ซื้อมอเตอร์ไซค์เงินผ่อน จ่ายเงินดาวน์เพิ่ม 30% สคบ.คุมดอกเบี้ย

มอเตอร์ไซค์

ลีสซิ่งมอเตอร์ไซค์จ่อขยับเงินดาวน์ 20-30% หลังราชกิจจานุเบกษาประกาศเกณฑ์ สคบ.คุมเพดานห้ามคิดดอกเบี้ยเกิน 23% ผู้ประกอบการคาดยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่ง-ฐานรากเข้าถึงยากขึ้น

วันที่ 14 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ล่าสุด เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 ซึ่งมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อสำหรับรถยนต์ใหม่ ต้องไม่เกินอัตรา 10% ต่อปี รถยนต์ใช้แล้วต้องไม่เกินอัตรา 15% ต่อปี และรถจักรยานยนต์ต้องไม่เกินอัตรา 13% ต่อปี โดยที่ผ่านมากรณีรถยนต์ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ระบุว่า ไม่ได้รับผลกระทบจากเพดานดอกเบี้ยที่ประกาศ เนื่องจากคิดไม่เกินอยู่แล้ว แต่จะมีในส่วนของรถจักรยานยนต์ที่จะมีผลกระทบ

โดยก่อนหน้านี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ “นายมงคล เพียรพิทักษ์กิจ” นายกสมาคมธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไทย กล่าวว่า กรณีปรับเพดานดอกเบี้ยลดลงมาจากเดิมเคยคิดเฉลี่ย 32-33% ลงมาเหลือเพียง 23% ผู้ประกอบการจะมีการทบทวนเกณฑ์และมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เช่น การเพิ่มวงเงินดาวน์เฉลี่ย 5-10% และกลุ่มที่ไม่มีหลักฐานพิสูจน์รายได้อาจเพิ่มเงินดาวน์มากกว่า 10% รวมถึงดูกลุ่มอาชีพเพิ่มเติม เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการถูกผิดนัดชำระหนี้และหนี้เสีย

ซึ่งจากเดิมผู้ประกอบการสนับสนุนคนที่มีรายได้ไม่แน่นอน ไม่มีเอกสารทางการเงินสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ เพราะมีดอกเบี้ยเป็นตัวรับความเสี่ยง แต่หลังจากนี้การปล่อยสินเชื่อกลุ่มนี้จะลำบากมากขึ้น และทำให้หลุดไปนอกระบบได้ เนื่องจากผู้ประกอบการคงต้องมีการคัดกรองลูกค้าที่เข้มข้นขึ้น

“แน่นอนว่าจะทำให้ยอดการปฏิเสธสินเชื่อ (reject rate) อาจจะเพิ่มขึ้นแน่นอน” นายมงคลกล่าว

ขณะที่ “นายประพล พรประภา” กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ 23% จะทำให้กลุ่มคนฐานรากที่มีรายได้หรือเอกสารทางการเงินไม่ชัดเจน และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ที่ต้องการใช้รถเข้าถึงยากขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการจะต้องปรับกระบวนการในการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น และมีการกำหนดให้วางเงินดาวน์เพิ่มขึ้นเป็น 20-30% ถือว่าค่อนข้างเยอะสำหรับกลุ่มลูกค้าฐานราก เช่น วงเงินรถจักรยานยนต์เฉลี่ย 4-5 หมื่นบาท ลูกค้าจะต้องมีเงินดาวน์ประมาณ 1-1.5 หมื่นบาท ถือเป็นวงเงินก้อนใหญ่สำหรับลูกค้าเช่นกัน และเมื่อเข้าไม่ถึงอาจออกไปพึ่งพานอกระบบได้

“ต่อไปการปล่อยสินเชื่อจักรยานยนต์จะต้องมีประวัติใน NCB (เครดิตบูโร) ดาวน์สูง มีรายได้แน่นอน ถึงจะได้รับบริการสินเชื่อ แต่คนที่ไม่มีประวัติและผ่อนชำระกระท่อนกระแท่น ไม่มีรายได้ประจำ จะเข้าถึงสินเชื่อยากขึ้น ส่งผลต่อให้ยอด rejection rate เพิ่มขึ้นแน่นอน โดยปัจจุบันสัดส่วนซื้อรถประมาณ 80% จะเป็นการผ่อนชำระ และอีก 20% จะซื้อเงินสด เราอาจเห็นสัดส่วนคนซื้อเงินผ่อนน้อยลงได้ในปีนี้” นายประพลกล่าว