เปิดผลสอบป้าย 33 ล้านสถานีกลาง โยน ร.ฟ.ท. ตัดสินปมจัดซื้อจัดจ้าง

สรพงศ์ ไพทูรย์พงษ์

เปิดผลการพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบ “ป้าย 33 ล้าน” ตั้งข้อสังเกตปมจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง แนะเปิดประมูลโดยทั่วไป

วันที่ 24 มกราคม 2566 นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง และประธานคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยถึงผลการตรวจสอบของคณะกรรมการชุดดังกล่าวว่า

ภายหลังการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว มีประเด็นที่จะต้องตรวจสอบในรายละเอียด 2 ประเด็น คือประเด็นความเหมาะสมของขอบเขตงานและราคากลาง

แนะคงป้าย “สถานีกลาง” ช่วยประหยัดงบฯ

โดยมีผลการตรวจสอบในประเด็นนี้ คือ ไม่พบการดำเนินการที่เชื่อได้ว่า ร.ฟ.ท. ดำเนินการ นอกเหนือจากขอบเขตงานแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นไปตามรายละเอียดของงานติดตั้งป้ายเดิม ที่ ร.ฟ.ท.ได้รายงานว่ามีการตรวจสอบและรับรองทางวิศวกรรม รวมทั้งมีการติดตั้งไปแล้ว

ซึ่งปรากฏว่า มีความปลอดภัยและแข็งแรงตามมาตรฐาน ดังนั้น การกำหนดขอบเขตการดำเนินการ และการกำหนดราคากลางของ ร.ฟ.ท. ของการดำเนินโครงการครั้งนี้ เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพที่สามารถตรวจสอบได้

แต่คณะกรรมการตรวจสอบได้พิจารณาให้ข้อเสนอแนะแก่ทาง ร.ฟ.ท. ดังต่อไปนี้

  1. ร.ฟ.ท. อาจทบทวนรายละเอียดทั้งในส่วนของวัสดุ เทคนิค ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทำให้การออกแบบ เลือกใช้วัสดุ และวิธีการจัดทำ และติดตั้งป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อในครั้งนี้มีประสิทธิภาพสูงกว่า หรือมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการจัดทำ เทียบกับติดตั้งป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อในครั้งก่อน ทบทวนค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน และจำนวนและเวลาที่ใช้งานของกระเช้าอีกครั้ง
  2. ร.ฟ.ท. อาจพิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้ตัวอักษรเดิม “สถานีกลาง” ที่ติดตั้งอยู่ในปัจจุบัน มาปรับปรุงเพื่อใช้ติดตั้งแทนที่จะทำขึ้นใหม่ทั้งหมด เนื่องจากตัวอักษรยังอยู่ในสภาพยังดี และสามารถนำมาปรับปรุงเหมือนกับตัวอักษรใหม่ได้
  3. ร.ฟ.ท. อาจทบทวนค่างานออกแบบ ที่น่าจะสามารถกำหนดอัตราส่วนของราคางานได้ต่ำกว่างานปกติ เนื่องจากเป็นงานที่ได้ออกแบบไว้เดิมอยู่แล้ว รวมทั้งการทบทวนงานเผื่อเลือก (Provisional Sum) ที่อาจสามารถปรับลดได้ เช่น การทบทวนความจำเป็นที่จะต้องมีวัสดุมาปิดไว้ทดแทนกระจกในขณะที่มีการรื้อถอน เนื่องจากงานดำเนินการในช่วงฤดูหนาว และอาคารสถานีบางส่วนเป็นพื้นที่ที่ไม่มีกระจกอยู่แล้ว เป็นต้น

ความถูกต้องของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง

นายสรพงศ์กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงในครั้งนี้ ร.ฟ.ท. ได้อ้างเหตุผลของการจ้างด้วยเหตุตามนัยมาตรา 56 (2) (ค) แห่ง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดไว้

ว่าเป็น “การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีผู้ประกอบการซึ่งมีคุณสมบัติโดยตรงเพียงรายเดียว หรือการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุจากผู้ประกอบการซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายหรือตัวแทนผู้ให้บริการโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงรายเดียวในประเทศไทยและไม่มีพัสดุอื่นที่จะใช้ทดแทนได้”

ทางคณะคณะกรรมการ พิจารณาตรวจสอบว่าการจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงของ ร.ฟ.ท. เป็นไปตามเหตุผล และหลักการของมาตรา 56 (2) (ค) แห่ง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 หรือไม่ ซึ่งมีผลการตรวจสอบสรุปได้ คือ

คณะกรรมการเห็นว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของ ร.ฟ.ท. ตามนัยมาตรา 56 (2) (ค) แห่ง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 แม้จะเป็นการใช้ดุลพินิจตีความระเบียบกฎหมายในกรอบอำนาจหน้าที่โดยอาศัยเหตุและผลความจำเป็นตามที่เข้าใจ และ ร.ฟ.ท. ได้ชี้แจงมาข้างต้น ไม่ว่าจะถูกต้องหรือไม่ก็ตาม ก็สมควรหารือผู้เชี่ยวชาญด้านพัสดุกรมบัญชีกลางให้ชัดเจน

นอกจากนี้ ร.ฟ.ท. ควรศึกษาทบทวนวิธีการจัดซื้อจัดจ้างให้เหมาะสม รอบคอบ และสอดคล้อง กับ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 โดยอาจพิจารณาแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างตามหลักการของกฎหมาย ที่เห็นควรให้ใช้วิธีการพิจารณาเลือกใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปเป็นลำดับแรกก่อน เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเปิดกว้าง ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นถึงความโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นที่ยอมรับของประชาชน

นอกจากนี้ เห็นควรให้ ร.ฟ.ท.พิจารณาทบทวนตรวจสอบกระบวนการสืบราคาให้เกิดความครบถ้วนชัดเจน และดำเนินการให้สอดคล้องกับคู่มือแนวทางการประกาศรายละเอียดข้อมูลราคากลางและการคำนวณราคากลางเกี่ยวกับการขอจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ ตามหนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค 0433.2/ว 206 ลงวันที่ 1 พ.ค. 2562 ตามขั้นตอนต่อไป

โดยภายหลังการแถลงดังกล่าว นายสรพงศ์ได้ตอบข้อซักถามของสื่อมวลชน ในประเด็นถึงความผูกพันของผลการพิจารณาของคณะกรรมการชุดดังกล่าวต่อการดำเนินการของการรถไฟแห่งประเทศไทย ว่า ผลการตรวจสอบดังกล่าวไม่มีข้อผูกพันต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย ดังนั้นการพิจารณาว่าจะมีการดำเนินการต่อหรือไม่ ของการรถไฟแห่งประเทศไทยนั้นเป็นอำนาจของการรถไฟแห่งประเทศไทย

สำหรับประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงที่ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยเคยอ้างว่าเป็นไปตามคำสั่งเร่งรัดของกระทรวงคมนาคมนั้น นายสรพงศ์กล่าวว่า คำสั่งเร่งรัดของหน่วยงานราชการนั้น คือคำสั่งที่เร่งให้มีการดำเนินการตามระเบียบ กฎหมาย และธรรมาภิบาล จึงไม่สามารถใช้อ้างถึงการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงได้

ในส่วนของการดำเนินการลำดับต่อไปของการรถไฟแห่งประเทศไทย จะต้องเป็นไปตามดุลพินิจของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงที่เห็นควรจะต้องมีการส่งเรื่องให้กรมบัญชีกลางวินิจฉัย โดยคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

โดยสำหรับประเด็นการตั้งข้อสังเกตถึงเหตุผลว่าทำไมถึงไม่เว้นป้ายชื่อไว้เพื่อรอชื่อของสถานีอย่างเป็นทางการนั้น นายสรพงศ์ปฏิเสธให้ความเห็น