ไมโครลิสซิ่ง กางแผนปั้นกำไร แตกไลน์ดันบริษัทลูกเข้าตลาดหุ้น

กานต์ดนัย ชลสุวัฒน์
กานต์ดนัย ชลสุวัฒน์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

ตลาดเช่าซื้อรถบรรทุกมือสอง นับเป็นอีกตลาดที่น่าสนใจ มีการเติบโตที่ดี โดยเริ่มเห็นผู้ประกอบการสินเชื่อหลายรายเข้ามาเจาะตลาดนี้ ซึ่ง “ประชาชาติธุรกิจ” ฉบับนี้มีโอกาสได้ร่วมสัมภาษณ์ “กานต์ดนัย ชลสุวัฒน์” รองกรรมการผู้จัดการด้านบัญชีและการเงิน บริษัท ไมโครลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ MICRO ที่มาฉายภาพธุรกิจในตลาดนี้ให้ได้เห็นภาพกัน

ตลาดรถบรรทุกมือสองบูม-มาร์จิ้นสูง

โดย “กานต์ดนัย” เปิดเผยว่า ตลาดรถบรรทุกมือสองมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ถือเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง เพราะให้ผลตอบแทน (Margin) ที่ดี การปล่อยสินเชื่อจะคิดอัตราดอกเบี้ยแบบเงินต้นคงที่ (Flat Rate) อยู่ที่ 6-7% หรือคำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) อยู่ที่ 10% ต่อปี ซึ่งในส่วนของ MICRO จะคิดดอกเบี้ย Flat Rate เฉลี่ย 9-15% สูงกว่าคู่แข่ง ส่วนหนึ่งมาจากบริษัทมีการปล่อยสินเชื่อให้รถที่มีอายุถึง 25 ปี เทียบกับคู่แข่งที่จะรับอยู่แค่ 10 ปี บริษัทจึงมีความเสี่ยงสูงกว่า ทั้งนี้ หากคิดที่ราคารถบรรทุกมือสอง เฉลี่ยอยู่ที่คันละ 1 ล้านบาท จะมี Margin ถึง 1 แสนบาท

“ถ้าดูต้นทุนบริษัทจะสูงกว่า เมื่อเทียบคู่แข่ง เพราะเดิมบริษัทใช้แหล่งเงินทุนผู้ถือหุ้น แต่หลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็มีการใช้หุ้นกู้ต้นทุนเฉลี่ย 5.5-5.7% ซึ่งเทียบกับต้นทุนกู้ธนาคารอยู่ที่กว่า 4% แต่ต้องมีเงินฝากเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ต้นทุนจริงจึง 6%”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทได้ออกหุ้นกู้วงเงิน 1,800 ล้านบาท และ กู้เงินจากธนาคาร เป็น Term loan และตั๋ว P/N ราว 2,000 ล้านบาท โดยปลายเดือนตุลาคมนี้ มีแผนออกหุ้นกู้อีกราว 500 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยอยู่ที่ 5.5-5.7% ต่อปี

เป้า 3 ปี ผู้นำเช่าซื้อรถบรรทุกมือ 2

สำหรับเป้าหมายปี 2565 นี้ “กานต์ดนัย” กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อราว 2,600-2,800 ล้านบาท จากเดิมตั้งไว้ 3,000-3,300 ล้านบาท แต่จากสัญญาณเศรษฐกิจ คุณภาพหนี้ จึงปรับลดเป้าหมาย โดยในช่วง 6 เดือนแรกปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 1,300 ล้านบาท คาดพอร์ตสิ้นปีอยู่ที่ 4,900-5,000 ล้านบาท เติบโต 30% จากสิ้นปีก่อนที่ 3,800 ล้านบาท

โดยตลาดรถบรรทุกมือสองปัจจุบันมีผู้เล่นรายใหญ่ 3 เจ้าหลักที่เป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) อยู่ในตลาดหุ้น ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) รวมกัน 50% โดยในส่วนของ MICRO มีมาร์เก็ตแชร์ราว 10.7% เพิ่มจากสิ้นปีก่อนที่อยู่ 8% ที่เหลือเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายว่าภายใน 3 ปี (ปี 2566-2568) จะขึ้นเป็นผู้นำตลาด มีพอร์ตสินเชื่อคงค้างที่ 7,000-8,000 ล้านบาท

“การแข่งขันในตลาดนี้เริ่มเยอะขึ้น เพราะมีมาร์จิ้นสูง แต่เราไม่อยากแข่งด้านมาร์จิ้น แต่เราจะร่วมกับดีลเลอร์ที่แอ็กทีฟ 200 ราย เพิ่มความเร็วในการอนุมัติสินเชื่อ”

สัญญาณยอดรถยึดพุ่ง-เข้มปล่อยกู้

ทั้งนี้ จากแนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ภาระต้นทุนและค่าครองชีพเพิ่มขึ้น จึงเห็นสัญญาณคุณภาพหนี้เริ่มมีปัญหาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากกลุ่มลูกค้ามีความเปราะบางต่อประเด็นดังกล่าว ส่งผลให้ไตรมาสที่ 2-3 มีลูกค้าคืนรถ รวมถึงมีรถยึดเพิ่มขึ้นจากปกติเฉลี่ยอยู่ที่ 40 คันต่อเดือน แต่ในเดือนมิถุนายนเพิ่มเป็น 70 คัน เมื่อเทียบช่วงเศรษฐกิจดีจะอยู่ที่ 20 คันต่อเดือน สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลงจากต้นทุนราคาน้ำมันที่แพงขึ้น

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้รายได้ (เอ็นพีแอล) เริ่มเห็นสัญญาณลูกค้าใหม่ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่เริ่มผ่อนชำระปีแรก และการไหลกลับมาเป็นเอ็นพีแอล (Re-Entry) เพิ่มเติม ปัจจุบันเอ็นพีแอลอยู่ที่ 4.6% หรือคิดเป็นมูลค่า 200 ล้านบาท ซึ่งปีนี้พยายามควบคุมให้ไม่เกิน 5%

“เราเริ่มเห็นสัญญาณไม่ดีตั้งแต่เดือน เม.ย. และมาเจอปัญหาราคาน้ำมันแพง เราจึงคุมคุณภาพพอร์ต เพิ่มความถี่ในการตามหนี้ และยึดรถเร็วขึ้น ส่วนลูกค้าที่เข้าโครงการช่วยเหลือหมดตั้งแต่ต้นปี ซึ่งมีกลุ่มพักหนี้ 6-7% ของพอร์ต แต่กลุ่มมีปัญหาเราก็ช่วยปรับโครงสร้างหนี้อยู่”

ส่ง “M Plus” รุกเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์

“กานต์ดนัย” กล่าวอีกว่า บริษัทได้ขยายธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ โดยจัดตั้ง “บริษัทไมโครพลัสลิสซิ่ง จำกัด” หรือ M Plus โดย MICRO เข้าไปถือหุ้น 51% มีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 400 ล้านบาท ซึ่งเริ่มดำเนินธุรกิจเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยในช่วง 2 เดือนปล่อยสินเชื่อได้แล้ว 60-70 ล้านบาท คาดว่าในเดือนสิงหาคมจะปล่อยได้ 90 ล้านบาท

ซึ่งจะทำให้ปีนี้ปล่อยได้เกินเป้าที่ตั้งไว้ 400 ล้านบาท บริษัทจึงมีแผนหาเงินทุนเพิ่มอีก 800 ล้านบาท โดยภายในเดือนกันยายน 2566 พอร์ตจะอยู่ที่ 1,200 ล้านบาท และในปี 2568 พอร์ตอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท ซึ่งเตรียมผลักดันเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่อไป

“ตลาดรถมอเตอร์ไซค์ปกติจะอยู่ที่ 2 ล้านคัน ประมาณ 10% ซื้อเงินสด และเกือบ 20-30% ดีลเลอร์ทำเอง และอีก 50-60% ใช้ไฟแนนซ์ ผ่านมาครึ่งปี ภาพรวมตลาดมียอดขายแล้ว 1 ล้านคัน เทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 9 แสนคัน ซึ่งตลาดนี้มีเจ้าหลัก ๆ อยู่ 3 รายใหญ่ด้วยกัน”

อย่างไรก็ดี M Plus จะเน้นคุณภาพลูกค้า ไม่เน้นขยายพอร์ตเร็ว ทำให้ยอดการปฏิเสธสินเชื่อ (Rejection Rate) สูงถึง 30% จากระบบเพียง 10% บริษัทจึงสามารถคิดดอกเบี้ยได้ 24-25% เทียบที่อื่นคิดเต็ม 36% และหากดูสัญญาณการชำระหนี้งวดแรกประมาณ 89% ยังคงชำระปกติ เบื้องต้นจะปล่อยสินเชื่อผ่าน 8 สาขา จาก 25 สาขา และทีมงาน 90 คน โดยวงเงินอนุมัติเฉลี่ย 6.7-6.8 หมื่นบาทต่อคัน

“หากวงเงิน 400 ล้านบาทไม่พอ เราก็คงต้องเพิ่มทุนจากคณะกรรมการก่อน ระหว่างทางก็พูดคุยกับธนาคารด้วย”

แตกไลน์ “พีโลน-โบรกประกัน”

“กานต์ดนัย” กล่าวด้วยว่า บริษัทได้ยื่นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คาดว่าธปท.น่าจะอนุมัติภายในไตรมาสที่ 4 นี้ โดยจะใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ “Micro Fin หรือ MFin” ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท และเริ่มทำระบบแล้ว จะเริ่มจากปล่อยสินเชื่อให้ฐานลูกค้าเดิมของ MICRO

นอกจากนี้ ในเครือยังมีบริษัท ไมโครอินชัวส์โบรกเกอร์ หรือ MIB ทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท เป็นนายหน้าขายประกันภัย เพื่อซัพพอร์ตธุรกิจในเครือของ MICRO ทั้งหมด

“Core Business เรายังเป็นพอร์ตรถบรรทุก แต่ในระยะ 3 ปีข้างหน้า เช่าซื้อมอเตอร์ไซค์มีโอกาสสูงและเป็นธุรกิจ Cash Cows และเราก็มองหาโอกาสธุรกิจที่ไม่ใช่ไฟแนนซ์เพิ่มเติมด้วย” ผู้บริหาร MICRO กล่าวในตอนท้าย