พิษ “กำลังซื้อ” ตามหลอน ลุ้นรองบฯลงทุนช่วยฟื้นเศรษฐกิจ

ต้นปีที่ผ่านมา แม้ภาพรวมผลการดำเนินงานปี 2566 ของหลาย ๆ ธุรกิจเริ่มกลับมาเติบโตดีขึ้น สะท้อนจากผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ส่วนใหญ่ที่มีอัตราการเติบโตและฟื้นตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในงาน Opportunity Day ที่ผู้บริหาร บจ.หลายแห่ง ย้ำไปในทิศทางเดียวกัน เริ่มเห็นสัญญาณบวกของการพื้นตัวทางเศรษฐกิจและการจับจ่ายที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น

ถึงวันนี้ ขณะที่กำลังย่างเข้าสู่เดือนเมษายน ที่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นไฮซีซั่นของสินค้าหลาย ๆ อย่าง แต่ดูเหมือนภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าจะทำให้สถานการณ์กำลังซื้อในภาพรวมยังมีปัญหา โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มตลาดระดับกลาง-ล่างที่ยังติดหล่ม ขณะที่อีกด้านหนึ่งผู้ประกอบการก็ต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น

ค้าปลีก-ค้าส่ง ต่างจังหวัดหงอย

นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ ค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ในจังหวัดอุดรธานี ยอมรับว่า ตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงตอนนี้ (ต้นเดือนเมษายน) กำลังซื้อผู้บริโภคไม่ดี โดยตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บรรยากาศการค้าขายก็ค่อนข้างซบเซา

ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากผู้บริโภคต้องการจะเก็บเงินไว้จับจ่ายในช่วงเดือนเมษายน การกลับบ้านในช่วงเทศกาลก็ต้องเตรียมค่าเดินทาง ค่าน้ำมัน ค่ากินอยู่ ดังนั้นก็จะเห็นได้ว่าช่วงเดือนมีนาคมยอดขายจึงร่วงลงหมดเลย

“จริง ๆ แล้วคนก็ไม่ค่อยจะมีเงินกันอยู่แล้ว แต่เมื่อต้องมาเก็บเงินอีก มันก็ยิ่งทำให้กำลังซื้อหดตัวมากขึ้นไปอีก ส่งผลให้การค้าขายไม่ดีเลย ถามว่าช่วงสงกรานต์นี้จะดีขึ้นหรือไม่ คำตอบคือไม่น่าจะดีขึ้น ในแง่ของผู้ประกอบการหรือธุรกิจ คงไม่มีอะไรที่ต่างไปจากช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา

ภาพที่จะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ หลัก ๆ จะเป็นการย้ายกําลังซื้อจากกรุงเทพฯ และกระจายออกไปยังต่างจังหวัด เพราะคนต่างจังหวัดที่มาทำงานในกรุงเทพฯก็จะกลับบ้านหรือเยี่ยมญาติในต่างจังหวัดหรือบ้านเกิด”

ที่ผ่านมาช่วงก่อนสงกรานต์ หรือประมาณเดือนมีนาคม ร้านค้าปลีกในต่างจังหวัดก็จะมีการสต๊อกสินค้าไว้ขายในช่วงสงกรานต์ โดยเฉพาะเหล้าเบียร์ แต่ปีนี้เงียบมาก ปัญหาใหญ่คือ คนไม่มีเงินในกระเป๋า เศรษฐกิจไม่ดี คนไม่มีรายได้เพิ่ม แต่อีกด้านหนึ่งก็พบว่า ค่าครองชีพต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น ทั้งค่าน้ำมัน ค่าไฟ และที่เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนเป็นหนี้

“น่าเสียดายที่รัฐบาลไม่ได้มีการกระตุ้นการจับจ่ายด้วยการอัดฉีดเข้ามาในระบบเหมือนกับรัฐบาลที่ผ่าน จึงทำให้ภาวะการบริโภคต่ำลงมาก ตอนนี้ซัพพลายเออร์สินค้าอุปโภคทุกค่ายต่างก็ต้องออกแรงกระตุ้นการจับจ่าย ด้วยโปรโมชั่นต่าง ๆ ทุกรูปแบบ ทั้งลดราคา ซื้อ 1 แถม 1 แจกของพรีเมี่ยม แต่ก็เอาไม่อยู่เพราะคนไม่มีเงิน ซื้อเฉพาะของที่จำเป็น”

กลุ่มกลาง-ล่าง กำลังซื้ออ่อนแรง

นายพงศ์พสุ อุณาพรหม รองกรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่เพื่อการเติบโตองค์กร บริษัท กิฟฟารีน สกายไลน์ ยูนิตี้ จำกัด ธุรกิจขายตรงภายใต้แบรนด์ “กิฟฟารีน” สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นว่า ที่ผ่านมาแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายและจบไปแล้ว

แต่ปัญหาใหม่ก็คือว่าเศรษฐกิจยังคงทรง ๆ จริงอยู่แม้ภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นมาบ้างหลังสถานการณ์โควิด แต่ก็เป็นการฟื้นตัวเพียงเล็กน้อย สำหรับคนกลุ่มกลางถึงบนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและมีกำลังซื้อสูงอาจจะไม่มีผลอะไรนัก

แต่กลุ่มคนตลาดกลุ่มกลางลงมา จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า นอกจากรายได้ที่ไม่เพิ่มแล้ว ตรงกันข้ามยังมีภาระหนี้และค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้คนกลุ่มนี้จับจ่ายอย่างระมัดระวัง

ถ้ามองในแง่ของผู้บริโภคเนี่ย ผู้บริโภคยังคงซื้อของอยู่ แต่ยังคงจับจ่ายเฉพาะของที่จําเป็น คือเขาจ่ายนะ แต่จะซื้อของที่จําเป็น ของอะไรที่ไม่จําเป็นมากนัก ก็จะตัดออก

เช่นเดียวกับความเห็นของแหล่งข่าวระดับสูงจากวงการเครื่องดื่มที่กล่าวในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ภาพรวมของเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ไม่ฟื้นตัวดีนัก โดยเฉพาะกำลังซื้อของกลุ่มตลาดกลาง-ล่าง ประกอบกับต้นทุนค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น จากราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มสูง ค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ

รวมทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในเกณฑ์สูง จึงทำให้คนกลุ่มนี้ค่อนข้างระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย ส่วนกลุ่มตลาดบนยังเป็นกลุ่มที่มีกําลังซื้อและพร้อมที่จะจับจ่าย ปัญหาในขณะนี้หลัก ๆ มาจากคนไม่มีกำลังซื้อ ไม่มีเงิน และขาดความเชื่อมั่น

ที่ผ่านมาแม้ว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล รวมถึงเมืองท่องเที่ยวหลัก ๆ อาจจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นอย่างช้า ๆ แต่จังหวัดที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว โดยเฉพาะจังหวัดในภาคอีสานยังอยู่ในภาวะที่ทรง ๆ ตัว คาดว่าภาวะเช่นนี้จะซึมยาวไปอีกระยะหนึ่งจนกว่าการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายปี 2567 จะเกิดขึ้น ซึ่งก็อาจจะเป็นช่วงที่ผ่านกลางปีไปแล้ว หรือย่างเข้าสู่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป

ในแง่กำลังซื้อในภาพรวม สำหรับกลุ่มกลางขึ้นบนไม่น่ามีปัญหาพวกกำลังซื้อ ดังนั้นกลุ่มค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ก็ยังสามารถที่จะโตได้ และยังจะมีรายได้ส่วนหนึ่งมาจากนักท่องเที่ยวด้วย

โรงพยาบาลก็ไม่รอด-โดนหางเลข

ไม่ต่างจากธุรกิจโรงพยาบาล ที่แม้จะเป็นปัจจัย 4 แต่ก็ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ซบเซาเช่นกัน โดย นายแพทย์สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงพยาบาลยันฮี ยอมรับว่า ตอนนี้ธุรกิจโรงพยาบาลในภาพรวมยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร

และที่สำคัญคือ ทำให้กําลังซื้อผู้บริโภค หรือประชาชนทั่ว ๆ ไปน้อยลง เมื่อกําลังคนซื้อน้อยลง เมื่อเจ็บป่วยก็จะหันไปพึ่งบริการทางภาครัฐ เช่น ประกันสังคม บัตร 30 บาทรักษาทุกโรค ขณะเดียวกันก็ทำให้คนไข้เงินสดที่จะเดินเข้ามาในโรงพยาบาลก็น้อยลงไปด้วย สะท้อนจากภาพของการให้บริการของแผนกต่าง ๆ ใน รพ.ยันฮี ที่ในแต่ละวันจะมีจำนวนคนไข้ที่ลดลง

“เศรษฐกิจไม่ดีคนก็ต้องประหยัด ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยไม่มาก ปวดหัวตัวร้อนเป็นไข้ไม่สบายปวดท้องแพ้อากาศก็จะเดินเข้าร้านขายยาใกล้ ๆ บ้าน ก็เลยเอฟเฟ็กต์กับโรงพยาบาล”

นายแพทย์สุพจน์ยอมรับว่า สำหรับ รพ.ยันฮี ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-มีนาคม) ตัวเลขหายไปประมาณ 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คนไข้นอกจากทุกแผนกรวมกันลดลงเหลือประมาณวันละพันกว่าคน จากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมามีประมาณ 1,500-2,000 คน

ส่วนคนไข้ใน แม้ตัวเลขจะไม่ลดลงมากนัก แต่ก็พบว่าในแง่ของอัตราการครองเตียง คนไข้ขอกลับเร็วขึ้น ไม่นอนยาว สมัยก่อนต้องนอนเฉลี่ย 3-4 วัน ตอนนี้เฉลี่ย 2-3 วัน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่คนไข้น้อย เราก็ถือโอกาสในช่วงนี้ที่จะรีโนเวต ปรับปรุง ทาสีใหม่ อัพเกรดห้องอะไรต่าง ๆ ถ้ามีเวลา เพื่อรองรับในช่วงที่เศรษฐกิจ-กำลังซื้อดีขึ้น

งบประมาณ-การลงทุน คือ ความหวัง

ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ นักวิชาการด้านค้าปลีก และรองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ช่วงนี้ภาพรวมของกำลังซื้อในตลาดไม่ดีเท่าที่ควร ผู้บริโภคยังใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง หลัก ๆ มาจากการไม่มีเงินจากงบประมาณรายจ่าย ซึ่งปีหนึ่งก็ประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท เข้ามาในระบบ ประการถัดมา รัฐบาลไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา

ปกติโดยพื้นฐานแล้ว ทุกปีจะมีเงินจากงบฯลงทุนจากงบประมาณต่าง ๆ ออกมาหล่อเลี้ยงระบบ แต่พอไม่มีงบฯลงทุนออกมาก็กระทบกับระบบ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้งบประมาณรายจ่ายผ่านสภาแล้วก็น่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้ในระดับหนึ่ง

แต่ในทางปฏิบัติหลังจากงบประมาณผ่านสภาแล้วก็อาจจะใช้เวลาอีกสัก 2-3 เดือน ยกเว้นว่าภาครัฐ หรือหน่วยงานไหนที่วางโครงการไว้ก่อนล่วงหน้า ดังนั้นหากเร็วที่สุดอาจจะครึ่งปีหลัง สถานการณ์น่าจะดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เอกชนอยากเห็นก็คือ ภาพการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะสิ่งที่บีโอไอประกาศว่ามีการขออนุญาตลงทุนไปแล้วจำนวนเท่านั้นเท่านี้ ถ้าเป็นจริงก็จะช่วยให้สถานการณ์เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น

ส่วนการท่องเที่ยวที่รัฐบาลมีความคาดหวังว่าจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากการติดตามก็พบว่าตัวเลขยังไม่ชัดเจนนัก และการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท รวมเป็นเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่ก็จะมีผลต่อเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง แต่ก็จะไปมีผลในช่วงไตรมาส 4 แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการดีไซน์รูปแบบว่าจะเป็นอย่างไร จะทำให้เม็ดเงินดังกล่าวหมุนแบบไหนอย่างไร

แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีกอีกรายหนึ่งยอมรับว่า ผลของงบประมาณรายจ่ายที่ล่าช้า ถือเป็นปัจจัยสำคัญฉุดภาวะการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และมีผลกระทบในเรื่องของกำลังซื้อตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา และต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสแรกปีนี้

อย่างไรก็ตาม จากที่งบประมาณได้ผ่านสภาไปแล้ว จากนี้ไปภาครัฐน่าจะมีงบฯการลงทุนที่ทยอยออกมา ซึ่งเร็วที่สุดอาจจะเป็นปลาย ๆ ไตรมาส 2 หรือต้นไตรมาส 3 ก็คงจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกำลังซื้อให้ดีขึ้น

อาจจะกล่าวได้ว่า การเบิกจ่ายงบประมาณที่ผ่านสภาไปแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ คือ ความหวังและตัวแปรสำคัญที่จะช่วยปลุกเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่อ่อนแรงให้ฟื้นตัว…รอและลุ้นกันต่อไป