กรมวิทย์ขออย่าแตกตื่น ความรุนแรงของ BA.4-BA.5 ยังไม่ชัดเจน

กรมวิทย์ขออย่าแตกตื่น ความรุนแรงของ BA.4-BA.5 ยังไม่ชัดเจน แม้จะแพร่ได้เร็วกว่า BA.2 แต่ยังไม่มีหลักฐานด้านความรุนแรง

วันที่ 24 มิถุนายน 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยข้อมูลสถานการณ์การระบาดของไวรัสโรคโควิด-19 สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 พร้อมแนวทางการรับมือของไทย

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า จากแนวโน้มการระบาดทั่วโลกและในประเทศไทย มีความเป็นไปได้สูงที่สายพันธุ์ BA.5 จะกลายเป็นไวรัสโรคโควิด-19 สายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดหลังจากนี้

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์

อย่างไรก็ตาม ในด้านความรุนแรงหรือการทำให้ป่วยหนักนั้นยังไม่มีหลักฐานทางคลินิกที่ชัดเจนว่า สายพันธุ์นี้รุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่น แม้แต่ WHO ยังสรุปว่า BA.4 และ 5 ความรุนแรงไม่มากไปกว่า BA.1 หรือ BA.2 ที่รุนแรงน้อยกว่าเดลต้า

โดยมีเพียงการสันนิษฐานจากตำแหน่งการกลายพันธุ์และการทดลองในห้องทดลองว่า อาจทำให้เกิดการป่วยรุนแรงได้เท่านั้น

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อไปว่า แม้ยังบอกไม่ได้ว่าสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 จะทำให้เกิดการระบาดใหญ่อีกหรือไม่ แต่หลายประเทศมีแนวทางไปในทางเดียวกัน เช่น ลดจำนวนการตรวจลง ทำให้ตัวเลขที่เผยแพร่ออกมาในฐานข้อมูลนานาชาติต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่มาก

ดังนั้น หากสายพันธุ์นี้ไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรงเป็นพิเศษ หรือทำให้ผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นแบบผิดปกติ อาจไม่จำเป็นต้องกังวลกับจำนวนผู้ติดเชื้อ จึงยังเชื่อมั่นในมาตรการที่ภาครัฐนำมาใช้ในขณะนี้

นพ.ศุภกิจย้ำว่า อย่างไรก็ตาม กรมได้เร่งเก็บข้อมูลด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมจากเชื้อในผู้ป่วยอาการหนักเพื่อหาความเชื่อมโยง รวมถึงการสุ่มตรวจในกลุ่มที่จำเป็น เช่น ผู้เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ คลัสเตอร์ที่มีลักษณะแปลก โดยจะตรวจในจำนวนที่มากพอ และจะนำมารายงานให้ทราบต่อไป