คมนาคม เดินหน้าพัฒนาชายฝั่งทะเล บูมท่องเที่ยว-ขนส่ง EEC

คมนาคม เร่งเดินหน้าโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเล ผุดที่จอดเรือยอร์ชมารีน่า ท่าเรือสำราญกีฬา ถมทรายฟื้นฟูชายหาด บูมท่องเที่ยว-ขนส่ง EEC

วันที่ 26 มีนาคม 2565 นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาและบูรณาการแนวทางการพัฒนาการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ทางน้ำ ครั้งที่ 1/2565 โดยระบุว่า

ที่ผ่านมา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มีนโยบายสำคัญในการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และขยายขีดความสามารถด้านการขนส่งทางน้ำ ซึ่งเป็นรากฐานในการหนุนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค

ขณะที่กรมเจ้าท่าก็มีแผนดำเนินงานโครงการที่จอดยอร์ชมารีน่าร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถรองรับกลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการเดินทางด้วยเรือยอร์ช และมีกำลังการใช้จ่ายในด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาและบูรณาการแนวทาง การพัฒนาการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ทางน้ำ

โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานคณะกรรมการฯ ทำหน้าที่พิจารณาแนวทาง/แผนการพัฒนา Yacht Club/ Marina ระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมทั้งแผนการพัฒนาชายฝั่งทะเลเพื่อการท่องเที่ยว

แผนการเพิ่มศักยภาพ/บทบาทของกรมเจ้าท่า ในฐานะผู้ควบคุม (Regulator) การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่ล้าสมัย และบูรณาการแผนดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล

รวมทั้งการดำเนินงานด้านอื่น ๆ เช่น โลจิสติกส์ทางน้ำ การเชื่อมโยงชายฝั่งทะเล และท่าเรือต่าง ๆ ที่บูรณาการเพื่อตอบโจทย์การเชื่อมต่อระหว่างโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ไปยังภาคใต้ โดยใช้การขนส่งชายฝั่งแทนการขนส่งทางถนน และการเสริมทรายชายหาด เป็นต้น

ทั้งนี้ กรมเจ้าท่าได้รายงานข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งทางน้ำและสถานการณ์เรือท่องเที่ยวในปัจจุบัน รวมทั้งแนวคิดการพัฒนาโครงการบางเสร่โมเดล และแผนงานโครงการที่ขอรับการสนับสนุนในปี 2566 ได้แก่

1.โครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวและการขนส่งทางทะเล (Maritime Hub)

2.การพัฒนาท่าเรือชุมชน โครงการศึกษาวางแผนแม่บทเพื่อพัฒนาท่าเรือสำราญกีฬา (Marina) บริเวณชายฝั่งอ่าวไทย

3.การพัฒนาฟื้นฟูชายหาด (เสริมทราย) เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะและส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล

ได้ดำเนินการแล้วเสร็จที่ชายหาดพัทยา จังหวัดชลบุรี และอยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างจ้างเหมาเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ระยะที่ 1 มีความก้าวหน้าร้อยละ 34.33 กำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการเดือนพฤศจิกายน 2565

ส่วนโครงการศึกษาวางแผนแม่บทและสำรวจออกแบบเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะสนับสนุนการท่องเที่ยวชายหาดชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มีความก้าวหน้าร้อยละ 59.80 กำหนดแล้วเสร็จเดือนพฤศจิกายน 2565

ด้านโครงการศึกษาวางแผนแม่บทและสำรวจออกแบบเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะสนับสนุนการท่องเที่ยวบริเวณเขาหลักถึงแหลมปะการัง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา มีความก้าวหน้าร้อยละ 51.95 กำหนดแล้วเสร็จเดือนพฤศจิกายน 2565

อย่างไรก็ตาม กรมเจ้าท่ามีโครงการที่ขอรับงบประมาณในปี 2566 – 2567 ได้แก่ โครงการเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ระยะที่ 2

โครงการเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะสนับสนุนการท่องเที่ยว ชายหาดบางแสน ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ระยะที่ 1

และโครงการเสริมทรายชายหาดหัวหิน ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ซึ่งปลัดกระทรวงคมนาคมได้มอบให้ฝ่ายเลขาประสานข้อมูลเพิ่มเติมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางในการประชุมคราวต่อไป