ธปท.เฉือนจีดีพีปีนี้เหลือโต 3% นักท่องเที่ยวหดเหลือ 3 ล้านคน

ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส
ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส

ธปท.ปรับคาดการณ์จีดีพีปี 64 เหลือ 3% จาก 3.2% และปี 65 เหลือ 4.7% จาก 4.8% เหตุนักท่องเที่ยวเหลือ 3 ล้านคน เผยเศรษฐกิจไทยใช้เวลาฟื้นตัว 2 ปีครึ่ง มาตรการรัฐ-การเงินยังเป็นแรงสนับสนุน ชี้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลน้อยรับแรงกดดันค่าบาทลดลง พร้อมปรับตัวเลขส่งออกโตพุ่ง 10% จาก 5.7% อานิสงส์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2564 ลงมาอยู่ที่ระดับ 3.0% จากประมาณการเดิมในเดือนธันวาคมที่ผ่านมามองอยู่ 3.2% และในปี 2565 ปรับจาก 4.8% เหลือ 4.7%

ขณะที่ภาคการส่งออกปรับประมาณการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 10.0% จาก 5.7% เนื่องจากพลวัตรการส่งออกปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากสหรัฐฯ ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทำให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ส่งผลต่อการส่งออกสินค้าของไทยปรับดีขึ้นในหลายหมวดสินค้า

ทั้งนี้ สาเหตุการปรับจีดีพีลดลงมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ จึงปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2564 เหลือ 3 ล้านคน จากเดิมอยู่ที่ 5.5 ล้านคน และในปี 2565 เหลือ 21.5 ล้านคน จาก 23 ล้านคน

ทั้งนี้ ธปท.ยังมองว่านักท่องเที่ยวจะสามารถเข้ามาได้ภายในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ แต่จำนวนที่ปรับลดลงมาจากนโยบายจีนที่ยังห้ามคนในประเทศเดินทาง จึงคาดว่านักท่องเที่ยวจีนเข้ามาน้อยลง ดังนั้น ปัจจัยเรื่องวัคซีน และการระบาดของโควิด-19 จึงยังเป็นต้องติดตามใกล้ชิดทั้งในและต่างประเทศ เพราะมีผลต่อการกลับมาของจำนวนนักท่องเที่ยว

อย่างไรก็ดี แนวโน้มการขยายตัวเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 ยังคงปรับลดลงจากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่การปรับลดลงไม่มาก เนื่องมาตรการบริหารจัดการล็อกดาวน์ไม่ได้เข้มงวดเหมือนระลอกแรก และมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ ทำให้การปรับลดลงของจีดีพีไม่หดลงแรงมาก

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยยังคงเปราะบาง และฟื้นตัวไม่ทั่วถึง จึงต้องการแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐและการเงินต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมามาตรการกระตุ้นต่าง ๆ ที่ออกมา ถือว่าได้ผลพอสมควร เนื่องจากมีการกำหนดการใช้ และพื้นที่ที่ใช้ ขณะเดียวกัน หากดูประเทศไทย เมื่อเทียบกับภูมิภาค ถือว่าไทยฟื้นตัวช้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสัดส่วนภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างสูงถึงกว่า 10% ของจีดีพี จึงได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศอื่น

“การปรับจีดีพีจาก 3.2% เหลือ 3.0% แต่ต่างประเทศฟื้นตัวเร็ว เพราะไทยมีเรื่องของท่องเที่ยวเยอะ คาดว่าการขยายตัวจะกลับเข้าสู่ระดับปกติก่อนมีโควิด-19 ในช่วงปลายปี 2562 จะใช้เวลาประมาณ 2 ปีครึ่ง หรือภายในกลางปี 2565 ดังนั้น การกระตุ้นยังเป็นเรื่องจำเป็น และการฟื้นฟูในระยะข้างหน้าเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเข้มแข็ง”

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงจากประมาณการเดิมอยู่ที่ 11.6 พันล้านดอลลาร์ ลดลงเหลือ 1.2 พันล้านดอลลาร์ และทยอยปรับเพิ่มขึ้นในปี 2565 แต่ยังลดลงจากคาดการณ์เดิมที่อยู่ 29.1 พันล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ จากดุลบัญชีเกินดุลน้อยลง สะท้อนแรงกดดันที่มาจากดุลบัญเดินสะพัดต่อค่าเงินบาทจะน้อยลง อย่างไรก็ดี ธปท.ยังคงให้ความสำคัญกับการสร้าง Fx Ecosystem ต่อเนื่อง