ทำไมอัลบั้ม K-Pop ยังขายดี ในยุคที่สตรีมมิ่งรุ่งเรือง

kpop-album-music-streaming
ANTHONY WALLACE / AFP

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนมาไขข้อสงสัยว่า ทำไมยอดขายอัลบั้ม K-Pop ยังโตวันโตคืน ท่ามกลางความรุ่งเรืองของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งในปัจจุบัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการฟังเพลงผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ไม่ว่าจะเป็นสปอติฟาย (Spotify), แอปเปิล มิวสิก (Apple Music), ซาวน์คลาวด์ (Soundcloud) และอื่น ๆ จะเป็นพฤติกรรมการฟังเพลงหลักของผู้คนในยุคปัจจุบัน และทำให้การฟังเพลงจากเครื่องเล่นซีดี รวมถึงการเลือกซื้ออัลบั้มของศิลปินคนโปรดตามร้านขายซีดีได้รับความนิยมลดลง

แต่เมื่อตัดภาพไปที่อุตสาหกรรมเคป๊อป (K-Pop) กลับพบว่าการซื้ออัลบั้มของศิลปินคนโปรดยังคงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในหมู่แฟนคลับ ไม่ว่าศิลปินจะคัมแบคหรือปล่อยผลงานออกมาให้แฟนคลับได้รับชมรับฟังเมื่อใด แฟนคลับก็พร้อมที่จะทุ่มเงินซัพพอร์ตและซื้ออัลบั้มเป็นจำนวนมาก ดังเห็นได้จากยอดขายอัลบั้มของศิลปินหลายวงที่ทะลุ 1 ล้านอัลบั้มในเวลาไม่นาน

รายงานข่าวจาก Kpop Charts เว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับยอดขายอัลบั้มและชาร์ตเพลงของวงการเคป๊อป เปิดเผยว่า อัลบั้มที่มียอดขายวันแรกสูงสุดบนเว็บไซต์ Hanteo แพลตฟอร์มจำหน่ายอัลบั้มรายใหญ่ของเกาหลีใต้ ณ วันที่ 23 ต.ค. 2566 เป็นดังนี้

  1. อัลบั้ม FML ของ SEVENTEEN ยอดขาย 3,998,373 ชุด
  2. อัลบั้ม SEVENTEENTH HEAVEN ของ SEVENTEEN ยอดขาย 3,136,757 ชุด (ยอดขายปัจจุบัน ณ วันที่ 27 ต.ค. 2566 อยู่ที่ 4,800,000 ชุด)
  3. อัลบั้ม MAP OF THE SOUL : 7 ของ BTS ยอดขาย 2,653,050 ชุด
  4. อัลบั้ม 5-STAR ของ Stray Kids ยอดขาย 2,392,664 ชุด
  5. อัลบั้ม PROOF ของ BTS ยอดขาย 2,155,363 ชุด

นอกจากนี้ สำนักข่าว The Korea Times ยังรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากกรมศุลกากรเกาหลีใต้ด้วยว่า การส่งออกอัลบั้มของวงการเคป๊อปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 132.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4,800 ล้านบาท) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น 17.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยอดขายอัลบั้มของวงการเคป๊อปยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง คือ “ความภักดี” ที่แฟนคลับมีต่อศิลปิน และการซื้ออัลบั้มก็เป็นหนึ่งในวิธีที่แสดงความภักดีต่อศิลปินง่ายที่สุด อีกทั้งแฟนคลับยังให้ความสำคัญกับยอดขายใน “สัปดาห์แรก” เพราะเป็นมาตรฐานของความนิยมของวงไอดอล และไม่ต้องการให้ศิลปินถูกมองว่าได้รับการสนับสนุนน้อยลง

ชิม เซนา (Sim Se-na) หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ Hanteo Global กล่าวกับสำนักข่าว Korea JoongAng Daily ว่า การซื้ออัลบั้มและการฟังเพลงผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง เป็นกิจกรรมที่แยกจากกันในเกาหลีใต้ ชาวเกาหลีส่วนใหญ่ฟังเพลงแบบดิจิทัลเช่นเดียวกับผู้คนในประเทศอื่น ๆ แต่อุตสาหกรรมเพลงของเกาหลีค่อนข้างมีเอกลักษณ์ในแง่ที่ว่าตลาดซีดีในประเทศยังคงเติบโต

“แฟนด้อมเคป๊อปมีความคิดที่ชัดเจนว่า จะเป็น “แฟนคลับตัวจริง” ได้ก็ต่อเมื่อซื้ออัลบั้มเท่านั้น ทำให้ช่วงที่ศิลปินออกอัลบั้ม EP หรือซิงเกิล แฟน ๆ จะคิดว่าเป็นหน้าที่ของพวกเขาที่ต้องช่วยให้ศิลปินประสบความสำเร็จด้วยการซื้ออัลบั้มและฟังเพลงผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเพื่อให้ผลงานของศิลปินคนโปรดขึ้นอันดับ 1 ในชาร์ตเพลง”

นอกจากยอดขายอัลบั้มและยอดการฟังเพลงแบบดิจิทัลจะทำหน้าที่ไม่ต่างจากมาตรวัดความสำเร็จของศิลปินแล้ว ยังเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ศิลปินได้รับรางวัล “แดซัง” (대상 : Daesang) หรือรางวัลแห่งปีที่ทรงคุณค่าที่สุดในงานประกาศรางวัลต่าง ๆ เช่น Golden Disc Awards (GDA), Seoul Music Awards (SMA), Mnet Asian Music Awards (MAMA) เป็นต้น

นั่นหมายความว่า การที่แฟนคลับตัดสินใจซื้ออัลบั้มจำนวนมากยังเป็นการมอบของขวัญชิ้นสำคัญให้กับศิลปินผ่านรางวัลที่จะสร้างความภาคภูมิใจในเส้นทางอาชีพของศิลปินที่ตนรัก

อีกด้านหนึ่งอัลบั้มของอุตสาหกรรมเคป๊อปไม่ได้จำหน่ายเพียงผลงานเพลงเท่านั้น แต่ยังมาพร้อมกับสิทธิพิเศษที่ทำให้ได้ใกล้ชิดกับศิลปินอีกหนึ่งระดับ โดยเฉพาะกิจกรรม “แฟนไซน์” หรือการซื้ออัลบั้มเพื่อลุ้นสิทธิ์เข้าร่วมกิจกรรมแจกลายเซ็น

หรือ “คอลไซน์” ที่เป็นการปรับรูปแบบกิจกรรมมาเป็นการวิดีโอคอลคุยกับศิลปินในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดอย่างหนักแทน ทำให้การที่แฟนคลับ 1 คน ซื้ออัลบั้มมากกว่า 100 ชุด เพื่อลุ้นรับสิทธิ์เข้าร่วมกิจกรรมเป็นภาพชินตาในหมู่แฟนคลับด้วยกัน

นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ยอดขายอัลบั้มในวงการเคป๊อปยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง คือการออกแบบที่สวยงาม และการสอดแทรกกิมมิกบางอย่างที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้อัลบั้มเหมาะกับการเป็นของสะสมมากขึ้น

เช่น อัลบั้มล่าสุดของ SEVENTEEN อย่าง SEVENTEENTH HEAVEN ที่มีการนำเทคโนโลยี AR มาสร้างลูกเล่นเพิ่มเติม โดยแฟนคลับสามารถใช้ฟังก์ชั่น AR Lens บนแอปพลิเคชั่น Weverse หรือแอปคอมมิวนิตี้ในการสื่อสารกับศิลปินที่แฟนคลับส่วนใหญ่มีอยู่แล้วมาสแกนที่หน้าปกอัลบั้มเพื่อรับชมคอนเทนต์ที่ซ่อนอยู่ได้

seventeenth-heaven
อัลบั้ม SEVENTEENTH HEAVEN ของวง SEVENTEEN

อีกทั้งการปล่อยผลงาน 1 ครั้ง ยังมีอัลบั้มหลากหลายเวอร์ชั่นให้แฟนคลับเลือกซื้อตามใจชอบ ซึ่งแต่ละเวอร์ชั่นจะมีจุดเด่นต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นหน้าปกอัลบั้มที่บางครั้งออกแบบตามสมาชิกแต่ละคน โฟโต้บุ๊คที่มีธีมการถ่ายภาพต่างกัน และโฟโต้การ์ดหรือภาพถ่ายของศิลปินที่มีหลากหลายอิริยาบถ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แฟนคลับ 1 คน จะซื้อทุกอัลบั้มเพื่อสะสมเป็นคอลเล็กชั่นของการปล่อยผลงานในครั้งนี้

อี ซองซู (Lee Sung-su) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ SM Entertainment หนึ่งในค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า การออกแบบจะช่วยเพิ่มการเล่าเรื่องที่สร้างสรรค์ให้กับผลงานเพลง และการที่แต่ละอัลบั้มมาพร้อมกับสินค้าที่แตกต่างกัน ถือเป็นโอกาสในการแสดงเรื่องราวที่ไม่สามารถเล่าผ่านเพลงหรือมิวสิกวิดีโอได้

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของยอดขายอัลบั้มในอุตสาหกรรมเคป๊อปคงเป็นภาพสะท้อนของการทำให้ “แผ่นซีดี” ที่จะดูเป็นไอเท็มนอสทัลเจีย (Nostalgia) ชวนให้นึกถึงเรื่องราวในอดีต กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งด้วยการเพิ่มมูลค่าผ่านการออกแบบและเรื่องราวที่เป็นมากกว่าการฟังเพลงของศิลปินคนโปรด