ประเทศไทย นักกีฬาที่ถูกลืม

สันติธาร เสถียรไทย
สันติธาร เสถียรไทย
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

สัปดาห์ก่อนได้มีโอกาสสนทนากับ ดร.สันติธาร เสถียรไทย หรือ ดร.ต้นสน ที่ได้ชื่อว่าเป็น “นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย” อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ Sea Group สตาร์ตอัพยูนิคอร์นของอาเซียน ที่ตัดสินใจลาออกและกลับมาปักหลักใช้ชีวิตในประเทศไทย

และล่าสุดได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีผลตั้งแต่ 1 พ.ย. 2566

เรียกได้ว่าเป็น กนง.ที่อายุน้อยที่สุด และอาจถือว่าเป็นการเพิ่มมุมมองการดำเนินนโยบายการเงินในมุมของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่มากขึ้น

ดร.สันติธารเล่าถึงที่ได้รับแต่งตั้งเป็น กนง. ก็ทำให้เส้นทางชีวิตเปลี่ยนไป เพราะเดิมนั้นนอกจากการเป็นผู้บริหารมืออาชีพ และรับเป็นกรรมการ (บอร์ด) สถาบันการเงินต่าง ๆ แต่เมื่อมานั่งตำแหน่ง กนง. ก็ต้องลาออกจากบอร์ดสถาบันการเงินต่าง ๆ ทั้งหมด เพราะเป็นข้อห้าม ดังนั้นจึงต้องจัดพอร์ตการทำงานของตัวเองใหม่ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน

โดย ดร.สันติธารได้เปรียบเทียบเศรษฐกิจไทยว่าเหมือน “นักกีฬาสูงวัย” กระโดดไม่สูง วิ่งไม่เร็ว เหนื่อยง่าย เรียกว่าความสามารถในการแข่งขันน้อย ทำให้ไม่ดึงดูดแมวมอง ไม่เป็นที่สนใจของนักลงทุน และถ้าปล่อยไว้ไม่ทำอะไร สิ่งที่น่ากลัวก็คือจะกลายเป็น “นักกีฬาที่ถูกลืม” คือถูกโค้ชทิ้งนั่งเป็นตัวสำรอง และถดถอยไปเรื่อย ๆ

นี่ก็คือความเสี่ยงของประเทศไทย ถ้าไม่เปลี่ยนแปลง ปฏิรูปโครงสร้างอะไรหลาย ๆ อย่าง

เพราะแม้ในขณะที่โลกกำลังให้ความสนใจอาเซียน จากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ คือการลงทุนโดยตรง (FDI) กำลังไหลเข้ามาในอาเซียน แต่จากข้อมูลจะเห็นว่า ประเทศไทยได้รับอานิสงส์จากปัจจัยดังกล่าว น้อยกว่าเพื่อนบ้านค่อนข้างมาก

ตอนนี้ส่วนใหญ่จะเลือกไปสิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และเกรงว่าในอนาคตถ้าไม่ทำอะไร รายชื่อประเทศที่แซงหน้าไทยจะยาวขึ้น และอาจจะกลายเป็นว่าประเทศไทยต้องไปแข่งกับฟิลิปปินส์

และไม่ใช่แค่แรงดึงดูดการลงทุนของไทยจะลดน้อยลง ขณะที่ในมุมของการส่งออก มาร์เก็ตแชร์ของหลายสินค้าไทย ก็ปรับลดลงเรื่อย ๆ เช่นกัน

สะท้อนถึงความสามารถการแข่งขันปรับลดลงจริง ๆ

เพราะฉะนั้นถ้าประเทศไทยไม่ทำอะไรเลย จะปรับตัวไม่ทันและ “ถูกลืม”

อย่างไรก็ดี ดร.สันติธารยืนยันว่านักกีฬาสูงวัยยังมีโอกาสที่จะไปยืนอยู่แถวหน้าได้

เพราะปัจจุบันความสามารถของเทคโนโลยีช่วยได้ โดย ดร.สันติธารฉายภาพว่า โลกเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ด้านหนึ่งจึงเป็นความเสี่ยง แต่อีกด้านก็เป็นโอกาส เพราะว่าคลื่นลูกใหม่แรงกว่าคลื่นลูกเก่าเสมอ

“ถ้าเราพลาดคลื่นลูกที่แล้ว เรายังสามารถเกาะคลื่นลูกใหม่และวิ่งแซงคนอื่นได้” ดร.สันติธารกล่าว

พร้อมกับยกตัวอย่างว่า เช่นที่เราพลาดเรื่อง digital transformation ใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ คนอื่นทำได้ดีกว่า แต่ตอนนี้มี WAVE ใหม่เรื่อง Generative AI พวก Chat GPT เป็นคลื่นลูกใหม่

ถ้าประเทศไทยสามารถจับคลื่นลูกนี้ได้ ใช้ประโยชน์จาก Generative AI ได้เต็มที่ สุดท้ายเราจะสามารถ take off และแซงคนอื่นได้เหมือนกัน

และขณะเดียวกันประเทศไทยยังมีจุดแข็งหลายอย่าง โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและเฮลท์แคร์ ซึ่ง ดร.สันติธารเรียกว่าเป็นกลุ่ม care economy เพราะต้องอาศัยคนที่มีหัวใจงานบริการ ซึ่งเป็นจุดเด่นของคนไทย

นอกจากนี้ประเทศไทย ยังเป็นจุดหมายของคนต่างชาติจำนวนมากที่อยากมาใช้ชีวิตในเมืองไทย รวมถึง talent ก็ชอบมาทำงานที่นี่ ซึ่งถ้าเราสามารถทำให้ระบบดึงดูด talent จากทั่วโลกมาอยู่ที่ไทยและอยู่ได้ยาว ทำให้เป็นฮับ global talent สุดท้ายแล้วจะช่วยเป็นแรงแม่เหล็กดึงดูดเงินทุนทั้งหลายมาลงทุนได้เป็นอย่างดี

และนี่อาจเป็นความหวังของประเทศไทย ที่จะไม่เป็นนักกีฬาที่ถูกลืม