จีน-ญี่ปุ่น

BYD
คอลัมน์ : Market-think 
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

เห็นตัวเลขยอดขายรถยนต์ในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป แล้วต้องยอมรับเลยว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ของเมืองไทยถึงจุดเปลี่ยนแล้ว

ยอดขาย “โตโยต้า” ยังเป็นอันดับ 1

“ฮอนด้า” อันดับที่ 2

แต่อันดับที่ 3 คือ BYD

อันดับ 4 Aion อันดับ 5 MG อันดับ 6 GWM อันดับ 7 ChangAn อันดับ 8 Isuzu อันดับ 9 Nissan

และอันดับ 10 Mazda

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ รถยนต์แบรนด์จีนติดอันดับถึง 5 ใน 10

อันดับ 3-7 เป็นรถยนต์แบรนด์จีนเรียงกันมาเลย

แม้ยอดขายรวม “ญี่ปุ่น” ยังชนะ “จีน” อยู่

แต่ตัวเลขที่ก้าวกระโดดของรถยนต์จีนน่าตกใจมาก

แสดงว่าพลังของ “แบรนด์” รถญี่ปุ่นที่ครองตลาดมานานเริ่มลดลงแล้ว

และไม่ใช่แค่ลดลงธรรมดา

แต่ลดวูบลงอย่างรวดเร็ว

อีกเรื่องหนึ่ง คือ รถยนต์อีวีที่ขายได้ในงานนี้ สูงถึง 38.4%

จากเมื่อเดือนมีนาคมที่ขายในงานมอเตอร์โชว์ 21%

สูงขึ้นเกือบเท่าตัวเลยนะครับ

อย่าแปลกใจที่จะเห็นผู้บริหารรถยนต์ค่ายญี่ปุ่นหลายคนออกมาให้สัมภาษณ์แสดงความกังวลอย่างชัดเจน

ในมุมของธุรกิจก็เรื่องหนึ่ง

แต่ในเรื่องภาพรวมของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ยึดโยงกับยอดการส่งออกและแรงงานจำนวนมาก

รัฐบาลต้องนำมาใคร่ครวญอย่างหนัก

เพราะรถยนต์อีวีจากจีนเกือบทั้งหมดที่ขายในเมืองไทยเป็นรถนำเข้าจากจีนที่ภาษีเป็น 0

และมีเงื่อนไขจูงใจให้รถยนต์อีวีลดราคาลงอีก

โดยแลกกับการตั้งโรงงานในเมืองไทย

ในมุมหนึ่งเป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญมาก เพราะแสดงชัดว่าเมืองไทยมีเป้าหมายจะเปลี่ยนผ่านไปสู่รถอีวี ซึ่งเป็น “อนาคต” ของอุตสาหกรรมรถยนต์

แต่ในช่วง “การเปลี่ยนผ่าน” จะทำอย่างไรให้ประเทศได้ประโยชน์มากที่สุด

หรือสูญเสียน้อยที่สุด

อย่าลืมว่าการผลิตรถยนต์สันดาปภายในของไทย มีมูลค่าสูงถึง 11% ของ GDP

มีซัพพลายเชนมากกว่า 2,300 ราย

มีแรงงาน 700,000-800,000 คน ในระบบ

รถอีวีนั้นใช้ชิ้นส่วนรถยนต์น้อยมาก

ชิ้นส่วนที่จะกระทบมากที่สุด คือ เครื่องยนต์ ระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และระบบเกียร์

เพราะรถอีวีไม่ต้องใช้ชิ้นส่วนเหล่านี้ในรถ

รองลงมาคือ กลุ่มส่วนประกอบไฟฟ้า ตัวถัง ระบบเบรก และระบบหล่อเย็น

คาดว่าคุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คงเห็นปัญหานี้แล้ว

เขาจึงพยายามปักธงบอกบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นว่า เมืองไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์สันดาปแห่งสุดท้าย

คงเตรียมให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ กับบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น เพื่อให้เมืองไทยเป็นฐานที่มั่นของเขา

หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าดีมานด์รถสันดาปภายในของตลาดโลกเริ่มลดลง หากบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นจะลดกำลังการผลิตลง ก็ปิดโรงงานในประเทศอื่นมาอยู่เมืองไทยที่เดียวดีกว่า

แต่การให้คำว่า “แห่งสุดท้าย” กับรถยนต์สันดาป ดูเศร้าสร้อยไปหน่อย

น่าจะหาคำทางบวกที่ดีกว่านี้

รัฐบาลคงคิดแล้วว่าแนวทางนี้ คือ วิธีการยืดอายุอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ในเมืองไทยให้นานที่สุด

ในขณะที่ชัดเจนว่าจะเดินไปในเส้นทางอนาคต คือ รถอีวี

แต่จะสำเร็จหรือไม่ คงต้องรอดูผลการเดินทางไปญี่ปุ่นครั้งนี้ของคุณเศรษฐา

เขานัดพบบริษัทรถยนต์หลายแห่ง

แต่แปลกที่รายชื่อที่แจ้งกับสื่อมวลชน ไม่มี “โตโยต้า” ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ของวงการรถยนต์

ไม่รู้ว่ายังไม่คอนเฟิร์ม หรืองอนอะไรหรือเปล่า

อีกประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลไทยต้องคิดให้ดี คือ วิธีคิดของนักลงทุนญี่ปุ่นกับจีนนั้นแตกต่างกัน

ถ้าดูจากอุตสาหกรรมรถยนต์ “ญี่ปุ่น” กระจายรายได้ค่อนข้างดี

โรงงานชิ้นส่วนส่วนใหญ่เป็นของคนไทย

แต่การลงทุนของจีนในช่วงที่ผ่านมา ทั้งในเมืองไทยและในประเทศอื่น ๆ

เขามาแบบครบวงจร

บางประเทศเอาแรงงานจีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก

หรือดูจากธุรกิจการท่องเที่ยว ทัวร์จีนที่มา โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ร้านค้าที่ซื้อของ ฯลฯ

คนจีนเป็นเจ้าของเกือบทั้งหมด

ประเด็นนี้ คือ เรื่องสำคัญ ที่รัฐบาลต้องวางแผนให้ดี

เพื่อให้เมืองไทยได้ประโยชน์สูงสุด