ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ?

ภาพจากเว็บไซต์ หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เปิดหลักเกณฑ์-คุณสมบัติ ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ไม่ใช่แค่หน้าตาดี แต่ต้องมีความเป็น “จุฬาฯมากที่สุด” 

วันที่ 25 ตุลาคม 2564 กรณี องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) แถลงการณ์ ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ โดยให้เหตุผลว่า เป็นกิจกรรมที่ล้าหลัง อันขัดต่อคุณค่าสากลอย่างประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ แถลงการณ์ยังระบุว่า ในกิจกรรมดังกล่าวจะมี “ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว” ถือ “พระเกี้ยว” ที่เป็นสัญลักษณ์สูงสุดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั่งบนเสลี่ยงซึ่งถูกแบกโดยนิสิตกว่า 50 คน  อีกทั้ง ผู้อัญเชิญซึ่งมาจากกลุ่ม CU Coronet ยังถือว่าเป็นตัวแทนของความเป็นจุฬาฯ ในกิจกรรมการแข่งขันฟุตบอลประเพณีและในกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์อื่น ๆ ต่อไป

ทว่า กิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวสนับสนุนและสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยม รวมถึงค้ำยันความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน รูปแบบกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวยังเป็นภาพแทนของวัฒนธรรมแบบศักดินาที่ยกกลุ่มคนหนึ่งสูงกว่าอีกกลุ่มหนึ่งพร้อมสัญลักษณ์ของศักดินาคือ “พระเกี้ยว” บนเสลี่ยง ในส่วนของกระบวนการคัดเลือกผู้อันเชิญฯ ยังเป็นที่กังขาถึงความโปร่งใส

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการอัญเชิญพระเกี้ยว และคุณสมบัติของผู้อัญเชิญพระเกี้ยว จากเว็บไซต์หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

การอัญเชิญพระเกี้ยวในอดีต

ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์สยามนิกร (พิเศษ) ฉบับวันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม 2507 รายงานว่า ในขณะนั้นมีผู้อัญเชิญพระเกี้ยวเป็นนิสิตหญิงเพียงคนเดียว และองค์พระเกี้ยวมีขนาดเล็กกว่าองค์พระเกี้ยวจำลองที่ใช้ในปัจจุบัน

การอัญเชิญตราสัญลักษณ์เข้ามาในสนามแข่งขันนั้นเหมือนเป็นการเปิดงาน ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการอัญเชิญตราพระเกี้ยว ทางธรรมศาสตร์จะต้องมีตราธรรมจักร ตราสัญลักษณ์ดังกล่าวเปรียบดังทุกสิ่งที่เป็นสถานศึกษาแห่งนั้น จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องอัญเชิญเข้ามาในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

สำหรับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การอัญเชิญตราพระเกี้ยวเปรียบเสมือนการอัญเชิญพระพุทธเจ้าหลวงทั้ง 2 พระองค์ ซึ่งเป็นผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัย เข้ามาในงาน และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่นักกีฬาและเหล่ากองเชียร์ ดังประโยคที่ดังก้องอยู่ในใจชาวจุฬาฯ ทุกคนว่า “สีชมพูจักอยู่ในกายเจ้า พระเกี้ยวเกล้าจักอยู่เป็นคู่ขวัญ”

ในความจริงแล้ว นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุกคน มีฐานะเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว เนื่องจากเป็นผู้ใช้พระเกี้ยวเป็นตราสัญลักษณ์ประจำสถาบันการศึกษา แต่ในงานฟุตบอลประเพณีฯ ไม่สามารถให้นิสิตจุฬาฯ ทุกคนขึ้นอัญเชิญพระเกี้ยวได้ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคัดเลือกนิสิตจุฬาฯ ที่มีความเหมาะสม มีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งรูปร่าง หน้าตา บุคลิกภาพ การวางตัว กิริยา มารยาท ผลการเรียน ตลอดจนมีความรู้เกี่ยวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีความรู้รอบเหมาะสมกับการเป็นตัวแทนนิสิตจุฬาฯ ซึ่งนิสิตที่ทำหน้าที่อัญเชิญพระเกี้ยวนี้ ถือได้ว่าเป็นภาพลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย

ในสมัยก่อนจำนวนผู้อัญเชิญพระเกี้ยวมีตั้งแต่เป็นนิสิตผู้หญิงคนเดียว นิสิต 2 คน นิสิตหญิง-ชาย 2 คู่ มาจนถึงในปัจจุบันที่เป็นนิสิตหญิง-ชาย เพียงคู่เดียว บางปีคัดเลือกจากตัวแทนของคณะ มีการสัมภาษณ์จากอาจารย์ ซึ่งก็รู้ได้ในวันนั้นว่าใครได้เป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว ในบางปีมีการคัดเลือกจาก “นางนพมาศ” ซึ่งในสมัยก่อนเรียกว่า “ดาวจุฬาฯ” จนภายหลังการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยวก็ได้มีวิวัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงปัจจุบัน

ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวต้องมีความเป็นจุฬาฯมากที่สุด

นายโชคชัย  สุเวชวัฒนกุล เขียนในหนังสือฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 51 ว่า ในสมัยก่อนการคัดเลือกผู้อัญเชิญนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานใด ๆ ที่จะเป็นเครื่องยืนยันเกี่ยวกับขั้นตอนต่าง ๆ และคุณสมบัติโดยละเอียด แต่ที่แน่ ๆ คือ ต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติแห่งความเป็นจุฬาฯ อยู่ในตัวเอง

ความคิดของการมีผู้อัญเชิญฯ ในปีนี้คือ ผู้ทำงานทุกคนคิดว่านอกจากการรักษาประเพณีที่เคยมีมาแต่เดิมแล้ว การอัญเชิญพระเกี้ยวที่ถือว่าเป็นของสูงคือเป็นตราประจำพระองค์ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ควรมีผู้อัญเชิญออกมามากกว่าที่จะให้ออกมาโดยไม่มีใครอัญเชิญ และได้มีการกำหนดหลักการและเหตุผลเกี่ยวกับผู้อัญเชิญพระเกี้ยวไว้ดังนี้

“ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวเป็นตัวแทนของนิสิตจุฬาฯ ที่จะอัญเชิญสัญลักษณ์สูงสุดของมหาวิทยาลัยในงานฟุตบอลประเพณีฯ ดังนั้นจึงควรมีความเป็นนิสิตจุฬาฯ อย่างสมบูรณ์ กล่าวคือควรจะเป็นผู้มีความพร้อมในแง่วิชาการและบุคลิกภาพ เพราะนอกจากหน้าที่ในการอัญเชิญพระเกี้ยวในวันงานแล้วยังต้องเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยที่จะประชาสัมพันธ์งานฟุตบอลประเพณี และแสดงถึงภาพลักษณ์ของนิสิตจุฬาฯ ที่ดีสู่สังคม”

จากหลักการและเหตุผลดังกล่าวทำให้ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในปีนี้เป็นนิสิตชาย 1 คน เป็นนิสิตหญิง 1 คน

แทนที่จะเป็นนิสิตหญิงทั้ง 2 คน เหมือนหลาย ๆ ปี ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวเป็นตัวแทนของนิสิต   จุฬาฯ อย่างแท้จริงเนื่องจากนิสิตจุฬาฯ ประกอบด้วยนิสิตหญิงและนิสิตชาย และอีกเหตุผลหนึ่งคือเพื่อเปลี่ยนมุมมองของบุคคลภายนอก ที่มักจะคิดว่าผู้หญิงเชิญพระเกี้ยวเป็นผู้ที่  “สวย” ที่สุดของจุฬาฯ เท่านั้น แต่ที่แท้จริงแล้วผู้อัญเชิญฯ ต้องเป็นผู้ที่มีความเป็นจุฬาฯ มากที่สุดต่างหาก

ตามมติที่ประชุมฝ่ายขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวและที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานกิจการนิสิต (ที่ประชุมอาจารย์) ได้กำหนดคุณสมบัติไว้ดังนี้

  1.  เป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 เพศชาย 1 คน เพศหญิง 1 คน
  2. เกรดเฉลี่ยสะสม 2.5 ขึ้นไป
  3. มีบุคลิกภาพดี
  4. เคยมีส่วนร่วมในกิจกรรมทั้งของคณะและของมหาวิทยาลัย
  5. มีความประพฤติดีสมกับเป็นตัวแทนของนิสิตจุฬาฯ

เมื่อได้หลักการและคุณสมบัติแล้วก็จะจัดส่งไปยังหัวหน้านิสิตคณะต่าง ๆ เพื่อคัดตัวแทนของคณะมาคณะละ 2 คน (ชาย 1 คนและหญิง 1 คน) โดยอิงตามหลักการและคุณสมบัติดังกล่าว

จากนั้นก็ถึงขบวนการที่สำคัญที่สุดคือการสัมภาษณ์โดยคณะกรรมการเพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมที่สุดซึ่งคณะกรรมการประกอบด้วย

  1. คณาจารย์ฝ่ายกิจการนิสิต
  2. หัวหน้านิสิตทั้ง 16 คณะ
  3. ตัวแทนนิสิตจากส่วนกลาง (ทีมงานฟุตบอลประเพณีฯ)

การสัมภาษณ์จะเป็นการถามคำถามโดยให้ตัวแทนแต่ละคณะเข้าสัมภาษณ์ที่ละ 1 คน กับคณะกรรมการ คำถามส่วนใหญ่ก็จะวัดปฏิภาณไหวพริบของผู้สมัครแต่ละคน ซึ่งคณะกรรมการก็จะให้คะแนนที่ละคนตามที่กำหนดไว้ ซึ่งผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดของฝ่ายชายและฝ่ายหญิงก็จะได้รับการคัดเลือกเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว

จากขั้นตอนดังกล่าวทั้งหมดจะเห็นได้ว่าการคักเลือกค่อนข้างจะยุ่งยากทำให้หลาย ๆ คนอาจคิดว่าสำหรับการเพียงแต่นั่งยิ้มและอัญเชิญพระเกี้ยวอยู่บนเสลี่ยงในวันงานไม่น่าจะทำให้ยุ่งยากขนาดนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนควรตระหนักคือผู้อัญเชิญสัญลักษณ์สูงสุดของมหาวิทยาลัยควรจะเป็นผู้แทนของเราที่พร้อมที่จะสะท้อนแสดงภาพลักษณ์ที่ดีของชาวจุฬาฯ ทุกคนอยู่เสมอ