ข้าวจีทูจี ไทย-อินโดนีเซีย 1 ล้านตัน “ภูมิธรรม” มั่นใจเดินต่อเร่งหาข้อสรุป

ข้าว

ภูมิธรรมยังเดินหน้าเจรจาซื้อ-ขายข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) ให้กับรัฐบาลอินโดนีเซีย 1 ล้านตันต่อ พร้อมรอความชัดเจน มั่นใจต้องทำได้ ด้านผู้ส่งออกข้าว เผยสัปดาห์หน้าอินโดนีเซียเปิดประมูลข้าว 3 แสนตัน ไทย 1 แสนตันได้แน่ ชี้อินโดนีเซียทั้งปีนำเข้า 3.6 ล้านตัน

วันที่ 21 มีนาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเจรจาเพื่อทำสัญญาซื้อ-ขายข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) ให้กับรัฐบาลอินโดนีเซีย 1 ล้านตัน และ 1 ล้านตัน จากภาคเอกชนไทย หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีการเจรจากับนายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เมื่อปลายปี 2566

ช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ที่ประเทศญี่ปุ่นว่า ได้มอบหมายให้กับกรมการค้าต่างประเทศ เจรจากับบูล็อก (Bulog) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจผู้จัดซื้ออาหารของอินโดนีเซีย ให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วทั้งสองส่วน เบื้องต้นราคาซื้อขายจีทูจีจะต้องกำหนดโดยไม่ให้ส่งผลกระทบราคาสินค้าข้าวในประเทศ

อินโดนีเซียเปิดประมูล

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า  จากการติดตามการนำเข้าข้าวของอินโดนีเซีย คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะมีการเปิดประมูลเพื่อนำเข้าข้าวขาว 3 แสนตัน การเปิดประมูลครั้งนี้ ได้มีการระบุในรายละเอียดเพิ่มเติม คือ ต้องการนำเข้าข้าวจากไทย 1 แสนตัน จากเวียดนาม 1 แสนตัน และจากปากีสถาน 1 แสนตัน จากการประเมินอาจจะเป็นเพราะลดปัญหาในเรื่องของการส่งมอบ เพื่อให้ได้ข้าวโดยเร็ว

โดยที่ผ่านมา อินโดนีเซียมีการประมูลนำเข้าข้าวตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบัน 2 ครั้ง ไม่นับรวมครั้งล่าสุดซึ่งเป็นครั้งที่ 3 โดย 2 ครั้งแรก อินโดนีเซียเปิดประมูลนำเข้าข้าว 5 แสนตัน โดย 4 แสนตันเวียดนามชนะการประมูล โดยไทยไม่ได้ข้าวจากการประมูลครั้งนี้เลย ครั้งที่ 2 อินโดนีเซีย เปิดประมูลนำเข้าข้าวอีก 3 แสนตัน ครั้งนี้ไทยชนะประมูล 2 แสนตัน และส่วนที่เหลือเป็นของปากีสถานและเมียนมา เป็นต้น

“อินโดนีเซีย จากการติดตามตั้งแต่ต้นปีมีการประกาศจะนำเข้าข้าวทั้งปี 2 ล้านตัน แต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ จะนำเข้าข้าวเพิ่มอีก 1.6 ล้านตัน ส่งผลให้ทั้งปีคาดว่าอินโดนีเซียจะนำเข้าข้าว 3.6 ล้านตัน”

จากการประเมินการที่อินโดนีเซียมีการนำเข้าข้าวเพิ่ม และก็คาดว่าจะทยอยนำเข้าทั้งปี ยกเว้นช่วงมีนาคม-เมษายน เป็นช่วงที่ผลผลิตในประเทศกำลังออกสู่ตลาด คงเป็นเพราะผลผลิตภายในประเทศระดับราคายังคงสูง ผลผลิตอาจจะลดลงจากสถานการณ์ดิน ฟ้า อากาศ ทำให้มีความต้องการนำเข้าข้าวเพิ่ม เพื่อเพิ่มสต๊อกข้าวในประเทศเพราะอินโดนีเซียมีประชากรกว่า 200 ล้านคน

รายงานข่าวจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวแห่งประเทศไทย ระบุการส่งออกข้าวของไทยคาดว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ระดับประมาณ 800,000 ตัน เนื่องจากผู้ส่งออกยังคงมีสัญญาส่งมอบข้าวที่ยังต้องเร่งส่งมอบจํานวนมากโดยเฉพาะในกลุ่มของข้าวขาว ซึ่งส่วนใหญ่ส่งไปยังผู้นําเข้าที่สําคัญในเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น รวมทั้งตลาดหลักในภูมิภาคแอฟริกา และตะวันออกกลาง

ขณะที่ตลาดนําเข้าข้าวหอมมะลิที่สําคัญ ทั้งในอเมริกาและเอเชีย ยังคงมีความต้องการนําเข้าอย่างต่อเนื่องเพื่อชดเชยอุปทานข้าวในประเทศที่ลดลง ประกอบกับอุปทานข้าว ที่ส่งออกได้ของไทยยังคงมีเพียงพอ ประกอบกับค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่ค่อนข้างเอื้ออํานวยต่อการส่งออก ซึ่งช่วยทําให้ราคาข้าวของไทยยังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ จึงทําให้ผู้ซื้อยังคงมองมาที่ข้าวไทย

โดยราคาข้าวไทยข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 อยู่ที่ 625 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนามและปากีสถานอยู่ที่ 600-604 และ 609-613 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามลําดับ ส่วนราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 628 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งอินเดียและปากีสถานอยู่ที่ 551-555 และ 621-625 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามลําดับ