ลุ้น “จีดีพีไทย Q1-เศรษฐกิจจีน” กดดันบาทอ่อน-ตลาดหุ้นเอเชีย

เงินบาท

แบงก์ประเมินเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 34.50-34.90 บาทต่อดอลลาร์ เกาะติดตัวเลขจีดีพีไทยไตรมาส 1/65-เศรษฐกิจจีน” ชี้ ออกมาแย่กดดันตลาดหุ้นเอเชีย พร้อมฟังถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่เฟด-ประธานอีซีบี มองทิศทางเศรษฐกิจ-นโยบายการเงิน ระบุฟันด์โฟลว์ไหลออกต่อเนื่อง

วันที่ 15 พฤษภาคม 2565 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 16-20 พฤษภาคม 65) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 34.50-34.90 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามจะเป็นตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนเมษายนของประเทศจีน ซึ่งภาพยังค่อนข้างแย่

ประกอบกับมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่อันดับ 3 ผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งเป็นผู้ที่ขายบ้านรายใหญ่และเชื่อมโยงกับบริษัทอื่น ๆ จึงเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นเอเชีย และค่าเงินหยวน โดยเงินบาทมีความเชื่อมโยงกับค่าเงินค่อนข้างสูงถึง 65% ทำให้เงินบาทได้รับแรงกดดันเช่นกัน

นอกจากนี้ มีประกาศตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยไตรมาสที่ 1/65 ซึ่งอาจจะออกมาสอดคล้องกับตลาดคาดการณ์ไว้ แต่ตลาดรอดูราละเอียดไส้ในของจีดีพี โดยเฉพาะเรื่องการบริโภคหากตัวเลขออกมาดี สะท้อนภาพเศรษฐกิจฟื้นตัว จะทำให้ตลาดคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจมีแนวคิดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ โดยจะรอดูท่าทีในการประชุมเดือนมิ.ย.นี้ ส่งผลทำให้เงินบาทกลับมาทรงตัว Stable ได้ หรือกลับมาแข็งค่าได้เล็กน้อย

อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลให้เงินบาทมีความผันผวนอยู่ จะเป็นตัวเลขยอดค้าปลีกสหรัฐฯ หากออกมาดี และแข็งแกร่ง จะเชื่อมโยงไปสู่อัตราเงินเฟ้อ ทำให้คนกังวลการปรับขึ้นของเงินเฟ้อ และเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่า 0.50% สอดคล้องกับจะมีถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งเป็นบุคคลที่มีแนวคิดการขึ้นดอกเบี้ย 0.75% จึงเป็นสิ่งที่ตลาดติดตามอย่างใกล้ชิด

ตลอดจนการประกาศตัวเลขจีดีพีของยูโรโซนในไตรมาสที่ 1/65 หากตัวเลขออกมาแย่ จะทำให้ตลาดมองยูโรโซนกำลังแย่ ทำให้ค่าเงินในกลุ่มยูโรโซนอ่อนค่าได้ รวมถึงมีถ้อยแถลงจากประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะมีมุมมองต่อเศรษฐกิจและดอกเบี้ยอย่างไร ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจภาวะถดถอย Recession หรือ Stagflation และข่าวของการแยกตัวจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit)

“ประเด็นเรื่อง Brexit จะกลับมา โดยอังกฤษจะกลับมาพิจารณาเงื่อนไข Brexit Deal อีกครั้ง ทำให้ค่าเงินปอนด์สเตอริ่งอ่อนค่าได้ อย่างไรก็ดี ปัจจัยเดียวทีาจะทำให้เงินบาทแข็งค่าได้ตอนนี้ คือ เงินดอลลาร์อ่อนค่า เพราะตอนนี้ปัจจัยเสี่ยงค่อนข้างมาก ทำให้ทุกคนหันถือดอลลาร์ ทำให้ดอลลาร์ยังคงแข็งค่า”

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในสัปดาห์หน้า มองว่า ฟันด์โฟลว์ภาพรวมยังคงเป็นไหลออกสุทธิ (Net outflow) เนื่องจากตลาดยังคงปิดรับความเสี่ยง (Risk off) โดยนักลงทุนมีการปรับมุมมองตลาดหุ้น ทำให้นักลงทุนยังคงขายหุ้นสุทธิ ส่วนตลาดพันธบัตร (บอนด์) ไหลเข้าเล็กน้อยใกล้เคียงกับสัปดาห์ที่ผ่านมาราว 3,000 ล้านบาท

ขณะที่ฟันด์โฟลว์ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 9-13 พฤษภาคม 2565 พบว่าตลาดหุ้นขายสุทธิราว 2,900 ล้านบาท และตลาดบอนด์ซื้อสุทธิราว 2,300 ล้านบาท

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 34.50-34.90 บาทต่อดอลลาร์ โดยติดตามข้อมูลจีดีพีไตรมาส 1 ของไทย และตัวเลขยอดค้าปลีกเดือนเม.ย.ของสหรัฐฯ ขณะที่ กระแสเงินทุนเริ่มไหลออกต่อเนื่องซึ่งตลาดกังวลกับสภาพคล่องตึงตัว และวิกฤตเงินเฟ้อด้านต้นทุน

“เงินหยวนนำสกุลเงินภูมิภาคอ่อนค่าในเดือนนี้ขณะที่เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปีครั้งใหม่ โดยสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่ได้รับแรงกดดันจากทิศทางการคุมเข้มนโยบายของเฟด และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน”