2 ทศวรรษในการเมือง “ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ลุ้นเก้าอี้นายกฯ ตอนอายุ 78  

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

11 สิงหาคม มูลนิธิบ้านป่ารอย หัวบันไดไม่แห้ง เพราะเป็นวันคล้ายวันเกิดครบ 78 ปี ของประมุขบ้านหลังนั้น ที่ชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

ประเดิมด้วยฉาก 3 ป. พี่-น้อง บูรพาพยัคฆ์ พล.อ.ประวิตร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กินข้าวเช้าด้วยกัน เหมือนที่เคยทำกันมาหลายทศวรรษ

นักการเมืองหลายขั้วอำนาจ เดินทางไปอวยพรไม่ขาดสาย ตัวอย่างเช่น อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มาพร้อมกับ ชาดา ไทยเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ อดีต สส.พรรคไทยศรีวิไลย์ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา

พิชัย เตชะอุบล แกนนำพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร สมาชิก สว. และ พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม

แม้ว่าพรรคพลังประชารัฐ ประกาศเทเสียงให้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล แต่ พล.อ.ประวิตร และ 3 ป.คอนเน็กชั่น ยังคงเป็นจุดชี้ขาดการตั้งรัฐบาล เนื่องจากคุมกำลังใน “พรรค สว.”

กว่า 2 ทศวรรษ ที่ พล.อ.ประวิตร เข้าสู่การเมือง วางขุมกำลังไว้ทุกอณู ตั้งแต่ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เมื่อ 1 ตุลาคม 2547 ชื่อของ “พล.อ.ประวิตร” ไม่เคยหายไปจากการเมืองจนถึงวันนี้

“ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีที่เพิ่งเลื่อนวันเดินทางกลับประเทศ เคยกล่าวในรายการแคร์ทอล์ก ของกลุ่มแคร์ เล่าเบื้องหลังการตั้ง พล.อ.ประวิตร เป็น ผบ.ทบ. เพราะ เขาดูโหงวเฮ้งไม่เป็น ถ้า “รู้งี้” คงไม่ตั้ง

“ดูโหงวเฮ้งไม่เป็น หากฝึกดูโหงวเฮ้งหน่อย วันนั้นก็คงไม่ตั้ง ดูท่าทางก็เรียบร้อยดี คนนี้โดน พล.อ.เปรม สั่งประจำ เหตุการณ์นัดแล้วไม่มาตามนัด ตอนนั้นเป็นผู้การกรม ที่ปราจีนบุรี คนอื่นเขาไม่ออกสักคน แกนำมาคนเดียว เลยถูกจับได้ ว่านำมา ก็ถูก พล.อ.เปรม ก็ให้เขามาเป็นแม่ทัพภาค 1”

“เขากองเชียร์เยอะมาก มี วัฒนา เมืองสุข เป็น สส.ปราจีนบุรี ก็มาเชียร์ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ก็มาเชียร์ ผมไม่ค่อยรู้จักเขา ก็รู้ว่าเป็นพี่ชายของรุ่นพี่ผม คือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รู้จักกันดี ก็เลยตั้ง”

นับจากวันนั้น พล.อ.ประวิตร ก็กลายเป็นพี่ใหญ่แห่ง “บูรพาพยัคฆ์” ผู้ถือดุลอำนาจ 3 ป. เพราะเขาดึง 2 ป.ทหารเสือราชินี เข้าสู่ศูนย์กลางการบัญชาการ ตามรอยอำนาจในกองทัพ

คือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา จากตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) มาเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.ร.1 รอ.) และดึง พล.อ.ประยุทธ์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.ร 2 รอ.) มาเป็นรองแม่ทัพภาค 1 จนกลายเป็นคีย์แมนหลักการเมืองจนถึงทุกวันนี้

จิ๊กซอว์อำนาจของ “บิ๊กป้อม”

สลับฉากมาที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เข้ามารับเก้าอี้ ผบ.ทบ.ต่อจาก พล.อ.ประวิตร แม้ไม่เป็นทหารเสือราชินี ไม่ได้เป็นนักรบตะวันออก “บูรพาพยัคฆ์” ทว่าเป็น “หน่วยรบพิเศษ” แต่ก็เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 6 รุ่นเดียวกัน

พล.อ.สนธิดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ กระทั่งปี 2547 ได้ขึ้นผู้ช่วย ผบ.ทบ. และถูกส่งไปจับงานที่กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) ซึ่งถูกตั้งแทนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ดูแลพื้นที่ภาคใต้

แต่เพียงเพราะวาทะ “โจรกระจอก” ของ “ทักษิณ ชินวัตร” หลังเหตุการณ์ปล้นปืน ที่ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีส่วนที่ทำให้ “ทักษิณ” ตัดสินใจเลือก “พล.อ.สนธิ” มาเป็น ผบ.ทบ. ที่เป็นชาวมุสลิมคนแรกเพื่อสางปัญหาความไม่สงบ.. ทว่า ผลลัพธ์กลับเป็น ผบ.ทบ.ที่ลงมือยึดอำนาจ

แต่ระหว่างนั้นเอง จิ๊กซอว์การเมืองของ 3 ป.ที่ถูกวางทีละชิ้นโดย พล.อ.ประวิตร ซึ่งค่อยชัดขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อ พล.อ.อนุพงษ์ ได้ขยับไลน์เป็น แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะที่เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 10 รุ่นเดียวกับ “ทักษิณ” ก่อนเกิดตำนาน “เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด” เพราะคุมกำลังยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ในคืนยะเยือก 19 กันยายน 2549

โผทหารหลังรัฐประหาร-ยึดอำนาจ 2549 พล.อ.สนธิ ในฐานะผู้นำรัฐประหาร ได้กวาดทหารสาย “ทักษิณ” เข้ากรุพ้นสายคุมกำลัง

สวนทางกับนายทหารที่มีส่วนในการทำรัฐประหาร เช่น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา แม่ทัพภาคที่ 1 และ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร แม่ทัพภาคที่ 3 ได้ขึ้นสู่ตำแหน่ง ผช.ผบ.ทบ.ทั้งคู่

แล้วให้ ประธานรุ่นเตรียมทหารรุ่น 12 คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ในตอนนั้นเป็นยศ “พล.ต.”  ในฐานะรองแม่ทัพภาคที่ 1 ทหารเสือราชินี ขึ้นมาเป็น แม่ทัพภาคที่ 1 แทน 

กาลเวลามาถึงคราววัดใจในปีถัดมา เมื่อ พล.อ.สนธิ ต้องเลือกคนที่มาเป็น ผบ.ทบ. โดยมีแคนดิเดตที่คู่คี่ คือ พล.อ.อนุพงษ์ และ พล.อ.สพรั่ง ซึ่ง พล.อ.อนุพงษ์ เรียก พล.อ.สพรั่งว่า “พี่พรั่ง” เพราะมีความอาวุโสกว่า ขณะเดียวกัน พล.อ.สนธิ ก็มีคนในใจ คือ “พล.อ.มนตรี สังขทรัพย์” ซึ่งตอนนั้น เป็น เสธ.ทบ.

บนทางแพร่งแห่งอำนาจ สุดท้าย พล.อ.สนธิ ตัดสินใจเลือก พล.อ.อนุพงษ์ ให้เป็นทายาท ผบ.ทบ. ส่วน พล.อ.มนตรีข้ามห้วยไปเป็นรอง ผบ.สูงสุด พล.อ.สพรั่ง ต้องกลืนเลือดไปเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม

จิ๊กซอว์การเมืองของ 3 ป. ที่มี พล.อ.ประวิตร เป็นพี่ใหญ่ ถูกต่อใกล้เสร็จ

บิ๊กป้อม หลังฉาก บิ๊กป๊อก หน้าฉาก

พล.อ.อนุพงษ์ นั่ง ผบ.ทบ. คุมกำลังกองทัพ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2550 จนถึงปี 2553 เคยลงมือปฏิบัติการ “ปฏิวัติจอแก้ว” เมื่อ 16 ตุลาคม 2551 นำผู้บัญชาการเหล่าทัพ ประกอบด้วย พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)

นั่งเรียงหน้ากระดานออกรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ ส่งสัญญาณไปถึง “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” นายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2551 เพราะถูกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไล่ต้อน ให้ลาออกจากตำแหน่ง หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา ทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก

แม้ว่าทางข่าว พล.อ.ประวิตร จะไม่อยู่ในหน้าฉากการเมือง แต่หลังฉากเขายังคงเป็น “เสาหลัก” ให้ 2 ป. เพราะเมื่อการเมือง “พลิกขั้ว” เนื่องจากพรรคพลังประชาชนถูกยุบพรรค กลุ่มเพื่อนเนวิน ทิ้งพรรคเพื่อไทย ไปจับมือพรรคประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาล

ในห้วงเวลานั้น ก็เกิดเสียงลือ เสียงเล่าอ้างทางการเมืองว่า นักการเมือง-แกนนำสำคัญต่าง ๆ ถูกเรียกเข้าไปที่ กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ (ร.1 พัน.1 รอ.) โดยมี พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ เป็นคีย์หลักสำคัญ “เจรจา” จัดตั้งรัฐบาลขั้วใหม่ เพื่อแก้วิกฤตการเมือง

โดยเงื่อนไขหลักคือ พล.อ.ประวิตร ต้องเป็นผู้ค้ำยันกองทัพในตำแหน่ง รมว.กลาโหม ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แห่งพรรคประชาธิปัตย์

กองทัพบกในยุค พล.อ.อนุพงษ์ ผ่านเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองใหญ่ ๆ หลายเหตุการณ์ทั้งกลุ่มพันธมิตรฯ ยึดทำเนียบ-สนามบิน กลุ่ม นปช. ล้อมเมือง ยึดราชประสงค์

ซึ่งในช่วงการชุมนุมทางการเมืองอันร้อนแรง “พล.อ.ประวิตร” เป็นแบ็กอัพคนสำคัญของกองทัพและรัฐบาลอภิสิทธิ์ จนได้รับฉายาจากสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล “ป้อมทะลุเป้า” ด้วยผลงานด้านความมั่นคงในการสลายการชุมนุมเสื้อแดงที่บรรลุเป้าหมาย

ในเวลาเดียวกัน พล.อ.อนุพงษ์ ได้วาง พล.อ.ประยุทธ์ ไว้เป็นทายาทอำนาจ โดยให้ขยับตำแหน่งจากแม่ทัพภาคที่ 1 ไปเป็น เสธ.ทบ. และรอง ผบ.ทบ.

กระทั่ง พล.อ.อนุพงษ์ เกษียณอายุราชการในปี 2553 โดย พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามารับเก้าอี้ ผบ.ทบ. โดยเหลืออายุราชการถึง 4 ปี คนการเมืองในห้วงเวลานั้น ฟันธงไว้ล่วงหน้าว่า หลังการปราบปรามกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553 ถ้าพรรคเพื่อไทย ชนะเลือกตั้งปี 2554 แม้จะได้เป็นรัฐบาล แต่สุดท้ายจะถูกยึดอำนาจ !

6 ตุลาคม 2553 พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์หลังประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกเป็นครั้งแรก หลังเข้ารับตำแหน่งสูงสุดในกองทัพบก ก็ถูกถามเรื่องการปฏิวัติทันที

นักข่าวถามว่า 4 ปีในตำแหน่ง ผบ.ทบ. จะไม่มีการปฏิวัติเกิดขึ้นใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนไม่เคยคิดเรื่องนี้ และเราพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ตนบอกในที่ประชุมหน่วยขึ้นตรงไปแล้วว่า จะทำหน้าที่ตามกรอบของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ข้อสำคัญอย่ากดดันทหาร ให้ทหารได้ทำหน้าที่ของทหารเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงภายใน

อย่ามากดดันทหารว่าต้องไปทำโน่น ต้องมาทำนี่ ทำไมไม่ทำเช่นนั้น ในมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญเขียนไว้ก็จริง แต่มีหลายมาตราที่เขาเขียนเอาไว้ว่า ทหารสามารถทำอะไรได้บ้าง เพราะฉะนั้นทหารจะออกไปไหนมันมีข้อห้ามและกฎกติกาเรื่องการใช้กำลัง ทั้งกฎกระทรวงกลาโหม และกองทัพไทย ไม่ใช่ว่าเราจะทำอะไรได้ดังใจ ไม่ใช่กำหนดยุทธศาสตร์ได้ทุกเรื่อง

3 ป.ผงาด

แล้วจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายก็ถูกวาง แม้ว่าการขึ้นมาเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดย “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก ในช่วงต้นของรัฐบาล การทำงานร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จะชื่นมื่น โดยเฉพาะช่วงที่ประเทศไทยเผชิญมหาวิกฤตน้ำท่วม “ยิ่งลักษณ์-ประยุทธ์” ออกตรวจพื้นที่ด้วยกันเสมอ

แต่สุดท้ายโดยเกมนิรโทษกรรมสุดซอย ที่พรรคเพื่อไทย และนายใหญ่ต่างประเทศ เดินเกมผิดพลาด-พังทั้งกระดาน นำมาสู่การกำเนิด กปปส.โดย “สุเทพ เทือกสุบรรณ” แล้วจบลงด้วยการยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

บทบาทบนเส้นทางอำนาจของ 3 ป.ก็ถึงจุดพีก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ พล.อ.อนุพงษ์ เป็น รมว.มหาดไทย และ พล.อ.ประวิตร ทำหน้าที่รองนายกฯ ผู้จัดการรัฐบาล ค้ำยันกันมานานถึง 9 ปี จากเรือแป๊ะ สู่เรือเหล็กที่มีชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐ

นับจากวันนั้น ชื่อของ 3 ป. ประยุทธ์ ประวิตร อนุพงษ์ ไม่มีใครไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยิน

วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.อนุพงษ์ ประกาศวางมือหน้าฉาก

แต่ พล.อ.ประวิตร ยังคงอยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง เหมือนที่เป็นมาตลอด 2 ทศวรรษ