เปิดประวัติ สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ 16 ปี บริหารช่อง 3 ลาออกทุกตำแหน่ง

สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ ช่อง 3 มาลีนนท์

เปิดประวัติ สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ ผู้บริหารช่อง 3 อายุงานรวมกว่า 16 ปี ก่อนตัดสินใจลาออกจากทุกตำแหน่งใน บีอีซี เวิลด์

หลังจาก บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงการยื่นลาออกจากตำแหน่งทั้งหมดของ นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการ (กรรมการที่เป็นผู้บริหาร) และกรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจโทรทัศน์ บีอีซี เวิลด์ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ชื่อของ “สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์” ได้รับความสนใจต่อมาว่า เขาคือใคร และทำไมการลาออกของเขา ได้กลายเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจในวงการสื่อ

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมความน่าสนใจของผู้ชายคนนี้ให้รู้จัก ดังนี้

“สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์” คือใคร ?

สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ ปัจจุบันอายุ 59 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และระดับปริญญาโท Master of Arts, Economics, Middle Tennessee State University, USA

สุรินทร์ ให้สัมภาษณ์กับ MiX Magazine เมื่อปี 2558 ถึงเส้นทางการทำงานในอดีตก่อนจะเข้ามาอยู่ที่ช่อง 3 ระบุว่า เขาเริ่มงานจากการเป็น Management Trainee ในบริษัทยูนิลีเวอร์ เป็นเวลา 6 ปี จากนั้นได้ย้ายมาทำงานด้านการตลาดที่ บริษัท เป๊ปซี่ – โคล่า ไทย เทรดดิ้ง จำกัด โดยทำมาจนมีตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด เอเชีย

จากนั้นได้เบนสาย มาทำงานบริษัทบันเทิง ในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีเอ็มจี เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (BMG Entertainment) และเป็นกรรมการผู้จัดการที่ S.C. Johnson & Son Ltd. กระทั่งได้ย้ายมาทำงานอยู่ที่ช่อง 3 ในปี 2547

เริ่มต้นประสบการณ์บริหารช่องทีวี

สุรินทร์ เริ่มต้นงานการบริหารสถานีโทรทัศน์ที่ ช่อง 3 ตั้งแต่ช่วงปี 2547 และบริหารมาจนถึงปี 2560 โดยตำแหน่งสุดท้ายก่อนลาออก เมื่อปี 2560 คือ การเป็นรองกรรมการผู้จัดการ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อก จาก บมจ.อสมท.

หนึ่งในผลงานใหญ่ที่ สุรินทร์ ต่อสู้และจัดการระหว่างดำรงตำแหน่งในช่วงนั้น คือ การแก้ปัญหาการออกอากาศคู่ขนานในโครงข่ายดาวเทียมและเคเบิลทีวีของ ช่อง 3 ในระบบแอนะล็อก เมื่อปี 2557 ที่มีข้อติดขัดเรื่องบริษัทผู้ดำเนินการออกอากาศนั้น ไม่ใช่นิติบุคคลเดียวกัน (ช่อง 3 แอนะล็อก ดำเนินการโดย บจก.บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ | ช่อง 3 ระบบดิจิทัล ดำเนินการโดย บจก.บีอีซี มัลติมีเดีย)

ทำให้ช่อง 3 มีความกังวลว่า การออกอากาศคู่ขนานภายใต้คนละบริษัทนั้น จะสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายหรือไม่ ?

ข้อติดขัดดังกล่าวจบลงที่ ศาลปกครองกลาง ให้ช่อง 3 ในระบบแอนะล็อก สามารถออกอากาศคู่ขนานกับช่อง 3 ในระบบดิจิทัลได้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน

จาก “ช่อง 33” สู่ “ช่อง 36”

กันยายน 2560 สุรินทร์ ตัดสินใจโบกมือลาตึกมาลีนนท์ ที่ทำงานมายาวนานนับทศวรรษ เพื่อมาทำหน้าที่เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด หรือ ช่อง PPTV HD 36 ของตระกูลปราสาททองโอสถ

ผลงานใหญ่ ๆ ระหว่างการบริหารที่ PPTV นั้น คือการปรับกลยุทธ์ของช่องใหม่ สู่ “World Class TV” เดินเกมแข่งขันในสมรภูมิทีวีดิจิทัลด้วยการนำรายการสารคดี บันเทิง และกีฬาชั้นนำ คุณภาพระดับเวิลด์คลาสมาดึงผู้ชมมากขึ้น

คัมแบ็ก “ช่อง 3” เดินหน้าลุยดิจิทัล

ช่วงปี 2563 สุรินทร์ ตัดสินใจลาออกจาก PPTV หลังทำหน้าที่บริหารช่องมานานถึง 3 ปี และกลับมาดำรงตำแหน่งที่ตึกมาลีนนท์อีกครั้ง โดยดำรงตำแหน่ง กรรมการ (กรรมการที่เป็นผู้บริหาร) และกรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจโทรทัศน์ บีอีซี เวิลด์ ซึ่งเป็นการกลับมาทำหน้าที่ที่ช่อง 3 และ บีอีซี เวิลด์ ในวันที่กำลังประสบภาวะขาดทุน

การกลับมาทำหน้าที่ของ สุรินทร์ ในครั้งนี้นั้น มาพร้อมกับการปรับทิศทางของ บีอีซี เวิลด์ สู่การเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ บนแนวคิด “Single Content Multiple Platform” ผลิตคอนเทนต์เดียว สามารถนำไปออกอากาศหรือขายตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทั้งโทรทัศน์ และแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ Over-the-Top (OTT)

ไปจนถึงการขายไปยังต่างประเทศด้วย ทั้งการจำหน่ายเอง และการจำหน่ายผ่านตัวแทน ซึ่งช่อง 3 ได้ร่วมมือกับ เจเคเอ็น (JKN) ของ จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ในการจำหน่ายลิขสิทธิ์ละครและคอนเทนต์ต่าง ๆ ของช่อง

รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ของช่อง 3 เอง ในชื่อ 3Plus (3 พลัส) ที่เปิดตัวก่อนหน้า สุรินทร์ กลับเข้ามาดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่การพัฒนาระบบสมาชิก 3Plus Premium จนถึงการเพิ่มคอนเทนต์ใหม่ ๆ ให้มีความน่าสนใจมากขึ้น

นอกจากนี้ ช่อง 3 ในช่วงดังกล่าว มีทิศทางใหม่ ๆ น่าสนใจ โดยเฉพาะการจับมือกับ เอ็ม พิคเจอร์ส (M PICTURES) หรือ เอ็ม สตูดิโอ (M STUDIO) และการร่วมทุนกับ เมเจอร์ จอยน์ ฟิล์ม เพื่อลุยเรื่องภาพยนตร์ไทย ซึ่งมีผลงานแล้ว 2 เรื่อง คือ บัวผันฟันยับ และธี่หยด

กระทั่ง บีอีซี เวิลด์ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุว่า นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ ได้แจ้งความประสงค์ขอลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทและผู้บริหารของบริษัทฯ และบริษัทในเครือทั้งหมด โดยการลาออกมีผลตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา โดยไม่ได้ระบุถึงสาเหตุการลาออกแต่อย่างใด

ทั้งนี้ มติชน รายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ ทางคณะกรรมการบริหาร ได้มีประกาศ มอบหมาย การปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง รักษาการกรรมการผู้อำนวยการสายธุรกิจโทรทัศน์ โดยระบุว่า ตามที่นายสุรินทร์ มีความจำเป็น ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการสายธุรกิจโทรทัศน์ ในช่วงเวลานี้ได้นั้น

ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารงานของกลุ่มบริษัท บีอีซี ดำเนินงานไปด้วยความราบรื่น ตามมติประชุมคณะกรรมการบริหารครั้งที่ 12 วันที่ 24 ตุลาคม 2566 ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง คุณฉัตรชัย เทียมทอง ที่ปรึกษากรรมการบริหาร รักษาการ และปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง กรรมการอำนวยการ-สายธุรกิจโทรทัศน์ ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง