟชั่น จุดพลุให้ทั่วโลกมองเห็นศักยภาพแฟชั่นไทย ต้องทำทั้งระบบต่อเนื่องในระยะยาว ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

เปลี่ยนอาวุธขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ประเทศไทยต้องปรับรูปแบบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หลังจากภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงรวดเร็วทั้งปัจจัยทางสังคม โรคระบาด ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

“การใช้ซอฟต์พาวเวอร์ จากทรัพย์สินทางปัญญาจึงนับเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับการสร้างรายได้ ช่วยให้สามารถก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงในอนาคต”

รัฐบาลจึงได้ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ผ่านอุตสาหกรรม 11 สาขา ประกอบด้วย ท่องเที่ยว เทศกาล กีฬา อาหาร ภาพยนตร์ ดนตรี ศิลปะ หนังสือ เกม ออกแบบและแฟชั่น เพื่อให้คนไทย 20 ล้านตำแหน่ง สร้างรายได้ 4 ล้านล้านบาทต่อปี

ซึ่งรัฐบาลต้องการเปลี่ยนให้ประเทศไทยเป็นประเทศอุดมสมบูรณ์ด้านวัฒนธรรม สร้างรายได้ให้ประเทศอย่างยั่งยืน จึงออกนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ หรือ One Family One Soft Power (OFOS) สอดแทรกวัฒนธรรมไทยไปสู่ผู้บริโภคทั่วโลก สร้างการยอมรับวัฒนธรรมไทยที่มีพลังสูง เปลี่ยนทักษะพื้นบ้านเป็นทักษะสร้างสรรค์ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

ล่าสุดกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารเพื่อส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทยด้านอาหารผ่านครัวไทยสู่ครัวโลก เช่น งาน Anuga ที่เยอรมนี สร้างมูลค่ากว่า 5,300 ล้านบาท และงานแสดงสินค้ากลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์ เช่น งาน ASIAN Contents & Film Market ประเทศเกาหลีใต้ และงาน TIFFCOM (ทิฟคอม) ประเทศญี่ปุ่นสร้างรายได้รวมกว่า 2,600 ล้านบาท

ดันจีดีพีโตปีละ 1%

นายอาสา ผิวขำ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย คิดเป็น 8% ของจีดีพีประเทศ ในปี 2020 ซึ่งแนวทางการส่งเสริมมุ่งไปใน 15 อุตสาหกรรม เช่นแฟชั่น อาหาร เกม ออกแบบ ดนตรี ซึ่งใกล้เคียงกับสาขาของ Soft Power

“หากซอฟต์พาวเวอร์เติบโต 1% ของจีดีพี ทุกปีจะสร้างรายได้เข้าประเทศต่อเนื่อง ซึ่งจากที่ได้วิเคราะห์เปรียบเทียบการแข่งขันในแต่ละอุตสาหกรรม พบว่ามีหลายอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพเติบโต อย่างกลุ่มอาหาร และบางกลุ่มที่ไทยยังต้องการพัฒนา เช่น ภาพยนตร์

ซอฟต์พาวเวอร์

โมเดลปลุกซอฟต์พาวเวอร์

นายพลพัฒน์ อัศวะประภา ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านแฟชั่น ผู้พัฒนาแบรนด์ Asava กล่าวว่า การผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ด้านแบรนด์แฟชั่นไทย คือ การสะกดจิต โดยผ่านผู้มีอิทธิพลอย่างลิซ่า BLACKPINK หรือนางสู่ขวัญ บูลกุล ซึ่งการส่งแฟชั่นเสื้อผ้าไปให้ใส่ เป็นการสะกดจิตว่า ผู้ที่ทรงอิทธิพล ผู้ที่ชนะเลิศต่างใส่เสื้อภายใต้แบรนด์ Asava สร้างแรงกระเพื่อมในสังคม ส่วนการตั้งบูท เดินแฟชั่นโชว์ ไม่ใช่ซอฟต์พาวเวอร์ แต่เป็นการทำการตลาดมากกว่า

“การผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ คือการสะกดจิตในรูปแบบหนึ่ง ที่ค่อย ๆ สร้างแรงกระเพื่อม ว่าคุณจะต้องใส่เสื้อผ้าแบรนด์ของผม ไม่ใช่เป็นการบังคับ ต้องค่อย ๆ สร้างแรงกระเพื่อมและมีความถี่อย่างสม่ำเสมอ”

นายชุมพล แจ้งไพร ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร กล่าวว่า ในภาคอาหารของซอฟต์พาวเวอร์ไม่เพียงแต่ต้องมีการสะกดจิต แต่รวมไปถึงการสะกดปากเพราะอาหารอยู่ใกล้ชิดมนุษย์มาก แต่ด้วยความที่ประเทศไทยมีความหลากหลายในด้านอาหาร ใครได้ลิ้มรสก็อยากกลับมากินอีก

“อาหารไทยมีเรื่องของวัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทยที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก โดยไม่ต้องบอกว่าดีอย่างไร แต่เราทำมาเรื่อย ๆ ทุกคนมีความตระหนัก ใส่ใจมากขึ้น ซึ่งจะต้องมีการร่วมมือกันทำอย่างไรให้มีการเติบโตมากขึ้น และยั่งยืน ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญต่อจากนี้”

นายกฤษณ์ พุฒพิมพ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง และในฐานะหัวหน้าฝ่ายออกแบบ บริษัท ดอท ดีไซน์ สตูดิโอ จำกัด กล่าวว่า การออกแบบเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ โดยบริษัทให้บริการรับออกแบบ และพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มตื่นนอนจนถึงเข้านอน เช่น รองเท้า เก้าอี้ โคมไฟ และขายสินค้าของตัวเองที่ออกแบบขึ้นมาทั้งยังได้จดสิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์ยาดม และสิทธิบัตรยาดมแบบรีฟิล เป็นรายแรกที่ทำสินค้าประเภทนี้ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ได้มีการร่วมลงทุนจนเกิดเป็นแบรนด์สินค้าที่สามารถทำการตลาดได้

นายจิติณัฐ อัษฎามงคล ประธาน วันแชมเปียนชิพ ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน วันแชมเปียนชิพ อยู่ใน TOP 5 ของสื่อกีฬาทั่วโลกในทุกชนิด ถือว่าเป็นองค์กรศิลปะการต่อสู้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไม่ว่าในจำนวนยอดผู้ชม ตลาดศิลปะการต่อสู้ โดยปีที่ผ่านมามีการจัดงานอีเวนต์ไปถึง 48 งานที่จัดในประเทศไทยและถ่ายทอดสดไปทั่วโลก และมีนักกีฬาในสังกัดซึ่งเปรียบเสมือนเป็นสินทรัพย์ทางปัญญามากถึง 500 ชีวิตทั่วโลก

“วันแชมเปียนชิพ ในหนึ่งอีเวนต์คุณสามารถดูกีฬาการต่อสู้ได้หลากหลายรูปแบบ ถือได้ว่าเรามีศิลปะที่ตอบโจทย์ผู้ดูได้เป็นอย่างดี ทำให้เรามีฐานผู้ดูหลากหลายและจำนวนมากกว่าครึ่งโลกได้ เรามองธุรกิจเป็นคอนเทนต์ ทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้ผมมองว่าซอฟต์พาวเวอร์ด้านการต่อสู้มีภาษีมากที่สุดอีกด้านหนึ่ง ที่สามารถเผยแพร่ได้ทั่วโลกและได้รับการยอมรับ และเหมาะที่จะเสนอผ่านคอนเทนต์ได้หลากหลายรูปแบบ”

สุดท้าย นายศรุต ทับลอย ประธานกรรมการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด ผู้ให้บริการด้านดีไซน์วิชวลเอฟเฟ็กต์ (Visual Effects) หรืองานซีจี แอนิเมชั่น ในภาพยนตร์ โทรทัศน์ โฆษณา กล่าวว่า การออกแบบเกม Home Sweet Home เป็นผลงานที่สร้างชื่อให้เรา ที่ให้บริการทั้งในและต่างประเทศ

“เราเริ่มคิดเรื่องซอฟต์พาวเวอร์เมื่อ 10 ปีที่แล้ว และพยายามสร้างซอฟต์พาวเวอร์ว่าประเทศไทยมีอะไรที่ดี เพื่อพัฒนาเป็นผลงานที่สะท้อนความเป็นไทย ที่บริษัทสร้างออกไปให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด ไม่ใช่นับหนึ่งใหม่ แต่เป็นการวิเคราะห์ ต่อยอด นำสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาใช้ให้มากที่สุด สร้างผลงาน เพื่อสร้างมูลค่า และได้ให้ความสำคัญด้านทรัพย์สินทางปัญญาด้วย”