ผู้การสันติบาลสั่งสอบ นายจ้างอดีตทหารหญิง ปมอายุเกินแต่รับราชการตำรวจ

ผู้การสันติบาลสั่งสอบนายจ้างทหารหญิง
แฟ้มภาพ

ผู้การสันติบาล 1 สั่งสอบนายจ้างอดีตทหารหญิงทันที หลังพบอายุเกินแต่รับราชการตำรวจได้ ด้านกรมสุขภาพจิตชี้ อ้างป่วยจิตเวชเพื่อละเว้นก่อคดีไม่ได้

วันที่ 22 สิงหาคม 2565 ที่กองบัญชาการตำรวจสันติบาล 1 พล.ต.ต.อุดร วงษ์ชื่น ผบก.ส.1 กล่าวถึงกรณีการเข้ามารายงานตัวของ ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม ผบ.หมู่ กก.4 บก.ส.1 ผู้ต้องหาคดีทำร้ายร่างกายทหารหญิงว่า อยู่ระหว่างการรอหนังสือมาที่ บก.ส.1 หากหนังสือส่งตัวมาถึงแล้ว ผู้ต้องหาจะต้องเข้ารายงานตัวในวันเดียวกัน ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดเพิ่ม

รวมถึงมีการสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพฤติกรรมของตำรวจหญิงคนดังกล่าวภายในวันนี้ โดยยืนยันว่าไม่มีการช่วยเหลือกันอย่างแน่นอน แต่จะมีการลงโทษหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผลการสอบสวนของ สภ.เมืองราชบุรี ตามรายงานข่าวสด 

พล.ต.ต.อุดร กล่าวถึงรายละเอียดการทำงานของตำรวจหญิงรายดังกล่าวว่า เริ่มเข้ารับราชการมาตั้งแต่ปี 2560 แต่ไม่แน่ใจว่าสังกัดใดมาก่อน และไม่ทราบว่าได้รับการตรวจสอบประวัติสุขภาพจิตหรือไม่ เนื่องจาก กองบัญชาการศึกษา ทำหน้าที่ในการเปิดรับสมัครบุคคลภายนอกเข้าบรรจุราชการ รวมถึงต้องตรวจสอบการรายงานความบกพร่องในหน้าที่เพิ่มเติม

ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ ทั้งการมีทหารรับใช้ และการตั้งข้อสังเกตถึงการเข้ารับราชการตามระเบียบ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 1 กล่าวว่า ตนไม่ทราบ ต้องเป็นหน้าที่ของกองบัญชาการศึกษาในการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยระเบียบของกองบัญชาการศึกษาระบุว่า บุคคลที่มีอายุเกิน 35 ปีจะไม่เข้าหลักเกณฑ์ในการสอบรับราชการตำรวจ แต่มีเงื่อนไขพิเศษ เช่น เป็นบุตรของอดีตตำรวจที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น ซึ่งอาจสามารถสอบเพื่อเข้ารับราชการได้

กรมสุขภาพจิตชี้อ้างป่วยจิตเวชเพื่อละเว้นก่อคดีไม่ได้

ด้านมติชนรายงานว่า พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีการอ้งความเป็นผู้ป่วยจิตเวชในกลุ่มผู้ก่อคดีว่า ประมวลกฎหมายอาญา ตามมาตรา 65 มีการกำหนดความเจ็บป่วยทางจิตใจที่จะมีผลต่อการรับโทษ หากกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เนื่องจากจิตบกพร่อง แต่หากกระทำโดยยังสามารถรู้ผิดชอบ หรือบังคับตนเองได้บ้าง ก็ต้องได้รับโทษความผิดนั้น โดยจะต้องมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าความเจ็บป่วยตังกล่าว มีผลต่อการรู้ผิดชอบหรือการควบคุมตนเองมากน้อยแค่ไหน

ขณะที่ นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวว่า พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 มีการกำหนดให้ประชาชนที่พบผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ป่วยจิตเวชหรือมีความผิดปกติทางจิต ซึ่งมีภาวะอันตราย ให้นำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอาการ

นพ.ณัฐกร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสุขภาพจิต ขอสังคมสนใจปัญหาด้านสุขถาพจิต และขอให้เชื่อมั่นในการตรวจประเมินทางนิติจิตเวชที่จะสร้างความยุติธรรมให้ทุกฝ่ายในสังคม หากพบเห็นบุคคลที่แสดงอาการผิดปกติหรือมีอาการกำเริบ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่หรือขอคำปรึกษาที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หากมีแนวโน้มรุนแรงมากและเป็นอันตราย สามารถแจ้งเหตุได้ที่สายด่วนตำรวจ 191 ตลอด 24 ชั่วโมง