บริษัทข้ามชาติในเมียนมา-ลาวยางล้นสต๊อก ดีลขายถูก-หนีภาษีเข้าไทย

ยางล้นสต๊อก

บริษัทยักษ์ข้ามชาติใน “เมียนมา-ลาว-กัมพูชา” เจอวิกฤตยางล้นสต๊อก ดีลพ่อค้าคนกลางไทยเสนอขาย “ยางก้อนถ้วย ยางแผ่น ยางแท่ง” หนีภาษี เข้าโรงงานแปรรูปในไทยราคาต่ำกว่ายางไทย ฟันส่วนต่างเพียบ แถมสวมสัญชาติไทยส่งไปขายต่อมาเลยเซีย

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราส่งออก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ได้มีบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกบางแห่งที่เข้าไปลงทุนเปิดโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยางในประเทศเมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา ได้มีการเสนอขายยางก้อนถ้วย ยางแผ่น ยางแท่ง ผ่านพ่อค้าคนกลางทั้งขนาดกลาง ขนาดเล็กในประเทศไทย เพื่อให้ขายยางต่อกับกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปยางในประเทศไทย เนื่องจากตลาดหลักจีนชะลอการรับซื้อ

โดยบริษัทผู้ผลิตล้อยางบางแห่ง และโรงงานผลิตถุงมือยางในจีนมีสต๊อกยางคงค้างอยู่มากส่งผลให้บริษัทข้ามชาติที่มาตั้งใน 3 ประเทศเพื่อนบ้านมีสต๊อกคงค้างต้องการเทขายออก โดยยางพาราจากประเทศเพื่อนบ้านมีราคาต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย จึงขายได้ราคาถูก

“มีพ่อค้าคนกลางจำนวนหนึ่งนำเข้ายางพาราจากเมียนมา ลาว และกัมพูชาสวมเป็นยางไทยส่งไปขายมาเลเซีย ซึ่งได้ส่วนต่างกำไรดี”

ดร.อุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา ปลูกยางพาราและให้ผลผลิตแล้วรวมหลายล้านไร่ แต่การทำตลาดยางพาราใน 3 ประเทศยังแคบไม่กว้างเหมือนกับไทย จึงมีการส่งออกมายังตลาดยางพาราไทย

ซึ่งจะมีราคาดีกว่าขายภายในประเทศน่าจะได้ส่วนต่างประมาณ 3-4 บาท/กก. ซึ่งจะมียางพาราทุกประเภท ตั้งแต่เศษยาง ยางก้อนถ้วย ยางแผ่นดิบ และน้ำยางสด

“ตอนนี้ยางราคาได้ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยบางพื้นที่ เนื่องจากฝนตกและภัยแล้งต่อเนื่อง ชาวสวนจึงไม่ได้กรีดยางเต็มที่ อีกทั้งน้ำยางสดก็หดตัวมาก และยังมีการทิ้งสวนยางไม่ได้กรีด เป็นเหตุให้ยางเกิดการขาดแคลน ส่งผลให้ราคายางปรับตัวขึ้น เพราะแข่งขันกันซื้อเพื่อส่งมอบตามสัญญาที่ทำกันไว้กับตลาดต่างประเทศเป็นสำคัญ

โดยตลาดกลางยางประมูลซื้อขายที่ 41 บาท/กก. แต่เวลาปรับตัวทยอยลงเป็น 4-5 บาท/กก. ขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 63.40 บาท/กก. ตอนนี้ยังขาดทุนอยู่ที่ 20 บาท/กก. รัฐบาลจะต้องลงมาดูแล” ดร.อุทัยกล่าว

นายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนล่าง (กยท.) เปิดเผยว่า ประเด็นที่มีรายงานข่าวออกมาว่ามีการส่งออกยางพาราจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามายังตลาดประเทศไทย เพราะขายได้ราคาที่ดีกว่า

เนื่องจากมีต้นทุนในการผลิตต่ำกว่าอยู่ที่ประมาณ 27-28 บาท/กก. อัตราค่าแรงงานก็ถูกกว่า ขณะที่ยางพาราไทยมีต้นทุนการผลิตสูงอยู่ที่ประมาณ 40 กว่าบาท/กก. ปัจจัยจากอัตราค่าแรงงาน ค่าปุ๋ย ค่าน้ำมัน ฯลฯ ในขณะเดียวกันราคายางพาราของไทยมีการปรับตัวในการซื้อขาย ซึ่งบางช่วงอยู่ที่ 40-43 บาทกว่า/กก. ฯลฯ ทำให้ได้กำไรส่วนต่างมากกว่า

ทั้งนี้ ยางพาราถือเป็นสินค้าควบคุมและนำเข้ามาไม่ได้ ตามพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 เพราะหากมีการนำเข้ามาจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราภายในประเทศไทย

ดังนั้น ยางพาราที่เข้ามาจึงเป็นลักษณะของการหลบเลี่ยง จะส่งผลกระทบให้เกิดปริมาณยางพาราล้นตลาด และกดดันให้ราคาลงในที่สุด ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ปลูกยางพาราถึงประมาณ 23-24 ล้านไร่ และมีผลผลิตแล้วประมาณ 4 ล้านต้น/ปี ตลาดยางพาราของประเทศไทยต้องพึ่งพาการส่งออกในตลาดโลก

นายสุรชัยกล่าวถึงสถานการณ์โรคยางพาราใบร่วงที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ยางพาราเกิดโรคใบร่วง ส่งผลกระทบ
ต่อชาวสวนยางพาราเป็นอย่างมากในเรื่องรายได้ เพราะปริมาณน้ำยางสดได้หดหายไปถึง 50-60%

โดยเฉพาะสวนยางพาราจังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.นราธิวาส มาเป็นอันดับต้น ๆ รองลงมา จ.ยะลา จ.สงขลา จ.พัทลุง จ.ตรัง จดไปถึงภาคใต้ตอนบนและภาคใต้ฝั่งอันดามัน จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช จ.กระบี่ จ.พังงา

“เฉพาะ จ.นราธิวาสหนักมาก ซึ่งปี 2565 ยางพาราจำนวน 900,000 ไร่ ได้รับความเสียหายจากโรคใบร่วงไป 800,000 ไร่ จ.ยะลา 200,000 ไร่ แต่มาในปี 2566 จ.นราธิวาส เป็นโรคใบร่วงประมาณ 88,000 ไร่ ฯลฯ ส่งผลให้น้ำยางสดหดหายไป 50-60 เปอร์เซ็นต์ จนต้องทำยางก้อนถ้วยกัน ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้เป็นอย่างมาก”

นายสุรชัยกล่าวต่อไปว่า ในที่สุดชาวสวนยางพาราจึงหาทางออก ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากปลูกยางพาราเปลี่ยนไปปลูกปาล์มน้ำมันที่ จ.นราธิวาสและ จ.ยะลา เปลี่ยนแปลงไปปลูกทุเรียน ฯลฯ

สำหรับโรคยางใบร่วงสาเหตุสำคัญเกิดจากปัญหาดินเสื่อมสภาพ เพราะหลายพื้นที่มีการปลูกยางต่อเนื่อง 3-4 รุ่น และมีการใช้กับสารเคมี ส่งผลให้ดินแข็ง ทาง กยท.แก้ไขปัญหาโดยการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อบำรุงดิน โดยใส่ปุ๋ยเคมี 1 ครั้ง/ปี สลับกับปุ๋ยอินทรีย์ 2 ครั้ง/ปี ซึ่งการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทำให้ปริมาณน้ำยางอยู่ในระดับใกล้เคียงกับการใช้ปุ๋ยเคมี ลดต้นทุนการผลิตได้มาก

นายกัมปนาท วงศ์ชูวรรณ ผู้จัดการ กลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ สถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพาราเพื่อส่งออก เปิดเผยว่า ทิศทางยางพาราไตรมาส 3 และ 4 ยังมีแนวโน้มถดถอย เพราะภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในตลาดโลก โดยเฉพาะจีนไม่ตอบรับในการซื้อขายทั้งยางแท่งและยางก้อนถ้วย เนื่องจากล้อยางมีสต๊อกเหลือจำนวนมากในต่างประเทศ จนมีการลดกำลังการผลิต ส่งผลต่อการซื้อขายยางในตลาดโลกที่มีผลตอบรับไม่ดี