อยุธยา เตือนพื้นที่ลุ่มต่ำเฝ้าระวัง เขื่อนเจ้าพระยาผันน้ำ 1,800-2,000 ลบ.ม./วินาที

น้ำท่วม อยุธยา

อยุธยาประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย 6 อำเภอ ด้าน กอปภ.อยุธยา เตือนพื้นที่ลุ่มต่ำ ”คลองบางบาล-หัวเวียง-ลาดชิด-ท่าดินแดง” เฝ้าระวัง ยกของขึ้นที่สูง หลังเขื่อนเจ้าพระยาผันน้ำ 1,800-2,000 ลบ.ม./วินาที ส่งผลระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 40-60 ซม. ช่วง 16-17 ก.ย.นี้

วันที่ 14 กันยายน 2565 นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า โครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา แจ้งสถานการณ์น้ำ วันที่ 14 กันยายน 2565 เวลา 06.00 น. มีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา สถานี C13 ที่ 1,848 ลบ.ม./วินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 49 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำที่จุดวัดน้ำ C35 บ้านป้อม พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำอยู่ที่ 4.36 ม. เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 11 ซม.

ในส่วนปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่สถานี S.28 อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี 307 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำระบายลดลง 31 ลบ.ม./วินาที การระบายน้ำที่เขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ ระบายที่ 513 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำคงที่ 5.98 ม. ส่วนจุดวัดน้ำสะพานปรีดี-ธำรง อ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 9 ซม.

สำหรับพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 16 อำเภอ มีประชาชนได้รับผลกระทบน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมใต้ถุนบ้าน จำนวน 6 อำเภอ 85 ตำบล 506 หมู่บ้าน 5 ชุมชน 21,749 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 3,418 ไร่ ได้แก่ อำเภอเสนา อำเภอผักไห่ อำเภอบางบาล อำเภอบางไทร อำเภอพระนครศรีอยุธยา และอำเภอบางปะอิน ทั้งนี้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว จำนวน 6 อำเภอ 82 ตำบล 475 หมู่บ้าน 4 ชุมชน

ด้านการให้ความช่วยเหลือประชาชนได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำออกจากพื้นที่การเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ให้สามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ รวมกว่า 50 เครื่อง สูบน้ำสะสม 27 วัน ปริมาณน้ำสะสม 7,400,000 ลบ.ม. และจัดตั้งพนังกั้นน้ำและวางกระสอบทรายในเขตพระราชฐาน โบราณสถาน และพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์

รวมทั้งแจกจ่ายถุงยังชีพให้พี่น้องประชาชน รวมทั้งสิ้น 7,148 ชุด ตลอดจนส่งหน่วยเคลื่อนที่ออกดูแลรักษาสุขภาพผู้ประสบภัย ผู้ป่วยติดเตียง กลุ่มเปราะบางอื่น ๆ และแจกจ่ายยา Whitfield ป้องกันโรคที่มากับน้ำให้กับผู้ประสบภัยแล้ว 10,640 ตลับ

อย่างไรก็ตาม ขอให้นายอำเภอทุกอำเภอ นายกเทศมนตรีนครพระนครศรีอยุธยา และนายกเทศมนตรีเมืองทุกแห่ง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบได้ทันที อาทิ บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหารเป็นต้น

รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย ทราบล่วงหน้า ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ฝนตกหนัก ช่วงวันที่ 12-17 กันยายน ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจะสูงขึ้น 40-60 ซม. ช่วงวันที่ 16-17 กันยายนนี้