สศช.เปิดสถานการณ์คนไทยว่างงาน 4.01 แสนคน ชี้ Q3/66 กลับสู่ระดับก่อนโควิดแล้ว

ดนุชา พิชยนันท์
ดนุชา พิชยนันท์

สภาพัฒน์เผยอัตราว่างงานไทย Q3/66 อยู่ที่ 0.99% กลับสู่ระดับก่อนโควิด จับตา 3 ความท้าทาย ได้แก่ ยกระดับผลิตภาพแรงงานภาคเกษตรกรรม การหดตัวของการส่งออก และราคาสินค้าที่อาจปรับตัวสูงขึ้นก่อนการปรับอัตราค่าจ้าง

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เผยว่า สถานการณ์แรงงานไตรมาสสาม ปี 2566 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม การว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.99 แต่มีจำนวนผู้เสมือนว่างงานเพิ่มขึ้น

ไตรมาส 3 ปี 2566 ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 40.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 1.3 จากการขยายตัวของการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ร้อยละ 2.0 ขณะที่นอกภาคเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 1.0 โดยเฉพาะสาขาโรงแรมและภัตตาคารที่ขยายตัวกว่าร้อยละ 8.3 ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปีก่อน เช่นเดียวกับสาขาการก่อสร้างและสาขาการขนส่งและเก็บสินค้าที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาส

ก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.9 และ 2.1 ตามลำดับ สำหรับสาขาการผลิต การจ้างงานปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 0.6 โดยเป็นผลจากการผลิตสินค้าเพื่อขายในประเทศ อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม โลหะขั้นมูลฐาน แต่สาขาการผลิตเพื่อส่งออก

ในหลายสาขามีแนวโน้มจ้างงานลดลง ชั่วโมงการทำงานลดลงเล็กน้อย โดยภาพรวมและเอกชนอยู่ที่ 42.4 และ 46.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จากจำนวนผู้ทำงานล่วงเวลาที่ลดลงร้อยละ 2.0 ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.9

สภาพัฒน์รายงานอัตราการว่างงานไตรมาส 3/2566 ในส่วนของอัตราการว่างงาน อยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 โดยลดลงมาอยู่ที่ 0.99% หรือมีผู้ว่างงานจำนวน 4.01 แสนคน จากช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่อยู่ 1.23% โดยผู้ว่างงานลดลงทั้งผู้ที่เคย-ไม่เคยมาก่อน 23.0-14.1% ตามลำดับ

นอกจากนี้ หากพิจารณาอัตราว่างงานรายอายุ พบว่าแม้ว่าในกลุ่มคนอายุน้อยจะมีจำนวนว่างงานลดลง แต่ยังคงมีอัตราว่างงานสูงเมื่อเทียบกลับกลุ่มอื่น โดยกลุ่มอายุ 15-19 ปี และ 20-24 ปี มีอัตราการว่างงานที่ 5.79-5.88% ตามลำดับ ขณะวัยแรงงานกลุ่มอื่นอยู่ที่ 0.73%

ทั้งนี้ ผู้ว่างงานระยะยาวลดลงกว่า 32.8% นอกจากนี้ อัตราว่างงานในระบบ 1.93% ลดลง 1.99% ของช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในช่วงไตรมาส 3/2566 ทั้งสิ้น 2.3 แสนคน

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่

1.การยกระดับผลิตภาพแรงงานภาคเกษตรกรรม โดยผลิตภาพแรงงานในภาคการเกษตรของไทยขยายตัวต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

2.การหดตัวของการส่งออก อาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในสาขาการผลิต โดยการส่งออกที่ลดลงตั้งแต่ไตรมาส 3/65 อาจกระทบต่อการจ้างงานในสาขาการผลิตเพื่อการส่งออกที่สำคัญหลายรายการ อาทิ ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก อุปกรณ์ไฟฟ้า

3.ระดับราคาสินค้าที่อาจปรับตัวสูงขึ้นก่อนการปรับอัตราค่าจ้าง ซึ่งการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ก่อนการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำราคาสินค้ามักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นทั้งที่ต้นทุนการผลิตไม่ได้เปลี่ยนแปลง