เบื้องหลังหั่นกำไรโรงกลั่น สุพัฒนพงษ์ เจรจาก่อนผุดมาตรการใหม่อุ้มเบนซิน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน

สุพัฒนพงษ์ โต้ ปล้นค่ากลั่น 8 บาทต่อลิตร เล่าเบื้องหลัง เจรจาโรงกลั่น หั่นกำไรส่วนเกินเข้ากองทุนน้ำมันฯ แย้ม ออกมาตรการใหม่อุ้มรถจักรยานยนต์-คนตัวเล็ก วอน ประชาชนประหยัดพลังงาน 10% ช่วยชาติปีละแสนล้าน ลุ้น G 7 ผ่าทางตันวิกฤตพลังงาน ปลายเดือนมิ.ย.        

ไทยนำเข้าน้ำมัน 90%

วันที่ 18 มิถุนายน 2565 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน กล่าวในรายการ คุยเรื่องบ้าน คุยเรื่องเมือง คุยทุกเรื่องกับรัฐมนตรี 92.5 MHz ถึงสถานการณ์วิกฤตพลังงาน ว่า ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศจำนวนมาก ทุกปี นำเข้าน้ำมันดิบ ประมาณ 90% ของความต้องการทั้งหมด 1 ล้านกว่าบาร์เรลต่อวัน ส่วนใหญ่มาจากประเทศแถบตะวันออกกลาง เอเชียก็มี อเมริกาบางส่วน ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่

พลังงานอีก 1 ตัว คือ ก๊าซธรรมชาติ วันนี้ต้องนำเข้ามาทดแทนที่ใช้ไปแล้วกว่า 30 ปี จากในอ่าวไทยที่มีจำนวนมาก วันนี้ลดลงเหลือ 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ ยังต้องนำเข้าอีกประมาณ 35% ประเทศไทยยังเป็นประเทศต้องพึ่งพาพลังงานจำนวนมาก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเจริญเติบโตเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

ในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีความต้องการใช้พลังงานมากขึ้น ราคาน้ำมันปลายปี 64 เริ่มทะยานขึ้นเกือบ 100 เหรียญต่อบาร์เรล และปลายปี ลดลงมาอยู่ระดับ 70-80 เหรียญต่อบาร์เรล ต้นปี 65 มีเรื่องไม่น่าเชื่อ เกิดความขัดแย้งของประเทศยูเครนกับรัสเซีย สุดท้ายขยายเป็นความขัดแย้งระหว่างขั้วอำนาจของโลกสองขั้ว กีดกันทางการค้า จนเป็นเหตุให้เกิดวิกฤตอีกครั้งหนึ่ง

ประชากรโลกเกิดความตระหนักว่า จะเกิดการขาดแคลนพลังงาน ราคาน้ำมันคราวนี้ทะยานไม่จบ ไม่สิ้น วันนี้ 118 เหรียญต่อบาร์เรล เกือบจะ 120 เหรียญต่อบาร์เรล น้ำมันบางตัวสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่มีธุรกิจน้ำมันเกิดขึ้นมาของโลก

ต้องยอมรับความจริง เพราะรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมัน 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็น 10% ของโลก ถ้าเกิดมีการแซงก์ชั่น เกิดการไม่ให้ซื้อขาย มีการไม่ให้ทำธุรกรรม น้ำมันส่วนนี้ก็จะหายไป ต้องหาสิ่งอื่นมาทดแทน แย่งกันไปแย่งกันมาระหว่างน้ำมันกันแก๊สธรรมชาติ จนเป็นเหตุผลว่าทำไมน้ำมันขึ้นจากเดิมเมื่อปีที่แล้ว 50-70 เหรียญต่อบาร์เรลเป็นเกือบ 120 เหรียญต่อบาร์เรล

ไม่เพียงเท่านั้นก๊าซธรรมชาติเช่นเดียวกัน วันนี้ 30 กว่าเหรียญต่อหน่วยความร้อน แต่ถามว่า เป็นเพราะใคร เป็นเพราะปัจจัยภายนอกเกิดขึ้นทั่วโลกทุกประเทศ เป็นสิ่งที่พวกเราต้องเผชิญ มันเหมือนเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต

ไม่เพียงแค่น้ำมันแพงขึ้นอย่างเดียวเกือบจะสองเท่า ยังมีสินค้าที่เรียกว่าเป็นวัตถุดิบแพงขึ้นอีก 7-8 รายการ เป็นส่วนสำคัญในการใช้ชีวิต เช่น น้ำมันพืช ปุ๋ย ข้าวสาลี โลหะต่าง ๆ ทองแดง ซึ่งจำเป็นในอุตสาหกรรมสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว เท่านั้นยังไม่พอ ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงด้วย แน่นอนว่าเป็นประโยชน์ต่อการส่งออก เศรษฐกิจสามารถเติบโตอยู่ได้ แม้อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้น แต่เศรษฐกิจเติบโตอยู่ได้ พอค่าเงินบาทอ่อน สินค้านำเข้าเปลี่ยนเป็นเงินบาทก็แพงขึ้น ผลกระทบ 2 ด้าน

“สิ่งสำคัญที่สุด คือ เราต้องรักษาเสถียรภาพของการให้มีซึ่งพลังงานให้ได้อยู่ตลอดเวลา หากเราต้องตรึงราคาทุกตัวไม่ขึ้นเลย มันใช้เงินจำนวนมาก ถ้าสถานการณ์ทางการเงินทางคลังเราไม่แข็งแรง เราอาจจะเกิดข้อจำกัดในการมีเงินตราต่างประเทศในการซื้อน้ำมันเหมือนบางประเทศเพื่อนบ้านที่เกิดขึ้น เกิดการขาดแคลน สถานีบริการไม่สามารถเปิดจำหน่ายได้ตลอดเวลา คิวการเข้ารับบริการตามสถานีบริการต่าง ๆ ยาวมาก และราคาก็สูงมาก สูงกว่าประเทศไทยมาก จนบางครั้งมีผู้ที่เดินทางเข้ามาเติมน้ำมันในประเทศไทย”

เบื้องหลังเจรจาโรงกลั่น

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ค่าการกลั่น คือ ส่วนต่างราคาน้ำมันดิบกับค่าเฉลี่ยของราคาผลิตภัณฑ์ที่โรงกลั่นขายได้ ย้อนหลังไป 10 ปี ค่าการกลั่นอยู่ที่ประมาณ 2 บาทต่อลิตร ช่วงโควิด-19 คนใช้น้อย ราคาลง จาก 2 บาทต่อลิตร เหลือไม่ถึง 1 บาทต่อลิตร ก็หมายถึงไม่กำไร เพราะยังไม่ได้หักค่าแรง ค่าดอกเบี้ย ค่าบำรุงรักษา เรียกว่า ธุรกิจเสรี ยามขึ้นได้เท่าไหร่ก็ได้ไป ยามลงรัฐบาลก็ไม่ต้องช่วยอะไร เป็นภาระของโรงกลั่นที่ต้องดูแลเอง

ช่วงหลังกำลังการผลิตมีจำนวนจำกัด เกิดความต้องการสูงขึ้นมาก ขณะเดียวกันก็เกิดความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ราคาตลาดโลกของน้ำมันสำเร็จรูปบางตัวสูงขึ้นมาก ไม่ได้ทุกตัว พอคำนวณค่าการกลั่น วิธีไหนก็ไม่ทราบ ออกมา 8 บาทต่อลิตรบ้าง บางคนบอก 9 บาทต่อลิตรด้วย ไม่รู้ว่าคำนวณอย่างไร

กระทรวงพลังงานใช้วิธีที่ทำมาโดยตลอดหลายสิบปี ก็ออกมาประมาณ ถ้าวันนี้เฉลี่ย 6 เดือนก็ประมาณ ของปี 65 จำนวน 3 บาทต่อลิตรก็สูงขึ้นมาจากค่าเฉลี่ย เมื่อเทียบกับเมื่อเจอโควิด-19 ค่าเฉลี่ยต่ำกว่า 1 บาทต่อลิตร ตัวเลขเพิ่งขึ้นมาช่วง 2-3 เดือนหลังเป็น 5 บาทต่อลิตร แต่ช่วงหลังต่ำ

“อยากให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจ ว่า สถานการณ์ไม่ได้เป็นในลักษณะที่มาปล้นอะไรเรา หรือ รัฐบาลไม่ได้กำกับดูแล เป็นเรื่องที่พูดคุยกัน ขอความร่วมมือกันตลอดเวลา ให้ดูแลประชาชนในยามที่มีสถานการณ์วิกฤต บรรเทาความเดือดร้อน รัฐบาลก็ขอความร่วมมือหลายครั้ง แม้แต่ค่าการตลาด เคย 2 บาทกว่า เราก็ขอความร่วมมือ 1.4 บาท”

ต่อให้เรามีน้ำมันดิบมากมายก็ใช้ประโยชน์โดยตรงไม่ได้ ต้องมีโรงกลั่น เป็นความจำเป็น เป็นเสถียรภาพ ประเทศที่มีโรงกลั่น กับประเทศที่ไม่มีโรงกลั่น เสถียรภาพทางพลังงานไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างประเทศไทย ถ้าวันนี้ไม่มีโรงกลั่นเลย ปล่อยให้เป็น อาศัยการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปมาทั้งสิ้น เราก็ต้องซื้อจากต่างประเทศในราคาที่แพงกว่าวันนี้ที่เราซื้อจากโรงกลั่น เพราะต้องแย่งกันไปซื้อ บวกค่าขนส่ง ต้องมีค่าปรับคุณภาพ ต้องมีการสำรองน้ำมันสำเร็จรูปไม่ต่ำกว่า 10 กว่าวัน

แต่วันนี้เราสำรองป้องกันไว้ขาดแคลน 60 กว่าวัน ถ้าไม่มีโรงกลั่นเลย นำเข้ามาถังเก็บก็จะมีจำนวนไม่มาก เพราะไม่จำเป็นต้องสำรองอะไรมากมาย ถ้าสะดุด หรือมีปัญหาขึ้นมา ประเทศขาดน้ำมันทันที อันนี้คือ เสถียรภาพทางพลังงาน บางคนไปคิดว่า 8 บาท เราลดเลย 5 บาทได้ไหม ถ้าท่านไปลด 5 บาท โรงกลั่นอยู่ไม่ได้ เราก็ต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเข้ามา ราคากลับไปแพงเหมือนเดิม เป็นความจำเป็นของการมีโรงกลั่น

ประหยัดพลังงานช่วยชาติแสนล้าน

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าเราอยู่ในสถานการณ์ผิดปกติ เป็นวิกฤตโลก เราต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลง เราจะอยู่แบบเดิม ใช้แบบเดิม แล้วในราคาเดิมอีกด้วย เป็นเรื่องที่ยากมากทีเดียว กระทรวงพลังงานพยายามรณรงค์ให้ประชาชนประหยัดพลังงาน ตั้งเป้าสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้า 10% หรือ น้ำมัน 10% คิดเป็น 1 แสนล้านบาทต่อปี 2 แสนล้านบาท สามารถทำได้ภายใน 2 ปี ด้วย 10 วิธีการ

ใช้ความร่วมแรงร่วมใจ ไม่ยากเลย ยังช่วยประเทศชาตินำเข้าหรือเสียเงินตราต่างประเทศที่สูงขึ้นด้วย ส่วนราชการตั้งเป้าไว้ 20% แล้วประเทศชาติจะรอดจากวิกฤตครั้งนี้ แล้วประเทศไทยจะเข้มแข็งและพร้อมจะเติบโตหลังจากรอดพ้นจากวิกฤตทุกคน ส่วนมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รัฐบาลมีให้ทั้งเงินสนับสนุนและลดภาษีสรรพสามิต

“เมื่อวาน (17 มิ.ย.65) มีโอกาสได้คุยกับผู้บริหารบริษัทเยอรมนีบริษัทหนึ่ง ผมถามว่า เตรียมตัวอย่างไร เพราะเป็นประเทศที่อยู่ในยุโรป ซึ่งได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งยูเครนกับรัสเซีย เขาบอกว่า คนเยอรมันทำใจและเตรียมใจไว้เรียบร้อยแล้ว ว่า หนาวนี้ เขาจะต้องอยู่แบบหนาวขึ้น เขาจะไม่ได้อยู่แบบอบอุ่น สุขสบายเหมือนเดิม หนาวนี้เขาจะต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น ค่าพลังงานแพงขึ้น ค่าน้ำมันแพงขึ้น เขาเตรียมตัวไว้แล้ว เขาได้ประหยัดพลังงานทุกอย่าง เพื่อรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เขารู้ว่าเป็นช่วงที่ยากลำบาก แต่ประชาชนและรัฐบาลร่วมไม้ร่วมมือกัน บอกกับตัวเองว่า เป็นหน้าที่ต้องร่วมกันทำ”

ผุดมาตรการใหม่ช่วยจักรยานยนต์ตัวเล็ก

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีกว่า เม็ดเงินที่รัฐบาลประคับประคอง 206,903 ล้านบาท ก๊าซหุงต้ม รัฐบาลต้องอุดหนุนเดือนละ 1,500 – 2,000 ล้านบาท จึงต้องค่อย ๆ ปรับราคาไม่ให้เป็นภาระประชาชน แต่ยังช่วยเหลือคนตัวเล็ก เปราะบาง คนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนที่เป็นพ่อค้าแม่ค้า เข้าโครงการรับส่วนลด รับเงินช่วยเหลือ ยังมีต่อไป

ไฟฟ้าเช่นเดียวกัน การขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าจะพยายามทยอยขึ้น ขึ้นทีละ 25 สตางค์ ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และ ปตท.แบ่งเบาภาระในส่วนนี้ ชะลอการขึ้นไปก่อน อย่างไรก็ดี แม้ขึ้นค่าไฟไปแล้ว 25 สตางค์ แต่ประชาชนที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน เราจะมีเงินช่วยเหลือในส่วน 25 สตางค์ที่เพิ่มขึ้นมา ผู้ขับแท็กซี่รัฐบาลได้ขอความช่วยเหลือไปทางบริษัท ปตท.ให้ช่วยตรึงราคาแก๊ส เหล่านี้หลายเรื่องยังดำเนินการอยู่

“เรื่องใหม่ ๆ ที่จะตามมา ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาขยายผลจากมาตรการช่วยเหลือค่าน้ำมันเบนซินผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง (วินมอเตอไซค์) ที่มีใบอนุญาตสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนสำหรับคนตัวเล็กที่ใช้รถจักรยานยนต์จะได้รับประโยชน์จากตรงนี้อย่างไรด้วย ภายในเดือนมิ.ย.นี้จะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือ”

ลุ้น G 7 หาทางออกวิกฤตพลังงาน

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ประเมินสถานการณ์วิกฤตพลังงานจากยืดเยื้อ แต่ระดับราคาน้ำมันจะเป็นเท่าไหร่เป็นสิ่งที่น่าสนใจและติดตามอยู่ ซึ่งปลายเดือนมิถุนายนนี้จะมีการประชุมกลุ่มประเทศผู้นำจี 7 ได้แก่ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี ญี่ปุ่น อิตาลี และแคนาดา และได้รับผลกระทบจากวิกฤตพลังงาน ซึ่งจะต้องหาทางออกให้คนทั้งโลก

ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางไว้กับกระทรวงพลังงานที่จะไปนำเสนอในที่ประชุมจี 7 คือ ให้ประเทศกลุ่มจี 7 คำนึงถึงผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกด้วย หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อและราคาพลังงานยังสูงถึงขนาดนี้ ทำอย่างไรถ้าจะยืดเยื้อก็ขอให้ราคาอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล ซึ่งได้ฝากไป และหลังจากนี้จะต้องดูผลลัพธ์ หวังว่าจะได้ความร่วมมือและแรงผลักดันให้ราคาพลังงานไม่สูงขึ้นและลดลงมาบ้างให้บริหารจัดการได้

“อยากเห็นความร่วมไม้ร่วมมือกัน รัฐบาล ประชาชน ผู้ประกอบการ คนละไม้คนละมือ รัฐบาลเป็นหน้าที่ช่วยเหลือ แต่ถ้าทุกคนรู้ว่าตัวเองมีหน้าที่อะไรและช่วยกัน ผมมั่นใจว่า ประเทศไทยรอดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ไปได้ และเราจะเข้มแข็งเหมือนเดิมและเติบโตได้อีกด้วย”