”ภูมิธรรม“ ลุย จ.เชียงราย แก้ปัญหาที่ดินทำกิน ฝุ่น PM 2.5 หวังเพิ่มรายได้ประชาชน

”ภูมิธรรม“ ลงพื้นที่เชียงราย บูรณาการทุกหน่วยงานเร่งพัฒนาที่ดิน-อาชีพ-สินค้าท้องถิ่น พร้อมลุยแก้ภัยแล้ง จัดหาแหล่งน้ำ แก้ PM 2.5  ทำเกษตรกรแบบยั่งยืน หวังสร้างรายได้ที่ยั่งยืน

วันที่ 18 มีนาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยระหว่างเป็นประธานการประชุมมอบนโยบายการบริหารจัดการที่ดินและการจัดการที่ดินทำกินให้ชุมชน (คทช.) ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ประกอบด้วย เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน ช่วงลงพื้นที่ ครม.สัญจรจังหวัดพะเยาว่า ปัญหาภัยแล้ง การจัดการแหล่งน้ำ ฝุ่น PM 2.5 เป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะกระทบต่อประชาชนและรายได้

ทั้งนี้ คทช.มีแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยพิเศษ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายที่พร้อมสนับสนุน เพื่อเพิ่มโอกาสให้เกษตรกร ประชาชนในพื้นที่ ไม่ใช่พื้นที่ปัญหา แต่รวมพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่า โดยทุกหน่วยประชาชนต้องร่วมบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

“คนอยู่กับป่าต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ต้องรักษาป่า รักษาพื้นที่ได้ เช่น การปลูกข้าวโพดแล้วไปเผาก็จะเกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งระเบียบโลกใหม่เปลี่ยนไปแล้ว ถ้าเขาเห็นว่ามีการเผาทำลายป่าก็จะไม่ซื้อสินค้าของเรา อยากฝากทุกหน่วยงานให้ความรู้เกษตรกรที่เกี่ยวข้อง ว่าโลกปัจจุบันกติกาการค้าเปลี่ยน ถ้าไม่ทำตามกติกาก็จะขายไม่ได้ การเริ่มทำก่อนเป็นการนำไปข้างหน้า ถ้าเราทำสำเร็จก่อน คนอื่นจะสู้เราไม่ได้”

อย่างไรก็ดี การที่ทำให้เกษตรกร ประชาชนมีที่ดินทำกิน จัดการที่ดินให้รักษาธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ จะเกิดกำลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจการค้าไปได้ เกิดการจ้างงาน เศรษฐกิจหมุนเวียน และผลผลิตต้องพัฒนาให้มีศักยภาพ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นได้ จะส่งผลประโยชน์ต่อประชาชนเพิ่มขึ้น

นายภูมิธรรม เวชยชัย

จัดที่ดินให้ชุมชน

นางรวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสํานักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (ผอ.สคทช.) กล่าวว่า ภาพรวมผลการดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา จังหวัดน่าน และจังหวัดแพร่ มีผลการดำเนินงานดังนี้

1.จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่เป้าหมายจำนวน 23 พื้นที่ เนื้อที่ 138,010-3-31 ไร่ ได้รับหนังสืออนุญาตแล้ว 13 พื้นที่ และราษฎรได้รับอนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่แล้วจำนวน 9,070 ราย 11,872 แปลง รวมทั้งมีการดำเนินการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด 6 ด้าน จำนวน 6 พื้นที่ 2,193 ราย และมีการสร้างความเข้มแข็งด้านการรวมกลุ่ม มีการบูรณาการร่วมกับสหกรณ์ที่มีอยู่ในพื้นที่เกษตรกรในพื้นที่ คทช. จำนวน 9 สหกรณ์

2.จังหวัดพะเยา มีพื้นที่เป้าหมายจำนวน 12 พื้นที่ เนื้อที่ 45,144-1-50 ไร่ ได้รับหนังสืออนุญาตแล้ว 11 พื้นที่ และราษฎรได้รับอนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่แล้วจำนวน 5,454 ราย 4,054 แปลง รวมทั้งมีการดำเนินการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด 6 ด้าน จำนวน 10 พื้นที่ 420 ราย และจังหวัดพะเยาได้มีการจัดตั้งสหกรณ์ใหม่ในพื้นที่เกษตรกรในพื้นที่ คทช. จำนวน 1 สหกรณ์ คือสหกรณ์การเกษตรพัฒนาแม่จุน จำกัด

3.จังหวัดแพร่ มีพื้นที่เป้าหมายจำนวน 42 พื้นที่ เนื้อที่ 27,378-3-89 ไร่ ได้รับหนังสืออนุญาตแล้ว 13 พื้นที่ และราษฎรได้รับอนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่แล้วจำนวน 877 ราย 954 แปลง รวมทั้งมีการดำเนินการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด 6 ด้าน จำนวน 3 พื้นที่ 145 ราย และมีการสร้างความเข้มแข็งด้านการรวมกลุ่ม มีการบูรณาการร่วมกับสหกรณ์ที่มีอยู่ในพื้นที่เกษตรกรในพื้นที่ คทช. จำนวน 3 สหกรณ์

4.จังหวัดน่าน มีพื้นที่เป้าหมายจำนวน 35 พื้นที่ เนื้อที่ 272,648-0-72 ไร่ ได้รับหนังสืออนุญาตแล้ว 35 พื้นที่ และราษฎรได้รับอนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่แล้วจำนวน 9,214 ราย 11,671 แปลง รวมทั้งมีการดำเนินการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด 6 ด้าน จำนวน 2,189 ราย และมีการสร้างความเข้มแข็งด้านการรวมกลุ่ม มีการบูรณาการร่วมกับสหกรณ์ที่มีอยู่ในพื้นที่เกษตรกรในพื้นที่ คทช. จำนวน 6 สหกรณ์

ซึ่ง สคทช.มีแผนขับเคลื่อนเร่งรัดการจัดที่ดินทำกิน เพื่อนำไปสู่การออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐด้านอื่น ๆ การพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การส่งเสริมอาชีพและการตลาด การสร้างมูลค่าในที่ดินของรัฐ การยกระดับสหกรณ์นำไปสู่การเปลี่ยนผู้ขอรับการอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นสหกรณ์ โดยเป็นสหกรณ์ที่มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเอง และบริหารจัดการที่ดินได้ ในอนาคต เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเอง พัฒนาสังคม เศรษฐกิจในชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง ยั่งยืน ต่อไป