แบงก์โกย “รายได้ดอกเบี้ย” ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด ปีนี้ทะลุ 6 แสนล้าน

แบงก์โกยรายได้

แบงก์ไทยทำกำไรได้อู้ฟู่ หลังผ่านช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 มาแล้ว โดยทำกำไรสุทธิรวมกันกว่า 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งต้องยอมรับว่า เป็นอานิสงส์สำคัญจากทิศทาง “ดอกเบี้ยขาขึ้น” นั่นเอง ส่งผลให้แบงก์ไทย (10 แห่ง) มีรายได้ดอกเบี้ยรวมกันช่วง 9 เดือนแรกปี 2566 ถึง 531,776 ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้ 447,068 ล้านบาท

โกยรายได้ดอกเบี้ยพุ่ง

โดย “กาญจนา โชคไพศาลศิลป์” ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ภาพรวมผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์และบริษัทเครือ ในไตรมาส 3/2566 ที่ออกมานั้นพบว่ารายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีทิศทางขยับเพิ่มขึ้นและเป็นปัจจัยหนุน ทำให้ผลประกอบการแบงก์ออกมาค่อนข้างดี

โดยศูนย์วิจัยฯได้ประเมินรายได้ดอกเบี้ยสุทธิในปี 2566 ของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ 17 แห่ง เบื้องต้นจะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่อยู่ 5.56 แสนล้านบาท

“แนวโน้มรายได้ดอกเบี้ยสุทธิขยับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีทยอยปรับขึ้นไปก่อนหน้านี้ แม้ว่าดอกเบี้ย กนง.ที่ขยับขึ้น จะเป็นต้นทุนและรายได้ แต่จะพบว่ารายได้มากกว่ารายจ่าย ส่วนหนึ่งมาจากในช่วงระยะหลัง แบงก์หันมาเน้นการเติบโตในสินเชื่อที่มีผลตอบแทนสูง ทำให้แม้ว่ายอดการเติบโตสินเชื่อจะค่อนข้างทรงตัว แต่ผลตอบแทน (yield) เพิ่มขึ้น”

ขณะที่ต้นทุนรายจ่ายในด้านเงินฝากไม่ได้ขยับเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากยอดคงค้างเงินฝากหดตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากลูกค้ามีการโยกเงินฝากไปหาการลงทุนอื่นที่มีผลตอบแทนที่ดีกว่า ส่งผลให้แบงก์มีรายได้รวมมากกว่ารายจ่าย จึงเห็นรายได้ดอกเบี้ยสุทธิขยายตัวเพิ่มขึ้น

Q4 แบงก์ยังได้อานิสงส์ปรับดอกเบี้ย

“กาญจนา” กล่าวอีกว่า มองไปข้างหน้าในไตรมาสที่ 4/2566 ประเมินว่า ภาพรวมรายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังคงขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) มีทิศทางขยับเพิ่มขึ้น จากอานิสงส์การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.รอบล่าสุด ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังเป็นตัวผลักดันผลประกอบการแบงก์ในช่วงที่เหลือของปีนี้

“จากตัวเลขที่สะท้อนจากงบการเงินรวมที่ออกมาในไตรมาส 3 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีทิศทางขาขึ้น เป็นการโตตามดอกเบี้ย กนง. ซึ่งเป็นตัวหนุน โดยภาพในไตรมาส 4 ก็ยังคงมีอานิสงส์จากการขยับดอกเบี้ยล่าสุด โดยทั้งปีนี้ เราคาดการณ์รายได้ดอกเบี้ยสุทธิทั้งปีไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี แม้ว่ารายได้ดอกเบี้ยสุทธิจะเพิ่มขึ้น แต่ยังคงมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ภายใต้ทิศทางหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่ขยับเพิ่ม ทำให้ยังเห็นภาพการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญยังคงเพิ่มขึ้น”

ตาราง รายได้ดอกเบี่ย

แบงก์แบกต้นทุนเงินฝาก

ขณะที่ “ฐากร ปิยะพันธ์” ผู้จัดการใหญ่ และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าบุคคล ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) กล่าวว่า ในระยะข้างหน้า รายได้ดอกเบี้ยขาเงินกู้น่าจะเริ่มทรงตัว ถ้าอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ขยับแล้ว อย่างไรก็ดี ในปี 2567 อาจจะยังเห็นรายได้ดอกเบี้ยเติบโตขึ้น แต่เป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น จะได้ประโยชน์ครบปีในปีหน้า

ทว่าในอีกด้านก็จะเห็นต้นทุนของเงินฝากเพิ่มต่อเนื่องเช่นกัน

“การเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยอาจจะตอบยาก เนื่องจากรายได้ที่จะได้ผลบวกจากดอกเบี้ยขึ้น ต้องเป็นสินเชื่อที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (float rate) อย่างเช่น พวกลูกค้ารายใหญ่ หรือไม่ก็สินเชื่อบ้านที่เป็น M rate แต่ในขณะที่สินเชื่อรถ สินเชื่อรายย่อยจะไม่ได้อานิสงส์ แต่จะมีผลทางลบจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น”

รับมือต้นทุนความเสี่ยงพุ่ง

ฟาก “ศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า รายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ปรับเพิ่มขึ้น เป็นไปตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.50% โดยอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับอานิสงส์จากการปรับดอกเบี้ย M rate นั้น จะเป็นกลุ่มที่อ้างอิงดอกเบี้ยลอยตัว ซึ่งแต่ละธนาคารจะมีโครงสร้างสินเชื่อแตกต่างกัน ทำให้อานิสงส์จากดอกเบี้ยขาขึ้นแตกต่างกันตามโครงสร้างของพอร์ตธุรกิจ

ทั้งนี้ ภายใต้อานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้นแม้ว่าจะเห็นผลประกอบการของระบบธนาคารออกมาค่อนข้างดี แต่จะพบว่าต้นทุนความเสี่ยง (risk cost) ปรับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ทำให้ธนาคารยังคงต้องบริหารจัดการในส่วนของความเสี่ยงและผลตอบแทน

เนื่องจากมองไปข้างหน้ายังมีความเสี่ยงทั้งจากปัจจัยเศรษฐกิจโลก ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งกดดันความสามารถในการชำระหนี้ได้ในอนาคต ทำให้ธนาคารยังคงระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ และดูแลคุณภาพหนี้อย่างใกล้ชิด

“การปรับดอกเบี้ย M rate จะมีต้นทุนที่หนุนรายได้ และต้นทุนในฝั่งรายจ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้ในเชิงบริหารจัดการยังคงเห็นแบงก์ต้องมีการบริหารจัดการ risk and return ควบคู่กัน ซึ่งตัวที่สะท้อนได้ดี จะเป็นตัว ROA หรืออัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ ที่ปัจจุบันอยู่ที่กว่า 1% เท่านั้น ซึ่งในส่วนทิสโก้ แม้ว่าจะเข้าไปเล่นในกลุ่มที่มี return สูง อย่างเช่น สินเชื่อจำนำทะเบียน แต่ก็มีความเสี่ยงที่ต้องบริหารจัดการเช่นกัน โดยให้ความสำคัญในการดูแลลูกค้า” ซีอีโอกลุ่มทิสโก้กล่าว