สมรภูมิ “ฟู้ดเซอร์วิส” ร้อนฉ่า “บิ๊กซี-เซ็นทรัล” เขย่าบัลลังก์ “แม็คโคร”

ฟู้ดเซอร์วิส

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ “บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น” ที่ประกาศความพร้อมในการก้าวสู่ตลาด “ฟู้ดเซอร์วิส” ผ่านบริษัทในเครือ บริษัท บิ๊กซี ฟู้ด เซอร์วิส จำกัด ที่เพิ่งตัดริบบิ้น เปิดสาขาที่ 5 สาขาบางนา เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และจะตามต่อด้วยสาขาที่ 6 สนามบินน้ำ ในเร็ว ๆ นี้ พร้อมตั้งเป้าว่าจะทยอยเปิดเพิ่มให้ครบ 8 สาขา ภายในสิ้นปีนี้

การรุกตลาดฟู้ดเซอร์วิสครั้งนี้ นอกจากจะเป็นหนึ่งในแผนของการสร้างพอร์ตโฟลิโอให้สวยงามและมีความน่าสนใจสำหรับการกลับเข้าไปเป็นบริษัทจดทะเบียน “ฟู้ดเซอร์วิส” ในตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว อีกด้านหนึ่งยังเป็นการส่งสัญญาณรบไปยัง “แม็คโคร” หรือบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือสยามแม็คโครเดิม ที่ครอบครองตลาดฟู้ดเซอร์วิสมาอย่างยาวนานนับกว่า 10 ปี

จากก่อนหน้านี้ที่บิ๊กซี รีเทลได้เริ่มรุกคืบเข้ามาในตลาดฟู้ดเซอร์วิสอย่างเงียบ ๆ ด้วยการนำ MM Food service แบรนด์ร้านค้าส่งอาหาร จากประเทศเวียดนาม มาทดลองการให้บริการฟู้ดเซอร์วิส เมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา เริ่มต้น 2 สาขา คือ สาขาปาล์มไอซ์แลนด์ (สมุทรปราการ) และโชคชัย 4 จากนั้นก็ทยอยเปิดเพิ่มที่ ตลาดบุญเจริญ (นนทบุรี) เอกชัย (สมุทรสาคร) เพื่อเตรียมความพร้อมและทดสอบตลาดก่อนจะรุกอย่างเต็มตัว

น่านน้ำใหม่ค้าปลีก-ค้าส่ง

หากถามว่า ตลาดฟู้ดเซอร์วิสมีความน่าสนใจและสำคัญอย่างไร ?

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการค้าปลีก ให้ข้อมูลว่า จริง ๆ แล้ว ตลาดฟู้ดเซอร์วิส หรือตลาดที่ให้บริการหรือขายวัตถุดิบสำหรับการทำอาหาร ทั้งของสด ของแห้ง เครื่องใช้ต่าง ๆ สำหรับร้านอาหาร เป็นตลาดที่ใหญ่มาก แต่ยังไม่มีใครรวบรวมตัวเลขไว้ และสิ่งที่น่าสนใจก็คือ มีจำนวนผู้ประกอบการร้านอาหาร ทั้งร้านอาหารตามสั่ง ร้านสตรีตฟู้ด ร้านอาหารรถเข็น-แผงลอย ร้านอาหารที่เป็นเชนต่าง ๆ ธุรกิจจัดเลี้ยง น่าจะมีไม่ต่ำกว่า 6-8 แสนร้าน แต่ที่ผ่านมา มีเพียงแม็คโครเพียงรายเดียวที่มีบริการนี้ และเป็นบริการที่ครบวงจร เป็นวันสต็อปเซอร์วิส

ที่สำคัญ ร้านอาหารเป็นธุรกิจที่ได้รับความสนใจและมีรายใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลาไม่ว่าเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลง ส่วนหนึ่งเพราะอาหารเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตประจำวัน อีกอย่างสังคมเมืองปัจจุบันที่ผู้คนต้องรีบเร่งออกไปทำงานนอกบ้านตั้งแต่เช้ายันค่ำ ไม่มีเวลาปรุงอาหารเอง

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการร้านอาหาร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันตลาดร้านอาหารมีมูลค่าตลาดรวม 4 แสนล้านบาท โดยปี 2565 ที่ผ่านมา เป็นปีแรกที่ตลาดนี้กลับมาโตอีกครั้ง ด้วยตัวเลขที่เป็นดับเบิลดิจิต หรือประมาณ 10-12% หลังจากหดตัวลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากสถานการณ์โควิด

สำหรับปีนี้ก็คาดว่า ตลาดร้านอาหารก็มีแนวโน้มที่จะยังเติบโตต่อเนื่อง จากสถานการณ์โควิดที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนได้เหมือนเดิม รวมทั้งการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวที่ทำให้มีเม็ดเงินสะพัดในตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว ขณะเดียวกันก็คาดว่า ในแง่ของจำนวนผู้ประกอบการร้านอาหารก็มีแนวโน้มจะทยอยเปิดมากขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการรายย่อยและขนาดเล็ก

ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้ดีมานด์ของฟู้ดเซอร์วิส มีเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงไม่แปลกใจที่บิ๊กซี รีเทลจะหันมาโฟกัสกับตลาดฟู้ดเซอร์วิสมากขึ้น เมื่อทุกอย่างลงตัวและพร้อม บิ๊กซี รีเทลจึงเดินหมากเพื่อเปิดฉากรุกตลาดฟู้ดเซอร์วิสอย่างเต็มตัว เป้าหมายเพื่อสร้างรายได้จากตลาดใหม่นี้ และเบียดแย่งมาร์เก็ตแชร์จากผู้ประกอบการรายเดิม จากช่องว่างในตลาดที่ยังมีอีกมากโดยที่บิ๊กซี ฟู้ดเซอร์วิส จะมุ่งไปที่ร้านค้าปลีก ร้านโชห่วย ร้านอาหาร โรงแรม ธุรกิจจัดเลี้ยง บริษัท ห้างร้าน และธุรกิจบริการอื่น ๆ พร้อมเพิ่มบริการส่งสินค้าถึงหน้าร้าน ผ่านช่องทางเว็บไซต์ “Big C Food Services Online” เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ

“แม็คโคร” บุกฟู้ดเซอร์วิส

แม้การเปิดเกมรุกของบิ๊กซี รีเซลจะเป็นช่วงการเริ่มออกสตาร์ต แต่ซีพี แอ็กซ์ตร้าก็ไม่ประมาท และยังคงประกาศเดินหน้าขยายสาขาเพิ่มต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้ นางสาวเสาวลักษณ์ ถิฐาพันธ์ ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจค้าส่งแม็คโคร บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้ากล่าวในงาน Opportunity Day เมื่อกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า ในส่วนของธุรกิจค้าส่ง บริษัทมีแผนจะใช้งบฯลงทุนประมาณ 13,000-14,000 ล้านบาท เพื่อเปิดสาขาธุรกิจค้าเพิ่มประมาณ 12 สาขา โดยในจำนวนนี้จะเป็นฟู้ดเซอร์วิสถึง 8 สาขา ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเปิดสาขาของ “แม็คโคร ฟู้ดเซอร์วิส” จะเน้นโมเดลขนาดเล็ก ใช้พื้นที่ประมาณ 1,000-2,000 กว่าตารางเมตร เพื่อความคล่องตัวในการขยายสาขาและการหาโลเกชั่น ที่สามารถทำได้ง่ายกว่าการเปิดสโตร์ขนาดใหญ่ และใช้เงินลงทุนไม่มาก เป้าหมายเพื่อเจาะชุมชน และผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อย

ด้วยจุดเด่นของสินค้าที่หลากหลาย รวมทั้งสินค้านำเข้าจากต่างประเทศระดับพรีเมี่ยม เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย เป้าหมาย มากกว่า 100 แบรนด์ รวมทั้งยังมีสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของตนเอง (private label) เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้า รวมทั้งมีการให้คำปรึกษา จำหน่ายสินค้าที่สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความต้องการของลูกค้า และจัดหาสินค้าเพื่อธุรกิจอาหารแบบครบวงจรสำหรับผู้ประกอบการให้แก่ลูกค้าด้วย

นอกจากนี้ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา แม็คโครได้เปิดเกมรุกรอบใหม่ ด้วยการเปิดตัวแอป Makro PRO เพื่อเสริมความแข็งแกร่งธุรกิจค้าส่งแบบ O2O เพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า ระบบการแสดงสินค้า ราคา และการชำระเงิน ระบบสะสมคะแนน Makro Pro Point เพื่อใช้แลกเป็นส่วนลดและสิทธิพิเศษอื่น ๆ และอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า โดยสามารถเลือกเวลารับสินค้าได้ 3 ช่วงเวลาทั้งเช้า บ่าย และเย็น รวมถึงโปรโมชั่นที่สร้างจากระบบการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเชิงลึก ทำให้ตอบโจทย์ได้แบบรายบุคคล นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ขายสินค้า (marketplace) สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยหรือเอสเอ็มอีด้วย

ขณะเดียวกัน แม็คโครก็เร่งสร้างการรับรู้แอป Makro PRO ด้วยการดึง “ญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์” มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ พร้อมกับภาพยนตร์โฆษณาสร้างการรับรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ ตามแผนกระตุ้นยอดขายผ่านช่องทาง O2O ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด

ล่าสุด ข้อมูล ณ สิ้นเดือนมีนาคม 66 แม็คโคร มีสาขาที่เป็นฟู้ดเซอร์วิสรวม 43 สาขา

หากย้อนกลับไปก็จะพบว่า รายได้จากธุรกิจฟู้ดเซอร์วิสของซีพี แอ็กซ์ตร้าเติบโตต่อเนื่อง โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2563 ธุรกิจฟู้ดเซออร์วิสมีรายได้รวมประมาณ 4,200 ล้านบาท ขณะที่ปี 2564 ที่มีรายได้เพิ่มมาเป็น 5,100 ล้านบาท หรือมีอัตราเติบโตถึง 21% และล่าสุดปี 2565 ที่ผ่านมา ตัวเลขมีรายได้ของธุรกิจฟู้ดเซอร์วิสมากกว่า 7,100 ล้านบาท หรือมีอัตราเติบโตสูงถึง 39%

การแข่งขันส่อแววเดือด

แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีกค้าส่งอีกรายหนึ่ง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการแข่งขันในส่วนของบริการฟู้ดเซอร์วิสของ 2 ค่ายใหญ่ที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่เรื่องของสินค้าที่มีความหลากหลายและครบถ้วน ทั้งสินค้าที่เป็นอาหารสด อาหารแห้ง รวมทั้งสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ที่จำเป็นสำหรับกลุ่มลูกค้า และบริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในรูปแบบต่าง ๆ แล้ว ยังมีการจัดโปรโมชั่นในเรื่องราคา เพื่อเพิ่มยอดขายเป็นระยะ ๆ

นอกจากการรุกตลาดฟู้ดเซอร์วิสของค่ายค้าปลีกรายใหญ่ดังกล่าวแล้ว จากภาพรวมของตลาดที่ยังมีช่องว่างอีกมาก ประกอบกับการขยายสาขาของค่ายใหญ่ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ล่าสุดผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง รายใหญ่ในต่างจังหวัดหลายค่าย ได้เริ่มมีความเคลื่อนไหวในการปรับตัว เพื่อรองรับจำนวนผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนจากการเพิ่มพื้นที่ เพิ่มตู้แช่สินค้ากลุ่มอาหารสด อาหารแช่แข็ง เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบกการธุรกิจร้านอาหารมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ที่น่าจับมากก็คือ การรุกเข้ามาในตลาดค้าส่งของบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือซีอาร์ซี ผ่านบริษัทที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ในชื่อบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด โฮลเซลล์ จำกัด ซึ่งด้วยศักยภาพทั้งในเรื่องของเงินทุน และทีมงาน โดยเฉพาะการดึง นางสุชาดา อิทธิจารุกุล อดีตประธานกรรมการ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างแม็คโครขึ้นมาเป็นกรรมการบริษัท จึงมีความเป็นไปได้สูงที่กลุ่มเซ็นทรัลจะรุกคืบเข้ามาในตลาดฟู้ดเซอร์วิสนี้ด้วย ซึ่งจะทำให้ตลาดมีความคึกคักและมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ๆ

เชื่อได้เลยว่า จากนี้ไปสมรภูมิฟู้ดเซอร์วิสจะร้อนระอุขึ้นเรื่อย ๆ