กำลังซื้อ กำลังแย่

buythings
คอลัมน์ : เช้านี้ที่ซอยอารีย์
ผู้เขียน : ดร.พงศ์นคร โภชากรณ์์ ([email protected])

ผมตั้งชื่อเรื่องไว้ว่า “กำลังซื้อ กำลังแย่” วันนี้เรามาวิเคราะห์เรื่องนี้กันว่า จริงอย่างที่ผมว่าไหม ? และเราจะใช้ข้อมูลอะไรมาชี้วัดว่ามันกำลังแย่ ?

จริงอยู่ว่าในปี 2566 พระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ การบริโภคภาคเอกชน ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 59 ใน GDP ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 7.1 ต่อปี สูงสุดในรอบ 11 ปี แต่ก็เป็นผลจากการขยายตัวของการบริโภคในหมวดร้านอาหารและโรงแรมสูงถึงร้อยละ 46.5 ต่อปี หากการท่องเที่ยวกลับเข้าสู่การขยายตัวในระดับปกติ

การบริโภคย่อมชะลอตัวลง ประกอบกับข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ออกมา 2 เดือนแรกของปี 2567 ยิ่งทำให้เห็นว่า การบริโภคกำลังอ่อนแรงลงแล้ว เรามาวิเคราะห์เครื่องชี้เศรษฐกิจแต่ละตัวกันครับ

1.รายได้เกษตรกรที่ขจัดเงินเฟ้อออก ครอบคลุมประชากรประมาณ 20 ล้านคน พบว่าหดตัวในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2567 ร้อยละ -0.6 และ -1.7 ต่อปี ปีที่แล้วทั้งปีก็หดตัวร้อยละ -2.1 ต่อปี ดังนั้นกำลังซื้อของเกษตรกรยังคงอ่อนแอต่อเนื่อง ช่วงที่เหลือยังต้องเผชิญกับภัยแล้งน้ำท่วมอีก

2.จำนวนนักท่องเที่ยวชะลอตัว ต่างประเทศเที่ยวไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 24 มีนาคม มีจำนวนกว่า 8 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 44 ต่อปี ชะลอลงมากจากปี 2566 ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 154 ต่อปี ส่วนไทยเที่ยวไทยเดือนมกราคม 2567 ขยายตัวร้อยละ 6.8 ต่อปี ชะลอลงมากจากปี 2566 ที่ขยายตัวร้อยละ 23 ต่อปี ดังนั้น รายได้จากนักท่องเที่ยวที่ผันไปเป็นเงินเข้ากระเป๋าชาวบ้าน ร้านค้า โรงแรม ร้านอาหาร สองแถวรับจ้าง ย่อมมีแนวโน้มลดลงตามไปด้วย

3.ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ปี 2566 ขยายตัวได้ร้อยละ 4.6 ต่อปี แต่เดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ 2567 หดตัวร้อยละ -1.8 และ -10.0 ต่อปี ตามลำดับ สะท้อนว่ากำลังซื้อของประชาชนรายได้น้อยก็อ่อนแอเช่นกัน

4.ยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 3.6 ต่อปี เดือนมกราคม 2567 ยังขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5.4 ต่อปี แต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ 27.1 ต่อปี ก็บ่งชี้ว่า ประชาชนที่มีรายได้ปานกลางก็ยังมีกำลังซื้อที่เปราะบาง แล้วจะหายเปราะบางเมื่อใด

5.ยอดรถปิกอัพจดทะเบียนใหม่ ปี 2566 หดตัวร้อยละ -27.2 ต่อปี ต่อมาในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2567 หดตัวร้อยละ -31.5 และ -36.4 ต่อปี ตามลำดับ สะท้อนว่า ประชาชนหรือผู้ประกอบการขนาดเล็ก กิจการขนาดเล็กที่ต้องลงทุนซื้อรถปิกอัพไว้ขนส่ง ก็มีกำลังซื้อที่ลดลง

6.ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ปี 2566 หดตัวร้อยละ -3.8 ต่อปี เดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2567 หดตัวร้อยละ -2.9 และ -2.8 ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 หมายความว่า โรงงานผลิตของน้อยลง ซึ่งเป็นไปได้ว่ากำลังซื้อของเศรษฐกิจโดยรวมของโรงงาน บริษัท ห้างร้าน ครัวเรือน ยังมีแนวโน้มหดตัว

7.ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่สะท้อนกิจกรรมของเศรษฐกิจในเดือนมกราคม 2567 ซึ่งเป็นเดือนที่มีมาตรการ Easy e-Receipt จะทำให้มูลค่าการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นกำลังซื้อของผู้มีรายได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่านั้น

8.หนี้ครัวเรือน ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 91 ของ GDP และมีโอกาสจะเพิ่มขึ้น หนี้เสียจะเพิ่มขึ้น หนี้ที่กำลังจะเสียก็จะเพิ่มเร็วกว่า ทำให้การบริโภคภาคเอกชนจะถูกบั่นทอนด้วยหนี้ครัวเรือน กำลังซื้อก็จะลดลงในระยะยาว

ดังนั้น หากมีคนมาถามผมว่า เศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัวแล้วใช่ไหม ? ผมจะตอบว่า “ตอนนี้ ยังครับ”

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด