ปฏิเสธไม่ได้ว่า “เทคโนโลยี” กลายเป็นทางรอดและทางหลักของการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน โดยมีการระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว เรียนรู้การใช้เครื่องมือมากมาย เพื่อเอาตัวรอดมาสู่การปลดล็อกศักยภาพธุรกิจ และการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ แต่ “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น” ยังคงเป็นความท้าทายของทุกองค์กร
“พชร อารยะการกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บลูบิค กรุ๊ป กล่าวว่า โควิด-19 เป็นตัวแปรสำคัญทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ปรับตัวนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ โดยกลุ่มที่มาแรงมาก ๆ อย่างค้าปลีกและการผลิต จากที่ผ่านมามักจะนึกถึงภาคการเงิน เพราะมีความโดดเด่นในเรื่องการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น
“ดิจิทัล” ไม่ใช่ทางเลือก
ปัจจุบันกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ FMCG (fast moving consumer goods) รู้แล้วว่าถ้าไม่มีช่องทางดิจิทัลจะเข้าถึงลูกค้าลำบาก เห็นได้ชัดในช่วงโควิดที่ลูกค้าออกจากบ้านไม่ได้ ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคเองก็เปลี่ยนไป ถ้าไม่ปรับตัวก็จะไม่สามารถเข้าใจความต้องการของลูกค้า ไม่มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ
ถ้าจะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง AI มาเสริมก็ทำได้ยาก เพราะไม่มีพื้นฐานอะไรมาก่อน เมื่อธุรกิจค้าปลีกเริ่มปรับตัว ภาคการผลิตที่เป็นต้นน้ำก็ต้องตัดสินใจให้เร็ว ซึ่ง “ดิจิทัล” นอกจากจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยจัดการความสัมพันธ์ระหว่างดีมานด์กับซัพพลายได้แล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน
“การทำธุรกิจในปัจจุบันที่ทุกอย่างขับเคลื่อนบนโลกดิจิทัล ไม่ได้มีแค่คู่แข่งในประเทศอีกต่อไป แต่คู่แข่งจากต่างประเทศพร้อมเข้ามาชิงส่วนแบ่งรายได้เสมอ ยุคดิจิทัลเราสามารถใช้บริการจากต่างประเทศได้ง่ายดาย เช่น ทุกวันนี้ไม่ได้ดูทีวีไทย เพราะมีแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง หรือธุรกิจค้าปลีก เวลาสั่งของผ่านอีคอมเมิร์ซ สินค้าต้นทางมาจากจีน ยิ่งตอนนี้เพดานภาษีระหว่างประเทศต่ำมาก ราคาของจึงยิ่งถูก นี่คือภัยคุกคามที่ผู้ประกอบการต้องตื่นตัว และหาทางเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน”
“พชร” กล่าวว่า แม้หลายองค์กรจะเห็นถึงความสำคัญของการใช้เครื่องมือดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจ แต่สัดส่วนระหว่างองค์กรที่ยังไม่ปรับตัวกับองค์กรที่ปรับตัวไปแล้วมากถึงครึ่งต่อครึ่ง
โชว์จุดแข็งเข้าใจลูกค้า
“อุปสรรคใหญ่ที่มีผลต่อการทรานส์ฟอร์มองค์กร คือความรู้ความเข้าใจของคน ความคุ้นชินกับการทำงานแบบเดิม ๆ และความชะล่าใจที่คิดว่าองค์กรยังไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการก้าวไปสู่โลกดิจิทัลต้องใช้เงินทุนในการวางโครงสร้างต่าง ๆ ทำให้ผลประกอบการในระยะสั้นอาจไม่สวยงาม แต่คนที่เข้าใจจะมองระยะยาว และกล้าโยกเงินลงทุนมาที่ฝั่งดิจิทัลแทน”
ความไม่เข้าใจเกี่ยวกับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นเปรียบได้กับ “เส้นผมบังภูเขาในองค์กร” และ “บลูบิค” มีหน้าที่ศึกษาความต้องการของลูกค้า และให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เพื่อเป็นส่วนที่ช่วยให้องค์กรปรับตัวและนำเทคโนโลยีมาใช้ได้
“เราไม่ได้มองเรื่องเทคโนโลยีเป็นหลัก แต่จะมองธุรกิจก่อน เพราะเวลาเข้าไปช่วยลูกค้า จะให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์ และสื่อสารให้เข้าใจถึงผลกระทบเชิงธุรกิจกับที่ต้องแลกกับเงินลงทุน จากนั้นจึงช่วยแก้ปัญหา และแนะนำแนวทางการลงทุน หรือการใช้โซลูชั่นใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้ลูกค้าไปถึงผลลัพธ์ที่ต้องการได้”
“พชร” กล่าวด้วยว่า ธุรกิจที่ปรึกษาด้านดิจิทัลมีการแข่งขันกันอย่างเต็มที่และหนักหน่วง เพราะคู่แข่งเป็นบริษัทต่างชาติที่อยู่มานาน ทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่น ขณะที่บลูบิคมีจุดแข็งในเรื่อง local context เข้าใจความต้องการขององค์กรไทยได้ดีกว่า จึงใช้ข้อได้เปรียบนี้ต่อยอดเป็นโซลูชั่นใหม่ ๆ ที่ต่างจากคู่แข่ง
อัพสปีดธุรกิจ ตปท.
“ในเชิงบุคลากรไม่ได้ต่างกันมาก บุคลากรของเราส่วนใหญ่ก็มาจากบริษัทต่างชาติ แม้จะเล็กกว่า แต่ในหลาย ๆ ส่วนทำได้ดีกว่า มีองค์ความรู้มากกว่า และลงทุนกับบางเรื่องมากกว่า เช่น พัฒนาโซลูชั่นใหม่ LISMA X ที่ร่วมกับไมโครซอฟท์ยกระบบ SAP ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์การวางแผนทรัพยากรองค์กรมาไว้บนมือถือ เพราะถ้าเราลงทุนกับระบบ SAP 40-50 ล้านบาท แต่ลูกค้ายังจดใส่กระดาษเหมือนเดิมก็เป็นการลงทุนที่สูญเปล่า จึงพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้งานสะดวกและปลอดภัยขึ้น เพื่อให้เกิดอิมแพ็กต์จริง ๆ”
สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรก/2566 บมจ.บลูบิค กรุ๊ป มีรายได้รวม 607 ล้านบาท กำไรสุทธิ 137 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 149% และ 123% ตามลำดับ
“พชร” กล่าวด้วยว่า บริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นการเติบโตแบบ organic growth ซึ่งปีนี้จะเน้นไปที่การเติบโตในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้ขยับขยายธุรกิจ และตั้งออฟฟิศที่อินเดีย เวียดนาม และอังกฤษ โดยรายได้จากต่างประเทศมีสัดส่วนในรายได้รวมที่ 10-15% เชื่อว่าในอนาคตมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก
ส่วนการเติบโตแบบ inorganic มาจากควบรวมและซื้อกิจการ (M&A : merger & acquisition) โดยยังค้นหาบริษัทที่มีความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กันและกันเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มโอกาสในการบริการลูกค้าด้วยโซลูชั่นที่ครบวงจรมากขึ้น และสร้างความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ทั้งลูกค้าและพันธมิตรด้านอื่น ๆ เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ที่ใช้ความเชี่ยวชาญของทั้งสองฝ่าย
เช่น มีพาร์ตเนอร์เก่งเรื่องค้าปลีก ขณะที่บริษัทมีอีโคซิสเต็มด้านเทคโนโลยี จึงพัฒนาเป็น retail tech ร่วมกัน จากที่ก่อนหน้านี้ร่วมกับ บมจ.ปตท. น้ำมัน และการค้าปลีก หรือ OR เปิด “Orbit Digital” บริษัทที่พัฒนา และผลักดันโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล และเทคโนโลยีของ OR เป็นต้น