สินเชื่อจำนำทะเบียนทะยานต่อ ปีนี้โต 20% อานิสงส์แบงก์เข้มปล่อยกู้

สินเชื่อจำนำทะเบียน ธุรกิจสินเชื่อ
จากซ้าย : กาญจนา โชคไพศาลศิลป์, ปริทัศน์ เพชรอำไพ, สุธัช เรืองสุทธิภาพ, ตัน คีท จิน

สินเชื่อจำนำทะเบียนปี’67 ทะยานต่อ “ภาวะหนี้ครัวเรือนสูงแบงก์เข้มปล่อยกู้” เป็นปัจจัยหนุน “นายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ” มองตลาดโต 10-20% ชี้ลูกค้าหันใช้สินเชื่อเสริมสภาพคล่องแทนกู้แบงก์ ขณะที่เจ้าตลาด “MTC” ตั้งเป้าโต 20% มองตลาดยังขยายตัวได้อีกมาก ฟาก “ซีไอเอ็มบี ไทย” เพิ่งได้ไลเซนส์จาก ธปท. จ่อเริ่มธุรกิจกลางปี’67 ด้าน “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินปีนี้สินเชื่อทั้งระบบขยายตัว 16-19%

นายสุธัช เรืองสุทธิภาพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เงินเทอร์โบ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ (VTLA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (จำนำทะเบียน) ในปี 2567 คาดว่ายังคงเติบโตต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่ชะลอลงอยู่ที่ 10-20% โดยปัจจัยบวกที่สนับสนุนการเติบโต จะมาจากความต้องการสินเชื่อที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทำให้ลูกค้าและผู้ประกอบการที่ต้องการสภาพคล่องนำรถมาจำนำทะเบียน เพื่อใช้ในการหมุนเวียนในธุรกิจ และในชีวิตประจำวัน

ประกอบกับสถาบันการเงินให้ความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพราะจากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้คนที่มีความจำเป็นหันมาใช้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมากขึ้น ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อาจจะไม่ได้ขยับเพิ่มขึ้นสูงอยู่ที่ราว 3%

“การเติบโตของธุรกิจจำนำทะเบียนในปีที่ผ่านมา คงไม่สูงถึง 40% และไม่ได้เป็นสินเชื่อที่ก่อให้เกิดหนี้ครัวเรือน แต่เป็นสินเชื่อสำหรับผู้ที่ต้องการใช้เงินฉุกเฉิน แต่ไม่สามารถเข้าถึงบริการจากสถาบันการเงินได้ จะได้ไม่ต้องไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ”

นายสุธัชกล่าวว่า สำหรับเงินเทอร์โบ ตั้งเป้าการเติบโตที่ 10-20% โดยบริษัทจะเน้นเลือกกลุ่มลูกค้ามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีวินัยทางการเงิน หากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงอาจจะปล่อยสินเชื่อลดลง เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยง อย่างไรก็ดี มองว่าธุรกิจจำนำทะเบียนยังเป็นธุรกิจที่การแข่งขันยังคงรุนแรง แต่มีเจ้าใหม่ที่ต้องการเข้ามาทำตลาดเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากผลตอบแทน (Yield) ที่ดีกว่าธุรกิจเช่าซื้อ ซึ่งเจอปัญหาขาดทุนรถยึดหรือเพดานอัตราดอกเบี้ย

นายปริทัศน์ เพชรอำไพ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) กล่าวว่า จากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ธนาคารเข้มงวดสินเชื่อ ทำให้สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ในปี 2567 จะยังขยายตัวต่อเนื่องตามความต้องการสินเชื่อที่มีอยู่ เพราะลูกค้าที่มีรถและโฉนดที่ดินสามารถนำมาขอสินเชื่อได้ด้วยอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 18% ต่อปี

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าการเติบโตอยู่ที่ 15-20% หรือคิดเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่อยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.45 แสนล้านบาท คาดว่าภายในสิ้นปีจะจบอยู่ที่1.70 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่ามีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยบริษัทจะชะลอการปล่อยสินเชื่อไม่มีหลักประกัน (สินเชื่อส่วนบุคคล-นาโนไฟแนนซ์) เนื่องจากมีหนี้เอ็นพีแอล ค่อนข้างสูงเฉลี่ยอยู่ที่ 7-8% เมื่อเทียบกับสินเชื่อที่มีหลักประกันหนี้เสียอยู่ที่ 3% เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิด-19 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.5% โดยปัจจุบันสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อประมาณ 70% จะเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน และอีก 30% จะเป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกัน

“ภาพรวมตลาดจำนำทะเบียนยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ในภาวะที่แบงก์เข้มสินเชื่อไม่ปล่อยสินเชื่อ แต่จากหนี้ครัวเรือนสูง เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว เราเองก็ระมัดระวังมากขึ้น โดยการทยอยลดสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อไม่มีหลักประกันลง ทำให้เราบริหารจัดการหนี้เสียได้ดีขึ้น โดยจะเห็นว่าภาพรวมหนี้เสียปรับลดลงจาก 3.4% มาอยู่ที่ 3.1%”

นายตัน คีท จิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ในช่วงปลายปี 2566 ธนาคารได้รับใบอนุญาต (License) ประกอบธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรียบร้อยแล้ว โดยภายในกลางปี 2567 จะเริ่มดำเนินธุรกิจจำนำทะเบียนภายใต้บริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ จำกัด รวมถึงการขยายธุรกิจเช่าซื้อครอบคลุมทั้งในส่วนรถยนต์และรถจักรยานยนต์อีกด้วย

“ตลาดจำนำทะเบียนรถเป็นตลาดที่มีโอกาสการเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากตลาดนี้ในส่วนของที่เป็นธนาคารพาณิชย์ยังค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) ที่ตลาดค่อนข้างใหญ่ จึงเป็นโอกาสที่เราจะขยายธุรกิจเข้าไป และถ้าเทียบหนี้เสียจำนำทะเบียนถือว่ายังน้อยเฉลี่ยทั้งระบบประมาณ 2% กว่า ต่ำกว่าเช่าซื้อ และเทียบผลตอบแทนก็ดีกว่าเช่าซื้อที่มีเพดานดอกเบี้ยไว้”

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ในปี 2567 คาดว่ายังคงขยายตัว แต่ในอัตราที่ชะลอตัวลง เนื่องจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ส่งผลให้สถาบันการเงินพิจารณาความเสี่ยงด้านเครดิตลูกค้ามากขึ้น รวมถึงการรักษาคุณภาพสินทรัพย์ควบคู่กัน

ทั้งนี้ ประเมินการเติบโตสินเชื่อจำนำทะเบียนอยู่ในกรอบ 16-19% หรือมียอดสินเชื่อคงค้างภายในสิ้นปีอยู่ที่ 3.92-4.02 แสนล้านบาท

“ตลาดนี้เป็นตลาดที่น่าสนใจ เพราะเป็นโปรดักต์ High Yield และมีหลักประกัน ทำให้หลายค่าย หันมาชูโปรดักต์ในการทำตลาดหรือตั้งเป้าการเติบโต แต่จะเห็นว่าน็อนแบงก์ยังเป็นผู้ครองตลาด โดยมียอดคงค้าง 2.96 แสนล้านบาท มีมาร์เก็ตแชร์ราว 86.8% เทียบธนาคารพาณิชย์มีพอร์ตราว 4.48 หมื่นล้านบาท มีมาร์เก็ตแชร์เพียง 13.2% เท่านั้น”