พ.ร.บ.กู้ 5 แสนล้าน ทางออกหรือ “จุดจบ” เงินดิจิทัล

คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง แถลงข่าวเรื่องการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา

ฟังเผิน ๆ ประชาชนอาจคิดว่านโยบายแจกเงิน 10,000 บาทเป็นจริงแล้ว คนที่อายุ 16 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาทต่อเดือน และเงินฝากไม่ถึง 5 แสนบาท จะได้รับเงินหมื่น พ.ค. 2567

แต่ประเด็นปัญหาคือแหล่งที่มาของเงินที่ใช้แจก ซึ่งนายกรัฐมนตรีระบุว่าจะออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท

เรียกว่าเป็นประเด็นร้อนถล่มใส่นายกฯ และพรรคเพื่อไทยในทุกทิศทุกทาง เพราะเคยบอกว่าจะไม่กู้เงิน และก็เท่ากับว่ากู้เงิน-มาแจก

อย่างไรก็ดี ถือเป็นครั้งแรกที่มีความชัดเจนของนโยบายมากที่สุด หลังจากที่ปล่อยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพูดไปคนละทิศคนละทาง รวมถึงยืนยันว่าจะจ่ายเงิน 10,000 บาทผ่านแอปเป๋าตัง ซึ่งที่ผ่านมา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ออกมาปฏิเสธว่าจะพัฒนาแอปใหม่ขึ้นมาทั้งมีการให้ข้อมูลอื่น ๆ เปลี่ยนไปทุกวัน

เรียกว่าการสื่อสารของรัฐบาลเพื่อไทยยุคนี้มีปัญหาหนัก ซึ่งนายกรัฐมนตรีระบุว่า เพราะสื่อมวลชนเอาไมค์จ่อปากรัฐมนตรีทุกวัน ทั้งที่ยังไม่มีข้อสรุป ทำให้ข้อมูลเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ปัญหาที่สร้างความสับสนเป็นเพราะไมค์จ่อปากจริงหรือ ?

ขณะที่การออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท คือโจทย์ใหญ่เป็นเดิมพันของรัฐบาลเศรษฐา ว่าจะฝ่าด่านทำนโยบายแจกเงินดิจิทัลได้หรือไม่ ซึ่งก็ถูกปรามาสจากฝ่ายค้านทันทีว่าเป็นแผนหา “ทางลง” เพราะรู้อยู่แล้วว่า พ.ร.บ.กู้เงินขัดรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง

ขณะที่นายกรัฐมนตรีตอบคำถามหลังแถลงรายละเอียดกับทีมมติชน-ประชาชาติธุรกิจว่า

“ผมว่าข้อกล่าวหาที่เป็นข้อกล่าวหาที่เอาตัวเองเป็นบรรทัดฐาน บรรทัดฐานของเขาของผมต่างกัน”

นายกฯ ยอมรับว่า การออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงินมีความเสี่ยง ทั้งที่จะไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา และกฤษฎีกาเป็นความเสี่ยงแรกว่าจะตีความอย่างไร แต่มั่นใจว่าสิ่งที่ผมทำถูกต้องทุกอย่าง ว่าไปตามเนื้อผ้า เชื่อว่าตอนเข้าสภาจะมีเสียงข้างมากแน่นอน

แต่ถ้ามีอุบัติเหตุให้ พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านไม่ผ่าน ผลจะเป็นอย่างไร

“ถ้า พ.ร.บ.กู้เงินไม่ผ่าน ก็อาจถือว่าเป็นความซวยของประเทศ ผมมาวันนี้ไม่ได้มาเล่นการเมือง ผมมาทำให้ชีวิตความเป็นอยู่พี่น้องประชาชนดีขึ้น ถ้านโยบายหลักไม่ถูกผลักดันออกไปผมก็เหนื่อย ถ้าผมไม่สามารถกระตุกเศรษฐกิจขึ้นมาได้ ผมก็ไม่สมควรต้องอยู่ตรงนี้”

“ …แต่ผมก็ต้องหาอย่างอื่นมาทำต่อ เพื่อกระตุกเศรษฐกิจ”

ขณะที่โจทย์ท้าทายที่รัฐบาลจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านเพื่อมาแจก ว่าจะเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และขัดรัฐธรรมนูญ จนถึงเดินหน้ายื่นฟ้องศาลปกครอง

นายกฯเศรษฐาระบุว่า เรื่องนี้มีการขอความเห็นกับผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ซึ่งเป็นคนบอกว่าท่านนายกฯ ครับ 1.อย่าให้คนรวย 2.ต้องใช้ พ.ร.บ.กู้เงิน ปัจจุบันหนี้สาธารณะไทยอยู่ที่ 61% ต่อจีดีพี กู้มาก็ขึ้นเป็น 63-64% ยังรับได้

อย่างไรก็ดี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ขยายความว่า นายกรัฐมนตรีได้หารือผู้ว่าฯธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้ว่าฯ ธปท.ให้ข้อคิดว่า เพื่อให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.เงินตรา ต้องมีเงินมาสำรองโครงการ เราเลยแก้ปัญหาด้วยการกู้เงินแล้วค่อย ๆ ใช้ โดยผู้ว่าฯ ก็มีข้อเสนอเห็นด้วยกับการขอกู้ เพราะสะอาดดี และในที่ประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเลต ผู้ว่าฯ ธปท.ก็ให้ความเห็นว่าเรื่องการกู้เงินนายกฯต้องระวัง และให้บันทึกการประชุมว่าท่านได้ให้ความเห็นว่า ป.ป.ช.มีความเห็นมาอย่างไรบ้าง

และนี่น่าจะอธิบายความเห็นของผู้ว่าฯ ธปท.ได้ชัดขึ้น

เพราะผู้ว่าฯ ธปท.ได้แสดงจุดยืนมาตลอดว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยไม่ได้วิกฤต ไม่จำเป็นต้องแจกเงินเพื่อกระตุ้น หรือถ้าจะแจกก็ไม่จำเป็นต้องแจกทุกคน

เรื่องนี้ต้องติดตามกันต่อไปว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านจะเป็นทางออก หรือจุดจบของเงินดิจิทัลวอลเลต