ทีทีบี ยันไม่สนใจตั้ง Virtual Bank เดินหน้าสู่ ท็อป 3 ด้าน “Digital banking”

ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต

ทีทีบี ยันไม่สนใจ Virtual Bank มองธนาคารทำได้อยู่แล้วผ่านการสร้างผลิตภัณฑ์ พร้อมตั้งเป้า 3-5 ปี ติดท็อป 3 ด้าน “Digital banking platform” ยันไม่แข่งเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ เน้นสร้างประสบการณ์ลูกค้า หนุนช่องทาง “Digital Only” และ “Digital First”

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต หรือ ttb เปิดเผยว่า สำหรับแผนการจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) นั้น ธนาคารไม่มีแผนที่จะขอจัดตั้ง Virtual Bank แต่ธนาคารจะต้องทำตัวเองให้ไปสู่ Virtual Bank อยู่แล้ว

ซึ่งธนาคารจะต้องมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็น Virtual Product ในช่องทาง Digital Only ผ่านการเป็น Digital First ก่อนเป็นอันดับแรก

อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมการเงิน จึงมองว่าการใช้คนก็ยังมีความจำเป็นอยู่ โดยเฉพาะในธุรกรรมที่มีขนาดใหญ่หรือซับซ้อน ดังนั้น การโยกธุรกรรมที่ไม่จำเป็นต้องใช้มนุษย์ไปสู่ช่องทาง Digital เพื่อการบริหารจัดการด้านต้นทุนที่ดี นั่นคือ Virtual Bank ในความหมายของธนาคารและเป็นสิ่งที่ธนาคารกำลังทำอยู่ในตอนนี้

“ตอนนี้ Virtual Bank ที่เกิดขึ้นและเสถียรแล้วในปัจจุบันจะมี Cost to Income ประมาณ 30% กลาง ๆ เมื่อเทียบกับธนาคารที่มี Cost to Income ประมาณ 40% กลาง ซึ่งแตกต่างจาก Virtual Bank ประมาณ 10% ทำให้เขาสามารถเสนอดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำกว่าได้ และเสนอดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงได้ แต่หากดู Virtual Bank ช่วงแรกก็จะต้องใช้ทุนเยอะเพื่อสร้างฐานลูกค้า

ซึ่งถ้าสายป่านไม่ยาวก็ยากที่จะอยู่ไปถึงจุดนั้น เพราะเขาต้องเริ่มจากจำนวนลูกค้าที่เป็นศูนย์ หรือมีจำนวนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับฐานลูกค้าแบงก์ที่มี 10 ล้านราย ต้องใช้เวลา 50-60 ปีกว่าจะสร้างได้

ดังนั้น ในระหว่างนี้ธนาคารมีเวลาที่จะปรับตัว ซึ่งเป็นโจทย์ที่สำคัญของแบงก์ที่จะต้องบริหารต้นทุนให้สามารถต่อสู้กับกลุ่มนี้ได้ และเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมความพร้อมไว้”

นายปิติกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2566 ธนาคารเดินหน้าการใช้ “เทคโนโลยี” หรือดิจิทัล Digitalization Journey มาช่วยยกระดับการให้บริการของลูกค้ามากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าบนดิจิทัล เพื่อสร้าง New Business Model และ Ecosystem Play เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าที่ดีขึ้น ซึ่งการไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น จะช่วยลดต้นทุนและภาระการดำเนินงานให้ลดลง

ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าภายใน 3-5 ปี จะขึ้นเป็น 1 ใน 3 ในด้าน “Digital banking platform” ซึ่งเป็นเป้าหมายค่อนข้างท้าทายมาก โดยเป้าหมายดังกล่าวไม่ใช่ในแง่ของส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) แต่เป็นเรื่องของการช่วยลูกค้ามีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะถ้าหากเริ่มจากมาร์เก็ตแชร์ จะเริ่มจากสงครามราคา ซึ่งเป็นการได้มาแบบไม่ยั่งยืน แต่เป็นการย้ายการทำธุรกรรมจากที่เคยทำได้ที่สาขา และคนไปสู่โมบายแบงกิ้งมากขึ้น

โดยการไปสู่เป้าหมาย Top 3 นั้น ธนาคารไม่ได้ต้องต้องการแซงธนาคารขนาดใหญ่ที่มีฐานจำนวนลูกค้าเยอะ หรือปริมาณธุรกรรม แต่ต้องการอยู่ในระดับเดียวกับเขาในแง่ของความพึ่งพอใจของลูกค้า เนื่องจากปัจจุบันลูกค้าจะใช้งานโมบายแบงกิ้งหลายบัญชี ซึ่งธนาคารจะทำอย่างไรให้ลูกค้าทำธุรกรรมผ่านธนาคาร ทั้งการออม และการลงทุน การซื้อประกัน

รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ผ่านธนาคาร เช่น การรวบหนี้ หรือเช่น ธนาคารมีมาร์เก็ตแชร์เรื่องของรถยนต์ 15-20% และเงินฝาก 10% จะทำอย่างไรให้มาอยู่บนโมบายแบงกิ้ง โดยจะต้องทำผ่าน Ecosystem play เพราะปัจจุบันแม้ลูกค้าจะเดินบัญชีเงินเดือนกับธนาคาร แต่ในสิ้นเดือนจะโอนออกไปยังบัญชี ซึ่งจะต้องหาวิธีจูงใจให้ลูกค้าอยู่กับธนาคารให้ได้

“ในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนว่าเราเดินมาถูกทางแล้วจากใช้งานผ่านโมบายแบงกิ้งของธนาคาร วันนี้อยู่ที่กว่า 4 ล้านคน และธุรกรรมหลัก ๆ อยู่บนดิจิทัลแล้ว 80% ซึ่งหากเราสามารถผลักดันให้คนมาใช้ ttb touch มากขึ้น จะสร้าง Engatement ลูกค้าได้รายบุคคล และในอนาคตจะช่วยลดต้นทุนการเงินมากขึ้น เพราะจะเห็นว่าต้นทุนโมบายต่างจากสาขาเป็น 100 เท่า โดยเราจะเดินไปใน 2 ด้าน ทั้ง digital first และ digital only และพยายามสร้างโมบายแบงกิ้งของเราให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น”