เปิดกฎหมายอาญา เด็กทำผิดไม่ต้องรับโทษ ให้ศาลมีอำนาจดำเนินการ

สยามพารากอน
ภาพจาก AFP

เปิดกฎหมายอาญาเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ทำผิดไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจดำเนินการ ด้านจุฬาฯแนะ Don’t-Do สิ่งที่ไม่ควรเผยแพร่จากเหตุการณ์เยาวชนทำผิด เพื่อช่วยตัดวงจรการลอกเลียนแบบ

วันที่ 4 ตุลาคม 2566 จากกรณีเยาวชนอายุ 14 ปี ใช้อาวุธปืนก่อเหตุยิงที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อเย็นวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา เหตุการณ์ดังกล่าวจากการตรวจสอบกฎหมายการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน พบว่า พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญา พ.ศ. 2565 มาตรา 74 ระบุว่า เด็กไม่เกิน 15 ปี กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจดำเนินการ ดังนี้ 

    1. ว่ากล่าวตักเตือนแล้วปล่อยตัว และถ้าศาลเห็นสมควรจะเรียกบิดามารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาตักเตือนด้วยก็ได้
    2. มอบตัวให้พ่อแม่ดูแล โดยศาลควบคุมประพฤติ
    3. สั่งเข้าสถานอบรมเด็ก 

สิ่งที่ไม่ควรเผยแพร่

ทั้งนี้ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ขอความร่วมมือสื่อมวลชน ประชาชนทุกคน เรื่องการสื่อสารจากเหตุการณ์เหล่านี้เพื่อตัดวงจรการลอกเลียนแบบ โดยมีใจความว่า

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ เพื่อตัดวงจรการลอกเลียนแบบเหตุความรุนแรง และเพื่อลดผลกระทบทางจิตใจต่อผู้เกี่ยวข้องและสังคมโดยรวม คณะจิตวิทยาขอความร่วมมือสื่อมวลชน และทุก ๆ ท่านเรื่องทิศทางการสื่อสาร เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนี้

Don’t สิ่งที่ไม่ควรทำ

    1. การเปิดเผยชื่อภาพ เครื่องแบบ อาวุธ เรื่องราวส่วนตัว ประวัติ และแรงจูงใจในการก่อเหตุของผู้กระทำผิด
    2. การสื่อความในลักษณะที่ทำให้ผู้ก่อเหตุดูเท่ ดูเก่ง เช่น ใช้คำบรรยายพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุว่า “อุกอาจ” (อาจจะดูเท่ในสายตาของผู้ที่นิยามความรุนแรง)
    3. การรายงานเน้นจำนวนผู้เสียชีวิต/ผู้บาดเจ็บ เปรียบเทียบว่าครั้งนี้เสียชีวิต/บาดเจ็บกี่คน มากกว่าหรือน้อยกว่าครั้งก่อนเท่าไร

Do สิ่งที่ทำได้

    1. ไม่เอ่ยชื่อ ไม่ให้ตัวตนคนร้าย
    2. นำเสนอเรื่องราวของผู้ประสบเหตุแทน เพื่อสร้างตัวแบบทางบวกว่าคนเหล่านี้ผ่านเรื่องราวเลวร้ายร่วมกันมาได้อย่างไร
    3. เล่าเรื่องราวของผู้ที่แจ้งเหตุก่อนผู้ที่ตัดสินใจเข้าไปช่วยเหลือคนอื่น
    4. อัพเดตเหตุการณ์ตามจริง ตรงไปตรงมา ไม่เร้าอารมณ์
    5. เน้นเรื่องการป้องกันและการเยียวยา