
คอลัมน์ : Market-think ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์
วันก่อน อ่านเพจของ “ชลากรณ์ ปัญญาโฉม” ผู้บริหารเวิร์คพอยท์ เจอโพสต์เก่าของเขาเมื่อหลายปีก่อน
เขาเล่าเรื่องหลักคิด Fantastic Four ของ “พี่จิก” ประภาส ชลศรานนท์
ดูชื่อเรื่องแล้วเหมือนหนังอเวนเจอร์
แต่ “พี่จิก” แปลเป็นไทยว่า “อภินิหาร 4 ประการแห่งความสำเร็จ”
เขาเขียนเรื่องนี้เพื่อสอนนักเรียนโรงบ่ม (โรงเรียนสอนแต่งเพลง) ของ “พี่จิก”
ดีมากเลย
ลองอ่านดูนะครับ
“Fantastic Four”
ครูจะชวนให้พวกเรารู้จัก อภินิหารสี่ประการแห่งความสำเร็จ
จำได้ไหม
“แค่ชอบยังไม่พอ”
ครูพูดบ่อยมาก เพราะไม่ว่าใคร ๆ ทุกวันนี้จะทำอะไรก็จะอ้างว่าตัวเองรักตัวเองชอบในสิ่งนั้นสิ่งนี้
แน่นอนความรักความชอบต้องมาก่อน อันนี้สำคัญ
“ความชอบ” เป็นอภินิหารอันดับแรก
แต่ชอบแล้วต้องเพียรด้วย
ชอบแล้วนั่งนิ่ง ๆ คุยเล่นทั้งวันในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ไม่ลงมือทำอะไรก็ไม่เกิดงาน
ดังนั้น “ความเพียร” จึงเป็นอภินิหารอันดับที่สอง
เพียรแล้วก็ยังไม่พอต้อง “หลงใหลมันอย่างหัวปักหัวปำ” ด้วย
อันนี้ครูก็ยกตัวอย่างบ่อย ๆ มากกว่าความเพียรคือเราต้องมีใจจดจ่อกับสิ่งนั้น หรือภาษาที่คนทำงานชอบใช้คำว่าโฟกัสนั่นแหละ
อันนี้เป็นอันที่สาม
แล้วอภินิหารอันที่สี่ละ
“เมื่อรู้แล้วจงลืมทิ้งให้หมด” ครูเคยพูดอย่างนี้ แปลว่าอะไร
แปลว่าเราต้องเข้าใจงานของเราอย่างลึกซึ้ง ไม่ต้องจด
ขั้นตอนที่เคยแยก ๆ ไว้ให้รวมเป็นหนึ่งเดียวกับลมหายใจ
ทำงานเหมือนเราหายใจเข้าออก
รู้ที่มาที่ไป รู้เหตุรู้ผล
เข้าใจคำว่าแก่นของงานอย่างแท้จริง
ครูเรียกอภินิหารอันที่สี่ว่า ‘เข้าใจอย่างลึกซึ้ง’
มันจะเกิดได้ต่อเมื่อเราสอดส่องมองทุกมุม
มิเช่นนั้นเราจะกลายเป็นแค่คนโง่ที่ขยันเท่านั้น
Fantastic Four นี้ต้องมีครบ และต้องค่อย ๆ มีทีละขั้น
เพราะมันเป็นขั้นกว่า
เรื่องอภินิหารสี่ประการที่ครูพูดในวันนี้
มหาบุรุษหนึ่งผู้มีชีวิตเมื่อสองพันหกร้อยปีก่อนพูดไว้หมดแล้วเป็นภาษามคธ และพูดให้คนธรรมดาฟังด้วย
ต่อมามันถูกแปลเป็นภาษาไทยว่า อิทธิบาทสี่ (รากฐานแห่งอิทธิฤทธิ์)
ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา
…นั่นเอง
เมื่อครั้งยังเด็กเรียนวิชาพุทธศาสนา เราก็ท่องกันปาว ๆ
บางทีครูที่สอนเราก็อาจไม่ได้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง
บางทีผู้เขียนตำราก็อาจไม่ได้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง
อภินิหารสี่ประการนี้ก็เหมือนเรื่องอื่น ที่จะไม่มีทางเข้าใจอย่างลึกซึ้งได้
ถ้าไม่ทำด้วยตัวเอง
ด้วยความรัก ด้วยความเพียร ด้วยความหลงใหลและด้วยการสอดส่องให้รอบด้านจนทะลุปรุโปร่ง”
ลองอ่านดี ๆ นะครับ เอาปรับไปใช้ในการทำงานได้
ในอภินิหารทั้งสี่ของ “พี่จิก” ผมชอบเรื่อง “เมื่อรู้แล้วจงลืมทิ้งให้หมด” มาก
เพราะนอกจากในมุมที่ “พี่จิก” บอกว่า “เข้าใจงานอย่างลึกซึ้ง”
ผมยังคิดในมุมของ “ความคิดสร้างสรรค์”
เพราะสิ่งใหม่ ๆ ในโลกใบนี้มาจากการเริ่มต้นคิดใหม่
ไม่ยึดติดกับสิ่งเดิมที่เคยทำมาก่อน
ต้องกล้าทิ้ง
และต้องกล้าที่จะลองทำสิ่งใหม่
…อย่ากลัว