ทำความรู้จัก “ไข้เลือดออกอีโบลา” โรคระบาดร้าย อันตรายถึงชีวิต

ยุง ยุงลาย ไข้เลือดออก
ภาพจาก Pixabay

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พาไปทำความรู้จัก “ไข้เลือดออกอีโบลา” โรคระบาดร้าย อันตรายถึงชีวิต พร้อมแนะสังเกตอาการเสี่ยง

วันที่ 12 กันยายน 2566 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายเรื่อง โรคไข้เลือดออกอีโบลา เกิดจากการติดเชื้อ “ไวรัสอีโบลา” อยู่ในตระกูล Filoviridae ซึ่งในปัจจุบันไวรัสในกลุ่มอีโบลา แบ่งออกได้เป็น 6 สปีชีส์ ได้แก่ Bombaliebolavirus, Bundibugyoebolavirus, Reston ebolavirus, Sudan ebolavirus, Tai Forest ebolavirus และ Zaire ebolavirus

โดยพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 50-90 โดยสายพันธุ์ Reston ebolavirus มีรายงานพบในประเทศฟิลิปปินส์ ทำให้เกิดโรครุนแรงในลิง พบการติดต่อสู่คนโดยการสัมผัสโดยตรงกับเลือดหรือเครื่องในของลิงที่ติดเชื้อ

สำหรับ “อีโบลา” จัดเป็นโรคประจำถิ่นในทวีปแอฟริกา มักพบการระบาดในประเทศคองโก ยูกันดา และกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันตก โดยเชื้ออีโบลา จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของเชื้อกลุ่มที่ 4 ซึ่งเป็นเชื้อที่มีความเสี่ยงสูงต่อบุคคลและชุมชน ก่อโรคร้ายแรงในคนและสัตว์ที่สามารถแพร่ไปยังบุคคลอื่นหรือสัตว์อื่นโดยทางตรงหรือทางอ้อม และเป็นโรคที่ยังไม่มีวิธีการป้องกันหรือรักษาแบบได้ผล

ซึ่งการติดต่อของโรคนี้ สามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คน จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง และเนื้อเยื่อจากอวัยวะของผู้ป่วยที่แสดงอาการหรือผู้เสียชีวิต หรือจากการสัมผัสสิ่งของที่มีการปนเปื้อนสารคัดหลั่ง โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายผ่านเยื่อบุ เช่น ตา จมูก ปาก และผิวหนัง โดยผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ระยะเริ่มมีไข้ และตลอดระยะที่มีอาการ

สังเกตอาการเสี่ยงของโรคไข้เลือดออกอีโบลา

การติดเชื้อมีระยะฟักตัวตั้งแต่ 2-21 วัน พบได้ในทุกกลุ่มอายุ โดยอาการเบื้องต้น ได้แก่ มีไข้สูง รู้สึกอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ไอ เจ็บคอ ซึ่งรายที่มีอาการรุนแรงจะมีผื่นนูนแดงตามตัว

และมีอาการเลือดออกทั้งภายในและภายนอกร่างกาย มักพบภายใน 7 วันหลังจากเริ่มแสดงอาการ จะพบอาการที่ระบบประสาทส่วนกลาง และภาวะอวัยวะภายในล้มเหลว ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูงประมาณ 50-80%

ทั้งนี้ เมื่อพบผู้ป่วยสงสัยติดเชื้ออีโบลา ให้สถานพยาบาลแจ้งกับกองระบาดวิทยา หรือสำนักงาน ป้องกันและควบคุมโรค หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อดำเนินการสอบสวนโรคและวางแผนการเก็บตัวอย่าง สามารถเก็บสิ่งส่งตรวจได้หลังจากมีอาการ 3-10 วัน

การเก็บตัวอย่างและการนำส่งตัวอย่างต้องปฏิบัติตามหลักความปลอดภัยทางชีวภาพ และขนส่งแบบแช่เย็น (Ice Pack) โดยการประสานกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการรับตัวอย่างส่งตรวจ