Priceza เผยมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยปี’66 9.32 แสนล้าน โต 14%

อีคอมเมิร์ซ
ภาพจาก Canva ใช้เพื่อประกอบข่าวเท่านั้น

“Priceza” แพลตฟอร์มเทียบราคาสินค้าออนไลน์ เผยมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยปี 2566 อยู่ที่ 9.32 แสนล้านบาท โตจากปีก่อนหน้า 14% เชื่อปี 2567 โตต่อเนื่องแม้สภาพเศรษฐกิจไม่เป็นใจ

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 รายงานข่าวจาก Priceza แพลตฟอร์มเปรียบเทียบราคาจากเว็บขายสินค้าออนไลน์ เปิดเผยว่า มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ประเทศไทยในปี 2566 คาดการณ์ว่าจะไปแตะอยู่ที่ 932,000 ล้านบาท เติบโตประมาณ 14% เมื่อเทียบกับปี 2565 อยู่ที่ 818,000 ล้านบาท นับว่าประเทศไทยได้เข้าสู่การซื้อขายออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ

ปัจจุบันคนไทยมากกว่าครึ่งเคยซื้อสินค้า/บริการผ่านอีคอมเมิร์ซ ซึ่งมีปัจจัยมาจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยที่ขยายตัวและครอบคลุมมากขึ้น ที่ผ่านมามีความเปลี่ยนเเปลงทั้งในด้านเเพลตฟอร์มการให้บริการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงอีโคซิสเต็มของธุรกิจที่เข้าสู่ออนไลน์อย่างเต็มรูปเเบบยังมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นในช่วงหลังการระบาดของโควิด-19

บริการอีคอมเมิร์ซมีมุมมองหลากหลายมิติที่ครอบคลุมการอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค การใช้จ่ายเงินไปกับการใช้บริการอีคอมเมิร์ซ ไม่เพียงเฉพาะสินค้าที่จับต้องได้ แต่ยังรวมถึงบริการที่เน้นทั้งด้านอาหาร (Food Delivery) การซื้อของภายในร้านอาหาร (Online Grocery) การท่องเที่ยว (Travel) และการซื้อตามความต้องการ (On-Demand Delivery)

รายงานข่าวระบุว่า ในด้านของ “Retail Commerce” การพึ่งพาแพลตฟอร์มอย่าง E-Marketplace อาจเป็นสิ่งที่ท้าทายมากขึ้น นั่นจึงเป็นแรงผลักดันให้แบรนด์ เริ่มเห็นความสำคัญของการมี “First Party Data” ของตัวเองมากขึ้น ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดกับการใช้ Gen AI เพื่อ Personalization สร้างประสบการณ์ “Commerce Experience” ที่ช่วยให้แบรนด์สร้างยอดขายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

และช่วยให้บริการอีคอมเมิร์ซสามารถดึงดูดและรักษาลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เราจะเห็นผู้ให้บริการหลายรายที่เร่งพัฒนาแอปพลิเคชั่นเป็น Super App หรือ Everyday App ที่ครอบคลุมทุกบริการและรวมทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน โดยไม่ต้องออกไปใช้บริการแอปพลิเคชั่นอื่น ๆ สามารถสร้างอีโคซิสเต็มที่มีความแข็งแรงได้ด้วยตนเอง

นอกจากนี้ Priceza ยังได้แบ่งความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกันของอีโคซิสเต็มอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

1. การตลาดและการสนับสนุน (Marketing & Supporting) มีบทบาทสำคัญในการสร้างกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสมเพื่อโปรโมตสินค้าหรือบริการในอีโคซิสเต็มอีคอมเมิร์ซ รวมถึงมีการใช้เทคโนโลยีข้อมูลและการวิเคราะห์เพื่อช่วยในการตัดสินใจทางธุรกิจและการปรับกลยุทธ์ตลาด

  • ตัวอย่างกลุ่ม Retail Media : Google, Priceza, Lazada, Shopee, Grab, LINE MAN, Robinhood
  • ตัวอย่างกลุ่ม Social Media : Facebook, Instagram , Youtube, X (Twitter) , Tiktok, Pantip
  • ตัวอย่างกลุ่ม Affiliate Marketing : Priceza Affiliate, Pundai, ShopBack, RadarPoint, MyCashback, Access Trade, Involve Asia, Ecomobi
  • ตัวอย่างกลุ่ม CRM for B2C : LINE OA, ChocoCRM, BuzzeBees, Primo
  • ตัวอย่างกลุ่ม Data Insights : Etailligence, KaloData, Wisesight, Mandala

2. ช่องทางอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce Channels)

  • ตัวอย่างกลุ่ม E-Marketplace : Shopee, Lazada, Tiktok, Central, MOnline
  • ตัวอย่างกลุ่ม Chat Commerce : LINE, Messenger, IG
  • ตัวอย่างกลุ่ม Own Shop : Shopify, LnwShop, KetShopWeb, LINE SHOPPING, Bento, iGetWeb, MakeWebEasy
  • ตัวอย่างกลุ่ม Quick Commerce : Grab, LINE MAN, FoodPanda, Robinhood, 7-11 ALL Online
  • ตัวอย่างกลุ่ม E-Tailer (Vertical)
    – Apparel & Footwear
    : Pomelo, SuperSports, RevRunnr, JDsports, ICC Shopping, Decathlon
    – Health & Beauty : Konvy, Watsons, Boots, EVE andBOY
    – Home & Living : HomePro, บุญถาวร, NocNoc, IndexLivingMall, DoHome
    – Electronics & Gadget : Advice, JIB, Banana, PWB, 425, Mercular
    – Grocery : Tops, BigC, Lotus’s, MakroPro

3. การชำระเงิน (Payment)

  • ตัวอย่างกลุ่ม Cards : Visa, Master, JCB, Amex
  • ตัวอย่างกลุ่ม Domestics Payment : PromptPay
  • ตัวอย่างกลุ่ม Digital Wallets : TrueMoney Wallet, LINE Pay, ShopeePay, GrabPay, LazWallet, Paotang
  • ตัวอย่างกลุ่ม Buy Now Pay Later (BNPL) : Atome, K Pay Later, SCB Pay Later, TrueMoney Pay Next, ThisShop, Ulite

4. การจัดส่ง (Delivery)

  • ตัวอย่างกลุ่ม Express Delivery : ไปรษณีย์ไทย, Kerry, Flash, DHL, J&T
  • ตัวอย่างกลุ่ม On-Demand Delivery : Grab, LINE MAN, Robinhood, Lalamove, Deliveree, GizTix, 360truck
  • ตัวอย่างกลุ่ม Fulfillment : MyCloud, SokoChan, SiamOutlet, Akita
  • ตัวอย่างกลุ่ม Shipping Aggregator : ShipPop, FastShip

รายงานข่าวระบุด้วยว่า แม้ในปี 2567 ทั่วโลกรวมถึงไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งด้านเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย แต่สำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งใน Growth Driver สำคัญมาจาก “อีคอมเมิร์ซ”

โดยรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฉบับที่ 8 (e-Conomy SEA 2023 Report) จัดทำโดย Google, Temasek และ Bain & Company ฉายภาพมูลค่าอีคอมเมิร์ซ ประเทศไทยปี 2566 อยู่ที่ 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (7.8 แสนล้านบาท) อัตราการเติบโต 10% เทียบกับปีก่อน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.07 ล้านล้านบาท) ในปี 2568 และคาดการณ์ว่าปี 2573 จะแตะ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ