อธิบดีกรมการค้าภายใน ตรึงราคาสินค้าไม่ไหวต้องไหว

วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม

สถานการณ์ค่าครองชีพ วิกฤตทับซ้อนชีวิตคนไทย ที่นอกจากจะต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้วยังต้องมาเจอต้นทุนชีวิตที่สูงขึ้นอีก ผู้ผลิตราคาสินค้าพาเหรดประกาศขอปรับขึ้นราคาเป็นรายวัน หลังจากรัฐเลิกตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 30 บาท กระทบต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้า

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม” อธิบดีกรมการค้าภายในถึงแนวทางการดูแลราคาสินค้าเพื่อสร้างความสมดุลให้กับผู้ผลิต ผู้บริโภคว่า

เลิกตรึงดีเซลมีผลต่อราคาสินค้า

ดีเซลถือเป็นต้นทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมของสินค้า ต้นทุนทางตรงส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัตถุดิบ ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อย แต่จะไปมีน้ำหนักมากอยู่ในต้นทุนค่าขนส่ง

“ปกติต้นทุนแบ่ง 3 ก้อน ต้นทุนการผลิต ต้นทุนค่าจัดการ และต้นทุนค่าขนส่ง น้ำมันจะไปอยู่ในส่วนของต้นทุนค่าขนส่งเสียมากกว่า ประมาณ 40-50% เมื่อคำนวณแล้วในสัดส่วนนี้ต้นทุนเพิ่มขึ้น 1% กรณีที่ดีเซลขึ้นไปที่ 35 บาท ต้นทุนค่าขนส่งขึ้นไปสูงสุด 14% สินค้าแต่ละตัวถูกกระทบขึ้นไม่เท่ากัน โดยถ้าเราบริหารจัดการได้ระดับหนึ่งก็จะช่วยให้ยังพอประคองอยู่ได้ ราคาก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น”

หลักการพิจารณา ขึ้นราคา

การพิจารณาเรื่องต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้นนั้นจะต้องดูมาร์จิ้น (อัตรากำไร) ด้วยว่าที่เขาเคยมีมาร์จิ้นอยู่กับต้นทุนต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้นมันครอบคลุมกันหรือไม่ เช่น สมมุติสินค้าที่ผมผลิตมีกำไร 5% แต่ต้นทุนเพิ่มขึ้น 1% ถ้าสถานการณ์แบบนี้จะขอให้ประคองอยู่ได้ไหม หลักสำคัญคือทำอย่างไรให้อยู่ได้ ทั้งผู้ผลิต เกษตรกร ผู้บริโภค

ต้นทุนขึ้นยกแผงอนุญาตให้ปรับ

“ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน วัตถุดิบปรับขึ้นคงต้องดูมาเป็นรายสินค้า รายผลิตภัณฑ์จะบอกไม่ได้ว่าสินค้ารายการนี้อะคอร์สเดอร์บอร์ดเท่านี้ไม่ได้ ต้องไปดู กำลังการผลิต ประสิทธิภาพการผลิต หรือ economy of scale แค่ไหน ถ้าสมมุติ กำไรยังโคฟเวอร์ต้นทุนเพิ่ม ก็ยังไม่มีเหตุผลที่ต้องปรับ”

ความแตกต่างในการพิจารณาระหว่างผู้ผลิตรายใหญ่-เล็ก เราพิจารณากันเป็นราย ๆ เป็นรายสินค้าและรายผลิตภัณฑ์ด้วย ถ้าคุณมี economy of scale สินค้าคุณเป็นที่ติดตลาดมีเทิร์นโอเวอร์เยอะ คอมเพนเสตคอสต์ วอลุ่ม มาร์จิ้น ยังไปได้ ก็ต้องตรึงไว้ก่อน แต่ถ้าเราปล่อยให้คนตัวเล็กตาย มันจะไม่มีตัวคานในตลาดแล้วนะ

“เรื่องการดูแลราคาสินค้าจะตรึงราคานานเกินไปไม่ได้ แม้ว่าสินค้าปรับขึ้นราคาอาจจะโดนต่อว่า แต่ถ้าสินค้าขาดตลาดจะเกิดการแพนิกประชาชนจะลำบากมาก แต่เท่าที่คุยในมุมผู้ผลิตทุกวันนี้ ผู้ประกอบการก็ไม่ใช่อยากขึ้นราคา เพราะคนไม่มีตังค์ หนี้เพิ่มขึ้น ภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้การปรับราคาก็ไม่ใช่สิ่งที่เค้าเลือกทำ”

สินค้าที่ตรึงได้-ตรึงไม่ได้

เรื่องปุ๋ยแนวโน้มที่ต้นทุนนำเข้าสูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะไม่ใช่แค่วิกฤตรัสเซีย แต่ยังมีปัจจัยเรื่องค่าบาทอ่อนค่า ราคาวัตถุดิบนำเข้าจะสูง แต่สิ่งที่เราห่วงคือในหลาย ๆ ประเทศต่างเริ่มไม่นำเข้าปุ๋ยกันแล้ว หากผู้ผลิตไม่นำเข้า เกษตรกรไม่ใส่ปุ๋ย จะกระทบต่อปริมาณผลผลิตในอนาคตราคาสินค้าคอมโมดิตี้จะแพงขึ้น

“ราคาปุ๋ยยอมรับว่าตรึงคงไม่ได้ เราต้องนำเข้าวัตถุดิบทั้งหมด ปีละ 5 ล้านตัน ในสถานการณ์ราคาปุ๋ยขึ้นทุกประเทศ เจอเหมือนกันหมด มันขึ้นทุกอย่าง ตอนนี้ผู้ประกอบการต้องทยอยน้ำเข้าแม่ปุ๋ย ตั้งแต่เดือนที่ผ่านมา จากแหล่งอื่น ๆ นอกจากรัสเซีย-ยูเครน ก็จะมีจากตะวันออกกลาง ซาอุฯ และส่วนหนึ่งจากแคนาดา ตอนนี้เท่าที่ทราบได้มีการนำเข้ายูเรียมาแล้ว ไม่มีปัญหาด้านปริมาณ เพียงแต่ต้นทุนนำเข้าสูง ตอนนี้มีผู้ผลิตและนำเข้า 30 รายขอนำเข้าก็ต้องให้เค้าขายตามราคานำเข้าที่แท้จริง แต่เราจะเข้าไปดูว่าทำอย่างไรเพื่อไม่ให้กำไรสูงเกินไป”

ส่วนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป คุยกับโรงงานผู้ผลิตแล้ว เราเข้าใจว่าต้นทุนผู้ผลิตปรับขึ้นทั้งหมด แป้งสาลี น้ำมันปาล์ม แพ็กเกจจิ้ง รวมถึงค่าขนส่ง แต่อย่างไรก็ตาม ยังขอความร่วมมือให้เขาตรึงราคาไว้ก่อน เฉพาะในส่วนของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เป็นรสชาติและขนาดปกติที่ประชาชนนิยมเท่านั้น ไม่รวมรสชาติอื่นหรือแพ็กเกจแบบอื่น แต่เราจะต้องไปประสานหาวัตถุดิบต่าง ๆ มาช่วยเขา ก็ต้องดำเนินการอีกทางหนึ่ง

สินค้าปาล์มน้ำมัน หารือกับโรงกลั่นน้ำมันปาล์มขวด โดยขอความร่วมมือตรึงราคาไว้ที่ขวดละ 64-66 บาท ถึงแม้ว่าถ้าไปดูแล้วโครงสร้างราคาผลปาล์มและราคาซีพีโอคงต้องไปมากกว่านี้แล้ว แต่เราขอเฉพาะที่ประชาชนบริโภค

ส่วนร้านโชห่วยที่รับจากร้านโมเดิร์นเทรดไปอีกทีก็แน่นอนว่าจะต้องปรับราคาบวกเข้าไป เพราะเป็นการซื้อจากโมเดิร์นเทรดไปอีกทีต้องเข้าใจเขา แต่ตอนนี้ผู้บริโภคจะซื้อน้ำมันขวดจากห้างเป็นหลัก ขวดหนึ่งจะใช้ประมาณ 7-10 วันไม่ค่อยใช้ไซซ์อื่น

การใช้ไบโอดีเซลเราต้องยึดตามนโยบายของกระทรวงพลังงานเป็นหลัก

ราคาปาล์มยังตรึงไหว

สถานการณ์หลังจากอินโดนีเซียใช้มาตรการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม เพื่อการบริโภคนั้น ทางกรมได้ประชุมร่วมกับตัวแทนเกษตรกร โรงสกัด และโรงกลั่นแล้ว โดยประเมินว่ามาตรการนี้จะใช้ในช่วงระยะสั้น ๆ เท่านั้น

ทั้งนี้ หากเทียบกันตอนนี้ อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตอันดับ 1 ปริมาณ 200 ล้านตัน มีสต๊อก 5-6 ล้านตัน เทียบกับไทยซึ่งเป็นอันดับ 3 ห่าง ผลิตน้ำมันปาล์มดิบ 3 ล้านตัน ตอนนี้มีสต๊อก 2 แสนตัน ต่างกันมหาศาล

“แนวทางในการดูแลราคาในช่วงนี้ผลผลิตปาล์มกำลังออกสู่ตลาดโดยจะออกมากที่สุดในเดือน พ.ค. นี้ 2 ล้านตันเราจึงหารือกับผู้ประกอบการว่าเราต้องบริหารจัดการ ไม่ให้สต๊อกปลายปีหาย ฉะนั้น วันนี้เราคุยกันว่าจะเมนเทนสต๊อกให้อยู่ 3 แสนตัน โดยตั้งคณะทำงานขึ้นมามอนิเตอร์สถานการณ์ ดูทั้งราคาซีพีโอ การใช้ไบโอดีเซล ใช้ในอุตสาหกรรม และเพื่อการบริโภค แต่จะไม่ได้เข้าใช้มาตรการด้านการส่งออก”

โดยมองว่าเรื่องการส่งออกขณะนี้เป็นโอกาสที่เราจะได้รายได้กลับมาสู่ประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อทางด้านเกษตรกรด้วยราคาปาล์มวันนี้อยู่ที่ 10-11 บาทแล้ว ถึงแม้ว่าราคาซีพีโอขยับ แต่ก็ยังอยากประคับประคองไว้ และเท่าที่ติดตามยังไม่มีใครมาขอใช้เงินชดเชยส่งออก

โหมมหกรรมลดค่าครองชีพ

อีกด้านหนึ่ง กรมเตรียมจัดงานพาณิชย์ 4 มุมเมือง หรือมหกรรมธงฟ้า 4 จุด มุ่งเน้นการจัดกระจายไปยังจุดที่เป็นแลนด์มาร์กต่าง ๆ ในชุมชนต่าง ๆ เริ่มทยอยเปิดในเดือนนี้ พร้อมทั้งเพิ่มจุดจำหน่ายสินค้าธงฟ้าครอบคลุมกรุงเทพฯและปริมณฑล ทุกเขต จาก 50 จุด เป็น 100 จุด เพิ่มรถโมบายธงฟ้าจาก 25 เส้นทาง เป็น 50 เส้นทาง ส่วนต่างจังหวัดแม้ว่าจะมีปัญหาค่าครองชีพ แต่ยังปลูกพืชผักริมรั้ว เลี้ยงไก่บ้าง บรรเทาภาระค่าครองชีพไปได้บ้าง