เปิดไทม์ไลน์ “อีคอมเมิร์ซ” ขึ้นค่าธรรมเนียม 300% ในปีครึ่ง

อีคอมเมิร์ซ-ค่าธรรมเนียม

เปิดไทม์ไลน์การขึ้นค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ-โซเชียลคอมเมิร์ซ กูรูเผย “Lazada” ขึ้นค่าบริการ 300% ภายในเวลา 1 ปีครึ่ง ด้าน “TikTok Shop” ขึ้นค่าคอมมิชชั่น 2 ครั้ง ใน 7 เดือน

วันที่ 11 เมษายน 2567 นายภาวุธ พงษ์วิทยภาณุ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท TARAD.com เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงแรกที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเข้ามาดำเนินธุรกิจจะไม่เก็บค่าธรรมเนียมใด ๆ แถมแจกโค้ดให้ใช้ฟรี ๆ ทำให้ประสบภาวะขาดทุนเป็นหมื่นล้านบาทหลายปีติดต่อกัน ถึงจุดหนึ่งจึงต้องเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมกับร้านค้าและมีการขยับราคาขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ในปี 2566 ทั้งช้อปปี้ (Shopee) และลาซาด้า (Lazada) ขึ้นค่าธรรมเนียมถึง 2 รอบ

“เวลาขึ้นจาก 1% เป็น 2% ดูเหมือนไม่เยอะ แต่จริง ๆ คือเท่าตัว 100-200%”

ขณะเดียวกัน “นายภาวุธ” ยังได้รวบรวมข้อมูลการเก็บค่าธรรมเนียมการขายของ Shopee และ Lazada พร้อมทั้งเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก (Facebook) ส่วนตัวไว้ ดังนี้

Lazada เริ่มเปิดบริการปี 2555 โดยในช่วงแรกไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมการขาย จนกระทั่งวันที่ 1 พ.ค. 2565 เริ่มเก็บค่าธรรมเนียม 1%, 1 ต.ค. 2565 เก็บที่ 2%, 1 เม.ย. 2566 เก็บที่ 3% และ 23 ต.ค. 2566 เก็บที่ 4%

ส่วน Shopee เริ่มเปิดบริการในปี 2558 และไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมการขาย แต่ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2565 เก็บค่าธรรมเนียม 1%, 1 ต.ค. 2565 เก็บ 2% และขยับมาที่ 3% และ 4% ตามลำดับ

“Lazada ขึ้นราคาค่าบริการ +300% ภายในปีครึ่ง และช่วงเวลาที่ขึ้นแทบจะเป็นวันเดียวกับ Shopee”

อีคอมเมิร์ซ-ขึ้นค่าธรรมเนียม

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ล่าสุด Shopee ประกาศปรับขึ้นค่าธรรมเนียมการขายครั้งใหม่สำหรับกลุ่ม Mall Sellers และ Nonmall Sellers (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2567 ดังนี้

ค่าธรรมเนียมสำหรับ Mall Sellers แบ่งเป็นสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Items) เป็น 6% จากเดิม 5% ของราคาสินค้า, สินค้าบางประเภทในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (Exceptions of Electronics Items) เป็น 5% หรือ 8% จากเดิม 6% ส่วนสินค้าที่ไม่อยู่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (Nonelectronics Items) อยู่ที่ 5-8% จากเดิม 7%

ส่วนค่าธรรมเนียมสำหรับ Nonmall Sellers แบ่งเป็นสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Items) 5% จาก 4%, สินค้าที่ไม่อยู่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (Nonelectronics Items) 5% จาก 4%, สินค้าในหมวดหมู่สินค้าแฟชั่น (Fashion Cluster) 6% จาก 5% และสินค้าบางประเภทในหมวดหมู่ย่อยของสินค้าในหมวดหมู่สินค้าแฟชั่น 5% จาก 4% ของราคาสินค้า

ก่อนหน้านี้ Lazada ได้ปรับค่าธรรมเนียมการใช้บริการมาร์เก็ตเพลซ (Marketplace Service Fee) ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา ในบางหมวดหมู่สินค้า เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (เครื่องเสียง กล้อง โดรน ฯลฯ) 4% จากเดิม 3%, สินค้าแฟชั่น (กระเป๋า เสื้อผ้า ฯลฯ) 5% จากเดิม 4%, สินค้าอุปโภคบริโภค 4% จากเดิม 3% และสินค้าทั่วไป 4% จากเดิม 3%

และนอกจากแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลซอย่าง Shopee และ Lazada จะปรับขึ้นค่าธรรมเนียมอย่างต่อเนื่อง ยังมีแพลตฟอร์มโซเชียลคอมเมิร์ซอย่าง TikTok Shop และ LINE SHOPPING ที่ทยอยปรับขึ้นค่าธรรมการขายด้วย

โดย TikTok Shop เริ่มให้บริการในไทยตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งในช่วงแรกเปิดให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เข้ามาขายสินค้าโดยยกเว้นการเก็บค่าคอมมิชชั่น จนกระทั่งวันที่ 1 ต.ค. 2566 เริ่มเก็บค่าคอมมิชชั่น 4% (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จากยอดขายของร้านค้าสำหรับทุกการสั่งซื้อบน TikTok Shop Shopping Center

และตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2567 TikTok Shop ได้ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมคอมมิชชั่น เดิมคิดอัตราคงที่ 4% มาเป็นการคิดแตกต่างกันของหมวดหมู่ย่อยของสินค้า (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) แบ่งเป็นสินค้าแฟชั่น 4.00-5.35%, สินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) 4.28%, สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 4.28% สินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น อุปกรณ์กีฬา เครื่องครัว 4.28%

ส่วน LINE SHOPPING เปิดตัวในปี 2562 และเริ่มคิดค่าธรรมเนียม (Service Fee) จากคำสั่งซื้อบนช่องทางสื่อ และแคมเปญ LINE SHOPPING ที่ 3% (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตั้งแต่ 15 พ.ย. 2566 เป็นต้นไป แต่จะไม่เก็บค่าธรรมเนียมการขายในกรณีที่คำสั่งซื้อเกิดจากการออร์เดอร์ผ่านห้องแชตในแอปพลิเคชั่น LINE หรือผู้ขายเป็นผู้โฆษณาร้านค้าด้วยตนเอง หรือส่งลิงก์ร้านค้าและสินค้าของผู้ขาย shop.line.me/@shopbasicid ให้ผู้ซื้อโดยตรง