แปลงโฉนดที่ดิน ส.ป.ก. 12 วัน ยื่นขอแล้ว 3 ล้านไร่ เปิด 5 จังหวัดยื่นสูงสุด

โฉนด สปก

แปลงโฉนดที่ดิน ส.ป.ก. สุดปัง เกษตรกร แห่ยื่นขอไปแล้ว 3 ล้านไร่ แค่ 12 วัน เปิด 5 จังหวัดขอสูงสุด “บุรีรัมย์” นำลิ่ว

วันที่ 28 มกราคม 2567 ผ่านไปเกือบ 2 สัปดาห์ หลังจากคิกออฟโครงการเปลี่ยนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร สำหรับสิทธิประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากโฉนดเพื่อการเกษตร ตามนโยบายร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศ kick off แต่เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567

แต่เชื่อหรือไม่ว่า ถึงวันที่ 26 มกราคม 2567 ตอนนี้มีเกษตรกร ยื่นขอออกโฉนด ไป 203,300 ราย คิดเป็น 280,191 แปลง/เรื่อง หรือเป็นเนื้อที่ ประมาณ 3,146,786 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 72 จังหวัดทั่วประเทศ 22 ล้านไร่ จำนวน 1,628,520 ราย เอกสารสิทธิรวม 2,205,561 ฉบับ

ท็อป 5 จังหวัดยื่นขอโฉนดสูงสุด

ผู้สื่อข่าว ”ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลจากกระทรวง พบว่า พื้นที่ 5 จังหวัด ที่มายื่นขอโฉนดที่ดิน ส.ป.ก.มากที่สุดอยู่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ

  1. บุรีรัมย์ 19,481 เรื่อง/ฉบับ
  2. เลย 11,153 เรื่อง/ฉบับ
  3. พะเยา 10,871 เรื่อง/ฉบับ
  4. เชียงราย 10,379 เรื่อง/ฉบับ
  5. อุบลราชธานี 9,661 เรื่อง/ฉบับ

5 จังหวัดไม่มีที่ดิน ส.ป.ก.

ทั้งนี้ การมอบโฉนดเพื่อการเกษตรเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2567 เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 โครงการนี้มีคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 30 เห็นชอบในการพิจารณาปรับปรุงเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ ส.ป.ก.4-01 ให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตรตามนโยบายของรัฐบาล

แต่รู้หรือไม่ว่า ยังมีพื้นที่ อีก 5 จังหวัด ที่ไม่มีที่ดิน ส.ป.ก. นั่นคือ

  1. สมุทรปราการ
  2. สมุทรสงคราม
  3. สมุทรสาคร
  4. กรุงเทพฯ
  5. นนทบุรี

โฉนด ส.ป.ก. ใช้ประโยชน์อะไรบ้าง

โฉนดที่ดิน ส.ป.ก.สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายด้าน เช่น

สามารถเปลี่ยนมือได้ (โอนสิทธิ) สามารถโอนคืน ส.ป.ก.ได้ โดยโอนคืนให้ ส.ป.ก.ทั้งแปลงหรือบางส่วนได้ โดยได้รับค่าชดเชย หากเกษตรกรไม่ประสงค์ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ก็สามารถสละสิทธิให้เกษตรกรอื่นที่มีคุณสมบัติตามกำหนด โดยสามารถเปลี่ยนมือให้แก่เกษตรกรอื่นที่มีคุณสมบัติตาม ส.ป.ก.กำหนด

สามารถใช้ค้ำประกันตัวบุคคล โดยเป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่สามารถค้ำประกันตัวบุคคลทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล โดยความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สามารถใช้เพิ่มวงเงินสินเชื่อ ทำให้เข้าถึงแหล่งทุนใหม่ได้ สามารถเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ โดยขยายวงเงินสินเชื่อให้กับเกษตรกรที่ขอกู้กับ ธ.ก.ส. หรือใช้ไม้มีค่าที่ปลูกบนที่ดิน ค้ำประกันสินเชื่อให้เต็มวงเงิน 100% และสามารถขอสินเชื่อนโยบายจากกองทุน ส.ป.ก. เต็มวงเงินตามราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์

หรืออาจจะเพิ่มแหล่งสินเชื่อใหม่ ด้วยการเจรจากับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ชุมนุมสหกรณ์ สถาบันการเงินของรัฐ และสถาบันการเงินอื่น