ดร.ธำรงศักดิ์ ชี้คน Gen Z เห็นควรยกเลิกข้อห้ามขายเหล้าเบียร์ในวันพระ

สุรา เหล้า เบียร์
PHOTO : Diego Henao from Pexels

“ดร.ธำรงศักดิ์” จาก ม.รังสิตเผยงานวิจัยส่วนบุคคล ชี้คน Gen Z ร้อยละ 53.2 เห็นควรยกเลิกข้อห้ามขายเหล้าเบียร์ในวันพระ แนะควรเน้นให้คนตระหนักถึงผล มากกว่าการบังคับ เหน็บถ้าอยากเน้นเรื่องศีลธรรมชวนคนเข้าวัดดีกว่า แถมเหลื่อมล้ำเพราะคงขายได้ในโรงแรมและร้านปลอดภาษีในสนามบินนานาชาติ

วันที่ 12 ธันวาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์” โดยดร.ธำรงศักดิ์ เป็นรองศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต ได้ทำวิจัยส่วนบุคคล โดยใช้คำถามวิจัยว่า “ท่านคิดว่า วันพระสำคัญของศาสนาพุทธ ควรยังต้องมี หรือควรยกเลิก ข้อห้ามการขายเหล้าเบียร์ของประชาชนทั้งประเทศ”

งานวิจัยดังกล่าว เก็บข้อมูลแบบสอบถามจากคน Gen Z (ช่วงอายุ 18-25 ปี ทั้งประเทศมี 6.86 ล้านคน) ที่กำลังศึกษาระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ และทุกภาคของประเทศ จำนวน 412 คน เกี่ยวกับทัศนคติทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ผลการวิจัยพบว่า

1.คน Gen Z ส่วนใหญ่เห็นว่าควรยกเลิกข้อห้ามการขายเหล้าเบียร์ ร้อยละ 53.2 (219 คน) รองลงมาเห็นว่า ควรยังต้องมีข้อห้ามการขายเหล้าเบียร์ ร้อยละ 30.6 (126 คน) ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 16.2 (67 คน)

2. จากการเก็บข้อมูลเชิงลึก คน Gen Z ที่เห็นว่าควรยกเลิกข้อห้ามการขายเหล้าเบียร์ ให้เหตุผลว่า ทำให้แม่ค้าร้านอาหารขาดรายได้, การขายเหล้าเบียร์ไม่ใช่เรื่องที่ผิด, การขายเหล้าเบียร์เป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ, การขายเหล้าเบียร์เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน, การขายเหล้าเบียร์ไม่เกี่ยวพันกับศาสนา, การดื่มเหล้าเบียร์เป็นสิทธิส่วนบุคคลของเรา, จะดื่มวันไหนก็เหมือนกัน, คนซื้อไว้ก่อนแล้ว, ควรเน้นให้คนตระหนักถึงผล มากกว่ามาบังคับ, กฎหมายไม่ดี ทำให้คนต้องทำผิดกฎหมาย, ถ้าอยากเน้นเรื่องศีลธรรมก็ชวนคนไปเข้าวัดดีกว่า, ถ้าจะรักษาศีล ก็ทำไป เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล, ประเทศไทยเป็นรัฐฆราวาส ไม่ใช่รัฐศาสนา

สำหรับคำอธิบายที่ให้ซ้ำกันมากที่สุด คือ ประเทศไทยยังมีคนศาสนาอื่น ๆ และมีคนที่ไม่ได้มีศาสนา

คน Gen Z ที่เห็นว่าควรยังต้องมีข้อห้ามการขายเหล้าเบียร์ ให้เหตุผล ดังนี้

ขัดกับหลักพุทธศาสนา, การดื่มเหล้าเบียร์ทำให้ผู้คนขาดสติกัน, หยุดกินเหล้าเบียร์ทุกวันพระอาจจะทำให้สุขภาพแข็งแรงไปได้นาน ๆ, หยุดกินเหล้าหนึ่งวัน อาจจะดูไม่มีประโยชน์อะไรมาก แต่มันดูถึงว่า เราให้ความสำคัญกับพุทธศาสนาของเรา, ไม่เหมาะสมที่จะขายเหล้าเบียร์วันพระ, การเมาทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทกันได้, คงเป็นแนวคิดอยากให้คนไทยดื่มน้อยลง, เอาเวลาดื่มเหล้าเบียร์ไปออกกำลังกายดีกว่า

3. ประวัติศาสตร์ข้อห้ามเวลาขายเหล้าเบียร์ เกิดจากรัฐประหารปี 2514 ของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ข้าราชการกระทรวงต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดต่างอำเภอ กินอาหารกินเหล้าติดลมกันยาวไม่กลับไปทำงาน

เปิดที่มาข้อห้ามขายวันพระ

จึงมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2515 กำหนดเวลาซื้อขายเหล้าเบียร์ได้เวลา 11.00-14.00 และ 17.00-24.00 น. แต่จะนำการบังคับเวลาซื้อขายนี้มาใช้อย่างจริงจังเมื่อสิบกว่าปีมานี้เมื่อมีร้านสะดวกซื้อแพร่ไปทั่วประเทศ และสอดรับกับการบังคับห้ามซื้อขายเหล้าเบียร์วันพระที่มีเพิ่มขึ้น

4. ประวัติศาสตร์การห้ามขายจ่ายแจกเหล้าเบียร์วันพระ เกิดจากการรัฐประหาร 2549 โดยรัฐบาลสืบเนื่องรัฐประหารได้ออก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 13 กุมภาพันธ์ 2551

โดยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี (รัฐบาลเลือกตั้งชุดใหม่ได้มีการแต่งตั้งให้นายสมัคร สุนทรเวชเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ 29 มกราคม 2551 และได้ประกาศแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีแล้ววันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 แต่ยังไม่ได้เข้าบริหารประเทศ)

ต่อมา รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องกำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2552 ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 3 กรกฎาคม 2552 ระบุ “ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬบูชา และวันเข้าพรรษา” มีประกาศอีกฉบับในวันต่อมา วันที่ 4 กรกฎาคม เพิ่มคำว่า “ยกเว้นการขายในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม”

รัฐประหาร 2557 ทำให้มีการขยายวันห้ามการขายจ่ายแจกเหล้าเบียร์โดยเพิ่มวันออกพรรษาอีก 1 วัน และให้ยกเว้นการขายได้เฉพาะร้านปลอดอากรภายในสนามบินนานาชาติ (ประกาศ 18 กุมภาพันธ์ 2558 ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา)

สรุป ประวัติศาสตร์การห้ามซื้อขายจ่ายแจกเหล้าเบียร์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เกิดจากการรัฐประหารปี 2514 รัฐประหารปี 2549 และรัฐประหารปี 2557 แต่ยังคงขายเหล้าเบียร์แอลกอฮอล์ได้ในโรงแรมทั้งประเทศและร้านปลอดภาษีในสนามบินนานาชาติ

5. ควรมีการศึกษาทัศนคติประชาชนทั้งประเทศถึงข้อห้ามการขายเหล้าเบียร์ในวันพระว่าเห็นด้วยที่ยังต้องมีหรือควรต้องยกเลิก และศึกษาทัศนคติของผู้ค้าร้านอาหารประเภทต่าง ๆ และผลกระทบที่มีต่อการทำธุรกิจร้านอาหารในรอบกว่าทศวรรษที่ผ่านมา
ข้อมูลพื้นฐาน

งานวิจัยทัศนคติของคน Gen Z ต่อ 5 ประเด็นคำถามเกี่ยวกับสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 4-11 พฤศจิกายน 2565

โดยเก็บจากมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ภาคกลางที่ปทุมธานี นครปฐม ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา ภาคเหนือที่พิษณุโลก เชียงใหม่ พะเยา เชียงราย ลำปาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สกลนคร ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ ชัยภูมิ เลย อุดรธานี ภาคใต้ที่นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎณ์ธานี ภูเก็ต ยะลา นราธิวาส ปัตตานี รวม 24 จังหวัด รวม 31 สถาบันอุดมศึกษา รวม 412 คน เพศของผู้ตอบแบบสอบถาม : หญิง 249 คน (60.4%) ชาย 122 คน (29.6%) เพศหลากหลาย 41 คน (10.0%)

โรงเรียนที่ท่านจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากเขตภูมิภาคใด : กรุงเทพฯ 91 คน (22.1%) ภาคกลาง 128 คน (31.1%) ภาคเหนือ 35 คน (8.5%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 111 คน (26.9%) ภาคใต้ 47 คน (11.4%)

อายุของผู้ตอบแบบสอบถาม อายุ 18 ปี 102 คน (24.8%) อายุ 19 ปี 129 คน (31.3%) อายุ 20 ปี 67 คน (16.3%) อายุ 21 ปี 50 คน (12.1%) อายุ 22 ปี 28 คน (6.8%) อายุ 23 ปี 15 คน (3.6%) อายุ 24 ปี 11 คน (2.7%) อายุ 25 ปี 10 คน (2.4%)

หมายเหตุ –
1. งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยส่วนบุคคล ทัศนะจากงานวิจัยไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษาใด ๆ ทั้งสิ้น และขอบคุณเพื่อนอาจารย์และนักศึกษาทุกสถาบันเป็นอย่างสูงที่ช่วยเหลือในการวิจัยครั้งนี้

2. สื่อสามารถนำทั้งหมดหรือบางส่วนไปเผยแพร่ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ทั้งนี้ขอระบุที่มาว่า “อาจารย์ธำรงศักดิ์โพล”

ภาพจาก บัญชีเฟสบุ๊ค ชื่อ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
ภาพจาก บัญชีเฟซบุ๊ก ชื่อ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์