
หุ้น DELTA บริษัทที่มีมูลค่ามาร์เก็ตแคปมากที่สุดในประเทศไทย เป็นของใคร ทำธุรกิจอะไรบ้าง ?
วันที่ 4 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น DELTA ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในหมวด “เทคโนโลยี/ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์” โดยเข้าจดทะเบียนวันแรกเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2538 ด้วยราคาไอพีโอ 130 บาท ราคาพาร์ 10 บาท
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
โดยปัจจุบัน DELTA ถือเป็นหุ้นที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ในตลาดหุ้นไทย ด้วยมูลค่ามาร์เก็ตแคป 1,160,064.90 ล้านบาท มีราคาหุ้นละ 930 บาท (ข้อมูลราคาปิดตลาดเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2566) มีอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E) สูงถึง 87.56 เท่า มีอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าหุ้น (P/BV) สูงกว่า 22.54 เท่า
โดยพบว่าราคาหุ้น DELTA ในปี 2565 เปลี่ยนแปลงไปกว่า 418 บาท หรือ +101.45% จากระดับราคา 412 บาท เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2564 ขยับขึ้นมาเป็น 830 บาทเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2565
และปิดตลาดภาคเช้าวันที่ 4 ม.ค. 2566 ยืนอยู่ที่ราคา 932 บาท เพิ่มขึ้น 2 บาท เปลี่ยนแปลง 0.22% จากราคาวันก่อนหน้า โดยขึ้นไปทำราคาจุดสูงสุดที่ 990 บาท
Bruce Cheng ผู้ก่อตั้ง DELTA
สำหรับบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA เริ่มก่อตั้งในปี 2531 เป็นบริษัทในเครือเดลต้า อีเลคโทรนิค์ อิ้งค์ บริษัทสัญชาติไต้หวัน ก่อตั้งขึ้นโดยนักธุรกิจชาวไต้หวันที่ชื่อ Bruce Cheng
โดยลักษณะธุรกิจคือ ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านการจัดการระบบกำลังไฟฟ้า (Power management solutions) รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท ได้แก่ พัดลมอิเล็กทรอนิกส์ (DC Fan) อีเอ็มไอ ฟิลเตอร์ (EMI) และโซลินอยด์ มีฐานการผลิตอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ได้แก่ เอเชีย ยุโรป และอเมริกาใต้
เดลต้าประเทศไทยมีพันธกิจคือ “มุ่งมั่นสร้างสรรค์ นวัตกรรมการใช้พลังงานสะอาดและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่ออนาคตที่ดีกว่า”
โดยเดลต้าประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตของประเทศอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการออกแบบ การผลิตและให้บริการธุรกิจโซลูชั่นส์สำหรับการจัดการพลังงานและการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของเดลต้า ได้แก่ ระบบจัดการพลังงานสำหรับเทคโนโลยีสารสนเทศ ยานยนต์ ระบบโทรคมนาคม ระบบอุตสาหกรรม สำนักงานอัตโนมัติ อุตสาหกรรมการแพทย์ รวมถึงเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ตัวแปลงกระแสไฟฟ้า DC-DC และอะแดปเตอร์
ทั้งนี้เดลต้าประเทศไทย ยังเติบโตในธุรกิจโซลูชั่นส์สถานีชาร์จประจุไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ระบบอุตสาหกรรมอัตโนมัติ โครงสร้างพื้นฐานดาต้าเซ็นเตอร์ และการจัดการพลังงานอัจฉริยะในระดับภูมิภาค
กำไร 1.1 หมื่นล้าน
ปัจจุบันเดลต้าประเทศไทย มีรายได้รวม 9 เดือนแรกของปี 2565 อยู่ที่ 84,712.65 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 11,153.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,550.17 ล้านบาท หรือเติบโต +142.28% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีกำไรต่อหุ้น 8.94 บาท มีอัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น (ROE) อยู่ที่ 29.08% มีสินทรัพย์รวม 86,562.79 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 35,089.02 ล้านบาท มีทุนจดทะเบียน 1,259 ล้านบาท
ต่างชาติถือหุ้น 10 รายแรก
- DELTA ELECTRONICS INT’L (SINGAPORE) PTE. LTD. สัดส่วน 42.85%
- DELTA INTERNATIONAL HOLDING LIMITED B.V. สัดส่วน 15.39%
- CITI (NOMINEES) LIMITED-CBHK-PBGSG-RESTRICTED SHARES สัดส่วน 13.86%
- DELTA ELECTRONICS INC. สัดส่วน 5.54%
- THE HONGKONG AND SHANGHAI BANKING CORPORATION LIMITED, HONGKONG BRANCH สัดส่วน 4.83%
- RAFFLES NOMINEES (PTE) LIMITED สัดส่วน 4.60%
- UBS AG HONG KONG BRANCH สัดส่วน 4.39%
- บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด สัดส่วน 2.44%
- SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED สัดส่วน 0.99%
- STATE STREET EUROPE LIMITED สัดส่วน 0.61% (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มี.ค.2565)
ทั้งนี้การถือครองหุ้น DELTA ของต่างชาติมีสัดส่วน 94.70% เป็นการถือครองหุ้นโดย NVDR สัดส่วน 3.02% (ข้อมูล ณ วันที่ 3 ม.ค. 2566)
สำหรับคณะกรรมการและผู้บริหารสำคัญคือ 1.นาย กวง มิ้ง อึ้ง ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการ 2.นาย ช่าย ซิง จาง ดำรงตำแหน่ง ประธานบริหารและกรรมการ