CRG เดินหน้าเพิ่มพอร์ต ชี้เทรนด์ “กินเป็นกลุ่ม” กระแสแรง

ณัฐ วงศ์พานิช

สไตล์การเลือกอาหาร-เครื่องดื่มเป็นอีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคที่เกิดขึ้นหลังผ่านการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งผู้ประกอบการร้านอาหารต้องรับมือ ซึ่ง ซีอาร์จี หรือ เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป หนึ่งในผู้ประกอบการรายใหญ่ของวงการร้านอาหาร ด้วยการบริหารเชนร้านอาหารถึง 20 แบรนด์ รวมกันกว่า 1.6 พันสาขา อาทิ เคเอฟซี, มิสเตอร์โดนัท, อานตี้แอนส์, โอโตยะ, สลัดแฟคทอรี, อาริกาโตะ, ชินคันเซนซูชิ ฯลฯ เป็นอีกรายที่เดินหน้าเต็มตัวทั้งการขยายสาขาใหม่ รีโนเวตสาขาเดิม รวมถึงเพิ่มประสบการณ์ในการทานอาหาร ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคเพื่อสร้างการเติบโตในช่วงปลายปี 2566 นี้

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับ “ณัฐ วงศ์พานิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ถึงแนวโน้มของตลาดร้านอาหารในช่วงไตรมาส 3 และ 4 รวมถึงแนวทางธุรกิจของบรรดาร้านอาหารในเครือซีอาร์จีช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดึงแบรนด์เกาหลีมาเสริมทัพ และกลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าด้วย love at first sight

กระแสทานเป็นกลุ่มมาแรง

“ณัฐ วงศ์พานิช” ฉายภาพว่า ตลาดร้านอาหารในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปี 2566 นี้มีแนวโน้มที่ดี หลังการระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย และการกลับมาของนักท่องเที่ยว ช่วยให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสูงขึ้น กล้าจับจ่ายมากขึ้น เช่นเดียวกับการกลับมาทานอาหารในร้าน สะท้อนจากยอดต่อใบเสร็จของร้านในเครือที่ต่างสูงขึ้น และจำนวนลูกค้าที่ยังคึกคักต่อเนื่องในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 นี้

เช่นเดียวกับจำนวนผู้เล่นและแบรนด์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ ผู้เล่นในวงการอื่น รวมไปถึงหน้าเก่าในวงการร้านอาหารที่ส่งแบรนด์ใหม่เข้ามาเพิ่ม เพื่อชิงโอกาสในจังหวะที่ตลาดฟื้นตัว ทำให้เชื่อว่าสิ้นปีตลาดร้านอาหารจะสามารถเติบโตได้ 3-5% จาก 3.9 แสนล้านบาท เป็นประมาณ 4.1-4.3 แสนล้านบาท

โดยสิ่งที่โดดเด่นและเป็นเทรนด์มาแรงของวงการร้านอาหารในขณะนี้จะเป็นความนิยมอาหารแนวที่ทานด้วยกันเป็นกลุ่มเป็นวงกับเพื่อนหรือครอบครัว เช่น ชาบู สุกี้ ปิ้งย่าง บุฟเฟต์ต่าง ๆ ฯลฯ เช่นเดียวกับความต้องการได้รับประสบการณ์ทานอาหารที่แปลกใหม่และแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นตัวเมนู วัตถุดิบ และการบริการ

ทั้งนี้เชื่อว่าเป็นเพราะปัจจุบันผู้บริโภคมีความรู้และพร้อมลงทุนมากขึ้นกับอาหารที่มีคุณภาพและประสบการณ์ที่ดี-แปลกใหม่ในการทาน ขณะเดียวกันยังมีสาเหตุมาจากการที่ผู้ประกอบการต่างพยายามเพิ่มความคุ้มค่าและสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ของตน หวังดึงดูดลูกค้าโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนร้านบ่อย เพื่อรับมือการแข่งขันที่กำลังสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

สะท้อนจากความเคลื่อนไหวของหลายแบรนด์ที่เพิ่มเมนู-แพ็กเกจราคาระดับพรีเมี่ยมเข้ามา อย่างเนื้อวัวระดับ A4 และ A5 หรือเมนูที่มีกิมมิกต่าง ๆ รวมถึงการจองคิวทานอาหารในร้านบุฟเฟต์ระดับพรีเมี่ยมที่เต็มอย่างรวดเร็วแม้จะราคาสูงระดับหลายพันบาทก็ตาม เช่นเดียวกับการแตกแบรนด์ย่อยจากอาหารจานเดียวอย่างซูชิ ไปเป็นปิ้งย่าง ชาบู ฯลฯ

“ตอนนี้ราคาไม่ใช่ปัจจัยหลักในการตัดสินใจเลือกร้านอาหารแล้ว แต่เป็นความคุ้มค่าของเงินที่จ่ายกับประสบการณ์ที่แปลกใหม่และคุณภาพอาหาร เช่น การเสิร์ฟซุปแทนที่จะมาเป็นชามหรือถ้วยแบบเดิม ๆ ก็ใส่กาและมาเทให้ลูกค้าที่โต๊ะ หรือแม้แต่การใส่อาหารมาในสายพาน แบบร้านสุกี้หรือหมาล่า ก็นับเป็นประสบการณ์ที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ โดยสามารถพบเห็นได้ในกลุ่มผู้บริโภคตั้งแต่ระดับ C+ ขึ้นมา”

ดึงแบรนด์เกาหลีเสริมทัพ

ขณะเดียวกันผู้บริหารใหญ่ของซีอาร์จีเปิดเผยถึงทิศทางของเครือในช่วงไตรมาส 3-4 ว่า จะโฟกัสทั้งการขยายพอร์ตโฟลิโอและสาขาด้วยงบประมาณ 600-700 ล้านบาท รวมกับการทำตลาดแบบ love at first sight เพื่อรับมือการแข่งขัน โดยจะเน้นเพิ่มแบรนด์ที่เหมาะกับการทานเป็นกลุ่มเข้ามาเสริมทัพเพื่อตอบรับกระแสนิยมของผู้บริโภค โดยช่วงปลายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 เตรียมเปิดตัวแบรนด์ร้านอาหารสไตล์เกาหลี ซึ่งจะเป็นแบรนด์ที่ 21 ของเครือ

พร้อมกับเดินหน้าขยายสาขาของแบรนด์เดิมในพอร์ต นำโดยส้มตํานัวที่จะเร่งสปีดขยายสาขา และอานตี้แอนส์ ซึ่งจะอาศัยเมนูแนวสุขภาพเน้นรุกปักธงในทำเลโรงพยาบาล หลังช่วงที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับดีมาก ควบคู่แบรนด์อื่นที่ขยายต่อเนื่องอยู่แล้วทั้งเคเอฟซี, โอโตยะ, เปปเปอร์ลันช์ฯลฯ โดยเน้นทำเลศักยภาพสูงอย่างช็อปปิ้งมอลล์และคอมมิวนิตี้มอลล์

“ช็อปปิ้งมอลล์ยังคงเป็นทำเลศักยภาพสูง เพราะแม้จะได้สัมผัสความสะดวกจากการสั่งออนไลน์ แต่สุดท้ายผู้บริโภคชาวไทยก็ยังนิยมความเป็นวันสต๊อปช็อปปิ้งของช็อปปิ้งมอลล์ที่มีทุกอย่างตั้งแต่อาหาร บริการ ความบันเทิง และที่สำคัญคือ ติดแอร์”

สร้าง Love at First Sight

นอกจากการเพิ่มแบรนด์และสาขาแล้ว คีย์แมนซีอาร์จียังย้ำด้วยว่า ในยุคการแข่งขันสูงนี้ร้านอาหารจะประสบความสำเร็จได้ก็ต้องสร้าง love at first sight หรือความประทับใจแรกที่ผู้บริโภคเห็นแล้วจะเดินเข้าร้านทันทีให้ได้ โดยพัฒนาโปรโมชั่นและเมนูให้หลากหลายสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ทุกสไตล์ รองรับการทานอาหารกับกลุ่มเพื่อนหรือครอบครัว

พร้อมกับรีโนเวตสาขาเดิมให้ทันสมัย สดใสยิ่งขึ้น รวมถึงปรับขนาดร้านให้สัมพันธ์กับผู้บริโภคในพื้นที่ เช่น ลดไซซ์ในย่านที่มีการสั่งดีลิเวอรี่สูง และขยายไซซ์ในพื้นที่ที่การนั่งทานในร้านสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพต่อค่าใช้จ่ายของแต่ละสาขาให้ดีขึ้น รวมถึงลอนช์แคมเปญและเมนูใหม่ต่อเนื่องแบบรายเดือนและรายไตรมาส โดยใช้จุดแข็งด้านจำนวนแบรนด์ในพอร์ตจัดครอสโปรโมชั่นระหว่างแบรนด์ รวมถึงจับมือพันธมิตร เช่น เซ็นทรัลเดอะวัน จัดแคมเปญส่งเสริมการขายร่วมกัน

“ร้านอาหารแตกต่างจากค้าปลีกอื่น ตรงการที่จะดึงลูกค้ามาทานเป็นกลุ่มพร้อมเพื่อนฝูงได้นั้นต้องมีเมนู-โปรโมชั่นที่หลากหลายครอบคลุม เพราะแต่ละคนมีความชอบไม่เหมือนกัน และหากพาไปทานร้านนึงจนอิ่มแล้วก็จบ ไม่มีการไปทานร้านอื่นต่อแล้ว ต่างจากร้านเสื้อผ้าหรืออื่น ๆ ที่ทยอยไปซื้อที่ละร้านได้”

นอกจากนี้ยังเพิ่มประสบการณ์ในการใช้บริการด้วยการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้งาน และเพิ่มตัวเลือกการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคและช่วยดึงดูดความสนใจให้กับร้านสาขา

เชื่อว่าการเพิ่มแบรนด์ใหม่ การขยายสาขา รวมถึงการลอนช์แคมเปญและเมนูใหม่ ๆ จะผลักดันให้สิ้นปี 2566 นี้ บริษัทมีรายได้ถึง 1.5 หมื่นล้านบาท ตามที่ตั้งเป้าไว้แน่นอน

ทั้งนี้รายผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทมีรายได้ 6.25 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าแล้ว