บลจ. แห่ออกกองทุนตราสารหนี้ แค่ 2 เดือน พรึ่บ 66 กอง มูลค่าเฉียด 2 แสนล้าน

กองทุน

ก.ล.ต. เผยข้อมูล 2 เดือนแรก บลจ. แห่ออกกองทุนตราสารหนี้ 66 กอง มูลค่าเฉียด 2 แสนล้าน จากกองทุนออกใหม่ทั้งหมด 74 กอง “ทิสโก้” ชี้ลงทุนบอนด์ตอบโจทย์เทรนด์ดอกเบี้ยขาลง

วันที่ 15 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) รายงานข้อมูล ในปีนี้ 2567 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.พ. 67 มีกองทุนรวมเสนอขาย IPO จำนวน 74 กองทุน มูลค่าเสนอขาย 200,362 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ 66 กองทุน

มูลค่าเสนอขาย 197,348 ล้านบาท เป็นการเสนอขายกองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย 58 กองทุน มูลค่าเสนอขาย 159,436 ล้านบาท และกองทุนรวมที่มีนโยบายเน้นการลงทุนในประเทศ 42 กองทุน มูลค่าเสนอขาย 134,200 ล้านบาท

โดยตั้งแต่ มกราคม 2567 มีการระดมทุนเสนอขาย IPO จำนวน 6 หลักทรัพย์ มูลค่ารวม 9,766.00 ล้านบาท โดยมีคำขอที่อนุญาตไปแล้วพร้อมเสนอขาย 18 หลักทรัพย์ อยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอ 20 หลักทรัพย์ และที่อยู่ระหว่าง Pre-consult 95 หลักทรัพย์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการระดมทุนผ่านตลาดทุนต่อเนื่องสำหรับการระดมทุนผ่านสินทรัพย์ดิจิทัล และมีคำขอ ICO อยู่ระหว่าง Pre-consult 14 บริษัท
(ผลรวมสะสมการระดมทุนผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งสิ้น 3 บริษัท มูลค่า 5,065.23 ล้านบาท)

การระดมทุนผ่าน Crowdfunding ในปี 2566 (1 ม.ค.-31 ม.ค. 67) มีบริษัทที่ดำเนินการสำเร็จแล้ว 75 บริษัทมูลค่ารวม 412.70 ล้านบาท (ผลรวมสะสมการระดมทุนผ่าน Crowdfunding มูลค่า 12,286.31 ล้านบาท) การเสนอขายหลักทรัพย์วงแคบของ SME มีผลรวมสะสมจนถึงปัจจุบัน 23 บริษัท มูลค่า 449.38 ล้านบาทและการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ของ SME มีผลรวมสะสมจนถึงปัจจุบัน 4 บริษัท โดยมีมูลค่าการระดมทุนรวม 221.90 ล้านบาท สำหรับตราสารหนี้ภาคเอกชน มีการออกตราสารหนี้ระยะยาวมูลค่า 34,327.60 ล้านบาท แบ่งเป็นตราสาร Investment Grade 27,125.40 ล้านบาท และ High Yield Bond 7,202.20 ล้านบาท (1 ม.ค.-31 ม.ค. 67)

ตั้งแต่ต้นปี’67 มีการออกเสนอขายตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนแล้ว จำนวน 2 บริษัทมูลค่า 6,000.00 ล้านบาท (ผลรวมสะสม 33 บริษัท มูลค่า 722,463.26 ล้านบาท) สำหรับกองทุนรวม (ม.ค.-ก.พ. 67 มีการเสนอขาย IPO จำนวน 74 กองทุน มูลค่ารวม 200,362 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการเสนอขายกองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ที่เน้นลงทุนในประเทศสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย

สำหรับในปี 2567 ภาคธุรกิจยังคงมีการระดมทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปใช้ในการขยายธุรกิจและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน สำหรับการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ ภาคเอกชนออกตราสารหนี้ระยะยาวมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การใช้เงิน ส่วนการระดมทุนผ่านตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนมีการออกเสนอขายตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนแล้ว จำนวน 2 บริษัท มูลค่า 6,000 ล้านบาท สำหรับการระดมทุนเสนอขายหลักทรัพย์วงแคบผ่านช่องทาง SME มีมูลค่า 105.30 ล้านบาท

นอกจากนี้การระดมทุนผ่านช่องทาง Crowdfunding (1 ม.ค.-31 ม.ค. 67) มีบริษัทที่ดำเนินการสำเร็จแล้ว 75 บริษัท มูลค่ารวม 412.70 ล้านบาทตลาดทุนไทยมีมูลค่าการซื้อ-ขายต่อวันสูงเป็นอันดับหนึ่ง รวมถึงมี Market-Cap และมูลค่าระดมทุนสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศในกลุ่มอาเซียน (ข้อมูลเปรียบเทียบ ณ สิ้นเดือน มกราคม 2567)

ทั้งนี้ในปี 2567 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 67 มี IPO จำนวน 6 บริษัทซึ่งมีมูลค่าการเสนอขายทั้งสิ้น 9,766 ล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเสนอขาย 3 อันดับแรก คือ กลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มสินค้าอุปโภคและกลุ่มบริการ

ด้าน นายสาห์รัช ชัฏสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ เปิดเผยว่า ปีนี้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกดูดีขึ้น เศรษฐกิจอเมริกายังอยู่ในความน่าสนใจ ความเสี่ยงที่จะถดถอย (Recession) คาดว่าจะหมดไป ส่วนเงินเฟ้อสหรัฐก็อ่อนตัวลง แต่ยังไม่ได้อ่อนในจุดที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ดี นโยบายการเงินในสหรัฐคาดว่าจะผ่อนคลายลง และจะมีการลดดอกเบี้ยเกิดขึ้น

“มองว่าในปีนี้เป็นเทรนด์ดอกเบี้ยขาลง สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงไม่ได้เยอะ แนะนำลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์) ระยะยาวในต่างประเทศ อย่างบอนด์สหรัฐ, Global Bond เนื่องจากดอกเบี้ยโลกเป็นทิศทางขาลง ถ้าเราเลือกลงทุนในกองทุนที่เขาเน้นระยะยาว ก็จะได้กำไรจากดอกเบี้ยที่ปรับลดลง หรือกำไรจากส่วนต่างราคา หากดอกเบี้ยปรับลง”