ลิขสิทธิ์บอลโลกอลหม่าน แห่ต้าน กสทช.ควักเงินซื้อ

บอลโลก

อลหม่านลิขสิทธิ์บอลโลก วัดใจ “กสทช.” ฝ่ากระแสค้านควักเงินกว่า 1,600 ล้านบาท สนับสนุน “กกท.” จ่ายค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดบอลโลกที่กาตาร์ ฟากนักวิชาการนิเทศศาสตร์ล่ารายชื่อรวมพลังค้าน ยกเคส “สิงคโปร์” เทียบชัดใช้เงินผิดวัตถุประสงค์กองทุน ฟากเอกชนกระทุ้ง แก้กฎ must have ปลดล็อกตัวเอง

นับถอยหลังอีกไม่กี่วัน การแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย (ฟีฟ่า เวิลด์คัพ กาตาร์ 2022) ระหว่างวันที่ 20 พ.ย.-18 ธ.ค. 2565 ก็จะเริ่มต้นขึ้น แต่การซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดในประเทศไทยยังไม่เรียบร้อย โดยทางการกีฬาแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้ทำหนังสือถึง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณเป็นเงิน 1,600 ล้านบาท จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)

ชงบอร์ด กสทช.เคาะ

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมบอร์ด กสทช. วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 นี้ จะมีวาระการพิจารณาการจัดสรรเงินอุดหนุนให้กับการกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ในวงเงิน 1,600 ล้านบาท จากกองทุน กทปส. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการ USO (Universal Service Obligation) ด้านกิจการกระจายเสียง ซึ่งมีอยู่ 900 ล้านบาท ขณะที่เงินกองทุน กทปส. ทั้งหมดในขณะนี้เหลืออยู่กว่า 2,000 ล้านบาท

“ถ้าเป็นการใช้งานตามวัตถุประสงค์ที่ระบุในมาตรา 52 (1) ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2553 คือ ให้เกิดการเผยแพร่เนื้อหาอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม ซึ่งเราต้องมองให้ชัดว่าการใช้เพื่อให้ผู้ด้อยโอกาสได้เข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง ในกรณีนี้ผู้ด้อยโอกาสสำหรับกองทุน USO ย่อมไม่ได้หมายถึงแค่คนพิการ แต่ยังรวมถึงคนจน คนที่อยากดูเนื้อหาแต่ไม่สามารถเข้าถึงได้ อย่างไรก็ตาม การอนุมัติให้ใช้ว่าจะใช้วงเงินเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ ซึ่งเงินในกองทุนสามารถบริหารจัดการหรือถัวเฉลี่ยได้”

จุดเริ่ม must have-must carry

นายไตรรัตน์ยังกล่าวถึงสาเหตุที่ กสทช. ได้เริ่มเข้ามาอุดหนุนการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดรายการกีฬาด้วยว่า เริ่มต้นเมื่อ 10 ปีก่อน ในขณะนั้นมีเอกชนประมูลลิขสิทธิ์มาโดยมาออกอากาศผ่านกล่องรับสัญญาณทีวี ซึ่งบอร์ด กสทช.ขณะนั้นเห็นว่าควรที่ทุกคนจะได้ดูอย่างทั่วถึงจึงมีการออกประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สําคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 หรือที่คนในวงการโทรทัศน์เรียกว่า “must have” เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการโทรทัศน์ที่มีคุณภาพอย่างเป็นธรรม และเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป

โดยให้ 7 รายการถ่ายทอดสดกีฬาสำคัญ เป็นรายการโทรทัศน์ที่ให้บริการแก่ประชาชนได้ภายใต้การให้บริการฟรีทีวีเท่านั้น ประกอบด้วยกีฬาซีเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์, เอเชี่ยนเกมส์, เอเชี่ยนพาราเกมส์, โอลิมปิกเกมส์, พาราลิมปิกเกมส์ และฟุตบอลโลก

นอกจากกฎ must have แล้ว กสทช.ยังได้ออกหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป หรือที่เรียกว่า “must carry” ที่บังคับให้แพลตฟอร์มบริการโทรทัศน์ทุกรายที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. นำช่องฟรีทีวี ไปออกอากาศในทุกช่องทาง

“เมื่อมีกฎ must carry ที่บังคับให้ฉายกีฬาตามกฎ must have ทุกช่องทาง ทำให้เอกชนไม่กล้าเข้ามาประมูลลิขสิทธิ์กีฬา จากจุดนั้นจึงมีการร้องขอให้ กสทช. เข้าไปสนับสนุนมหกรรมกีฬาใหญ่ ๆ เช่น โอลิมปิก 2020 และโอลิมปิก 2022 ที่เพิ่งผ่านมา ในวงเงิน 240 ล้านบาท กรณีบอลโลก เราไม่คิดมาก่อนว่าจะมีการขอสนับสนุนจากการกีฬาแห่งประเทศไทย แต่ก็เข้าใจทำไมถึงขอ ก็เพราะจากกฎระเบียบของเราเอง”

นักวิชาการสื่อออกโรงต้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในวันนี้ (8 พ.ย. 2565) กลุ่มนักวิชาการด้านวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนกว่า 20 คน ได้ลงชื่อร่วมกันในแถลงการณ์คัดค้านการนำเงินกองทุน กทปส. ไปใช้ในการสนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก

โดย รศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การนำเงินกองทุน กทปส.ไปใช้ในการอุดหนุนค่าลิขสิทธิ์บอลโลกเป็นการใช้เงินขัดต่อวัตถุประสงค์

และมีโอกาสที่จะกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงการวิจัยและพัฒนาด้านการสื่อสารของประเทศ และการพิจารณาว่าการเผยแพร่กีฬาฟุตบอลโลกอย่างทั่วถึงเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ กองทุน กทปส. หรือแม้กระทั่งโครงการ USO นั้น ไม่สามารถนำมาเทียบกับกีฬาโอลิมปิกได้ เนื่องจากฟุตบอลโลกเป็นรายการเฉพาะกลุ่ม ไม่ได้เป็นกีฬาที่มีนักกีฬาไทยเข้าร่วม

“กรณีนี้ที่สิงคโปร์ เคยมีการถกเถียงกันว่าจะนำเงินจากกองทุนโทรคมนาคมมาอุดหนุนฟุตบอลโลกได้ไหม ปรากฏว่าใช้ไม่ได้ เพราะขัดวัตถุประสงค์ แต่สำหรับแมตช์สำคัญที่ฉายตามฟรีทีวี ก็มีกฎให้ต้องมีเหมือนกัน แต่ให้ครบทุกแมตช์นั้น คนที่ชื่นชอบจำเป็นต้องจ่ายเงินเพิ่ม”

900 ล้านหายทั้งบัญชี

รศ.ดร.มรรยาทยังระบุอีกด้วยว่า การที่ กสทช.บอกว่าจะนำเงิน USO มาใช้นั้น อยากให้คำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ โดยเฉพาะเงินกองทุนนั้นแบ่งเป็นสองส่วน ด้านโทรคมนาคมเราก็ยังไม่สามารถกระจายโครงข่ายได้ 100% เพื่อให้เข้าถึงทุกอย่างเท่าเทียมทุกพื้นที่ อย่างช่วงที่เด็กห่างไกลต้องเรียนออนไลน์ก็ประสบปัญหา หรือด้านกระจายเสียงที่กลุ่มผู้พิการก็ยังไม่มีช่องสื่อสารของตัวเอง เป็นต้น

“การวิจัยและพัฒนาตามแผน USO นั้นเกิดความชะงักอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจาก กสทช.ชุดก่อนมีช่วงรักษาการที่ยาวนาน”

รศ.ดร.มรรยาทจึงเห็นว่าการใช้เงิน USO ที่เหลืออยู่ 900 ล้านบาทนี้ไปซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกที่อาจใช้เงินถึง 1,600 ล้านบาท คือการดึงเงินทั้งบัญชี ซึ่งจะกระทบกับการพัฒนาโอกาสในการเข้าถึงบริการของกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคมอย่างกว้างขวาง เกิดการหยุดชะงักของการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรการสื่อสาร

รศ.ดร.มรรยาทยังกล่าวอีกด้วยว่า แม้เงินดังกล่าวจะไม่ได้เรียกเก็บจากประชาชนโดยตรง แต่ก็ถือเป็นเงินได้ของประเทศ ของภาครัฐ ซึ่งจะต้องนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่การบริการสาธารณะ

เปิดข้อมูลกองทุน กทปส.ปี 2564

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลผลการจัดสรรเงินของกองทุน กทปส. ในปีที่ผ่านมาพบว่ามีการพิจารณาจัดสรรกว่า 1.3 พันล้านบาท โดยแบ่งเป็น ทุนประเภทที่ 1 เพื่อสนับสนุนโครงการที่ดำเนินงาน ตามมาตรา 52 (1) (2) (3) ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ 2553 มีการพิจารณาจัดสรร 33 โครงการ รวม 211,481,661.26 บาท

ทุนประเภทที่ 2 ทุนมุ่งเน้นการบรรลุความสำเร็จตามนโยบายของคณะกรรมการบริหารกองทุน โดยแบ่งเป็น ภารกิจด้านกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์, ภารกิจด้านกิจการโทรคมนาคม, ภารกิจด้านบริหารคลื่นความถี่และภูมิภาค, ภารกิจด้านการวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งสนับสนุนเพื่อให้บรรลุตามมาตรา 52 (1) (2) (3) และ (4) ด้วย

มีการพิจารณาจัดสรร 25 โครงการ รวม 466,000,000 บาท ทุนประเภทที่ 3 เป็นการให้ทุนตามนโยบายของ กสทช. ตามที่กฎหมายกำหนด มีการพิจารณาจัดสรร 1 โครงการ รวม 150,000,000 บาท

ทุนประเภทที่ 4 เป็นการให้ทุนในการส่งเสริมและสนับสนุนให้กับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เป็นประจำทุกปี รวม 500,000,000 บาทรวมทั้งสิ้น 1,327,481,661.26 บาท

อย่างไรก็ตาม จากรายงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า ค่าใช้จ่าย 1.ส่งเสริมและสนับสนุนตามภารกิจของกองทุน กปทส. รวมทั้งสิ้น 1,097.16 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายตามแผนจัดให้มีบริการทั่วถึง (USO) 263 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายทั่วไป 141 ล้านบาท รวมค่าใช้จ่ายปี 2564 อยู่ที่ 3,095 ล้านบาท

“วงใน” แนะแก้กฎ must have

แหล่งข่าวในธุรกิจวิทยุโทรทัศน์เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ด้วยว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจาก กฎ must have ของ กสทช.ที่ระบุให้มีกีฬา 7 ประเภทต้องนำไปออกอากาศผ่านฟรีทีวีให้ประชาชนดูฟรี จึงไม่จูงใจให้เอกชนไปประมูลซื้อลิขสิทธิ์เพื่อนำมาออกอากาศ เนื่องจากการซื้อลิขสิทธิ์มีค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงต้องหาสปอนเซอร์รายใหญ่สนับสนุนจำนวนหลายรายจึงจะคุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนไป ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ก็ยิ่งหาเงินสนับสนุนด้วยยากมาก ยิ่งมีกฎบังคับก็ยิ่งไม่จูงใจที่จะไปซื้อลิขสิทธิ์ จึงควรมีการปรับแก้กฎดังกล่าว