ดอลลาร์ปรับตัวในกรอบ จับตา PCE

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์ปรับตัวในกรอบ จับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE)

วันที่ 28 มีนาคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม 2567

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/3) ที่ระดับ 36.45/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (27/3) ที่ระดับ 36.45/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในกรอบจำกัดเทียบเงินสกุลหลักหลังดัชนีดอลลาร์อยู่ที่ระดับ 104.42 ก่อนการเปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2566 ในวันนี้ (28/3) และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันศุกร์ (29/3) ซึ่งเป็นตัวเลขที่นักลงทุนให้ความสำคัญในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐและทิศทางการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ

รวมถึงการแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดในสัปดาห์นี้ นอกจากนี้หนึ่งในสมาชิกคณะผู้ว่าการของเฟดกล่าวในการประชุมสมาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐนิวยอร์ก (Economic Club of New York) ว่า ข้อมูลเงินเฟ้อที่น่าผิดหวังของสหรัฐ ซึ่งมีการรายงานเมื่อไม่นานมานี้ ถือเป็นสิ่งยืนยันว่าเฟดยังไม่จำเป็นต้องรีบปรับลดอัตราดอกเบี้ย

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าในกรอบเดิมจากระดับปิดตลาดเมื่อวาน (28/3) หลังวานนี้เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าตามทิศทางค่าเงินหยวนและสกุลเงินในภูมิภาค ซึ่งระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ ช่วง 36.35-36.50 บาท โดยตลาดยังไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามา ขณะที่มีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตรวานนี้ 6.7 พันล้านบาท

ทั้งนี้ ตลาดยังคงรอการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของทางสหรัฐ เพื่อบ่งชี้ทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินต่อไป นอกจากนี้หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ คาดว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เดือน เม.ย.นี้ อาจมีมติปรับลดดอกเบี้ยจากการเริ่มเห็นสัญญาณเศรษบฐกิจไทยระดับต่ำ ภาคบริโภคชะลอลง ส่งออกเริ่มฟื้นตัว

โดยช่วงนี้เศรษฐกิจซึม ซึ่งเงินเฟ้อติดลบต่ออีก 2 เดือน จาก 5 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ทางฝ่ายกลยุทธ์คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง คือรอบการประชุมเดือน เม.ย. และ มิ.ย.นี้ จากปัจจุบันที่ 2.50% ปีนี้ โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.37-36.54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.50/52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/3) ที่ระดับ 1.0816/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (27/3) ที่ระดับ 1.0829/33 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงจากการแข็งค่าของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0775-1.0827 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0780/84 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/3) ที่ระดับ 151.42/46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (27/3) ที่ 151.21/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนต่อดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินนเยนต่อดอลลาร์ยังคงอยู่ในทิศทางอ่อนค่า และเคลื่อนไหวอยู่เหนือระดับ 151.30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังวานนี้ เงินเยนอ่อนค่าแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 34 ปีที่ระดับ 151.97 ภายหลังจากนายนาโอกิ ทามูระ หนึ่งในกรรมการของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะยังคงอยู่ที่ระดับใกล้ 0% ต่อไปอีกระยะหนึ่ง

แม้ BOJ ได้เริ่มขั้นตอนการปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็ตาม โดยช่วงนี้ต้องจับตาค่าเงินเยนเนื่องจากตลาดค่อนข้างระมัดระวังว่าทางการญี่ปุ่นจะมีการแทรกแซงค่าเงินได้ จากที่ก่อนหน้านี้ เงินเยนที่อ่อนค่าไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 151.23-151.54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 151.43/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไตรมาส 4/2566 ของสหรัฐ (28/3), จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (28/3), รายงานยอดขายบ้านที่รอการปิดการขายเดือน มี.ค. ของสหรัฐ (28/3), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (28/3), ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของกรุงโตเกียว (29/3) และดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลเดือน ก.พ.ของสหรัฐ (29/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.0/-8.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.8/-5.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ