“กูเกิล คลาวด์” สำรวจ ไทยติด 1 ใน 3 ผู้บริหารให้ความสำคัญ ESG

Google Cloud

Google Cloud เผยผลสำรวจด้านความยั่งยืนระดับโลก ชี้ ESG มีความสำคัญอย่างมากกับธุรกิจไทย

วันที่ 26 เมษายน 2566 Google Cloud ได้เผยผลสำรวจด้านความยั่งยืนระดับโลก ที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยติด 1 ในตลาด 3 แห่ง ที่ผู้บริหารให้ความสำคัญในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาล (ESG) เป็นอันดับแรก ขณะที่ตลาดอีก 2 แห่ง คือ สิงคโปร์ และเยอรมนี แม้ว่าจะมีปัจจัยทางเศรษฐกิจเข้ามาเป็นอุปสรรคในการดำเนินงานก็ตาม

แบบสำรวจความยั่งยืนนี้ เป็นแบบสำรวจประจำปีครั้งที่ 2 ของ CXO ที่ได้รับมอบหมายโดย Google Cloud และจัดทำโดย The Harris Poll โดยทำการสำรวจผู้บริหารระดับสูงกว่า 1,476 คนจากตลาด 16 แห่ง ซึ่งในเอเชีย ทำการสำรวจ 4 ประเทศ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และไทย

การสำรวจครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนที่ผู้บริหารต้องดำเนินการเพื่อหลีกเลี่ยงผลเสียใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน เช่น ส่งผลให้การทำงานหยุดชะงักและเกิดความล้มเหลวในการดำเนินงาน ทั้งนี้ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า ระดับโลกมีการลดความสำคัญของความพยายามด้าน ESG ในประเทศต่าง ๆ จากอันดับ 1 ในปี 2565 มาเป็นอันดับ 3 ในปี 2566

ESG ไม่ใช่สิ่งที่สูญเปล่า

85% ของผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศไทยตระหนักดีว่าลูกค้ามีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมและทำธุรกิจกับแบรนด์ที่ตระหนักถึงความยั่งยืน และ 84% เชื่อว่าการยืดเวลาออกไปหรือลดระดับความสำคัญของเป้าหมายด้านความยั่งยืนจะส่งผลเสียต่อมูลค่าขององค์กร

อย่างไรก็ตาม 59% ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า การดำเนินงานของผู้นำองค์กรไม่สอดคล้องกับการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนอย่างเต็มที่ โดยเงื่อนไขทางเศษฐกิจที่ไม่แน่นอนส่งผลให้ 76% ของผู้บริหารเหล่านี้เผชิญความท้าทายในการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนของบริษัท ในขณะที่ดำเนินธุรกิจด้วยงบประมาณที่น้อยลงกว่าเดิม

นางเอพริล ศรีวิกรม์ ผู้อำนวยการ Google Cloud ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ผู้บริหารที่ตอบแบบสอบถามระบุว่า การขาดการปรับแนวทางของผู้นำและภาวะเศรษฐกิจระดับมหภาค เป็นสาเหตุของการถดถอยในความพยายามด้านความยั่งยืนขององค์กร เหล่าผู้บริหารถูกกดดันในเรื่องการให้ความสำคัญกับการเพิ่มรายได้และเสริมสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า

“ทาง Google Cloud มีเครื่องมืออัจฉริยะที่ขับเคลื่อนโดยข้อมูลอย่าง Active Assist ช่วยให้ผู้บริหารเพิ่มประสิทธิภาพด้านค่าใช้จ่ายด้าน IT, ปรับปรุงความปลอดภัย และลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ในเวลาเดียวกัน ทำให้ผู้บริหารธุรกิจเห็นว่า ผลประกอบการทางการเงินและการปฏิบัติตามความรับผิดชอบด้าน ESG นั้นไม่สูญเปล่า”

“โดยเกือบ 4 ใน 10 ของลูกค้าระดับท้องถิ่นเต็มใจที่จะจ่ายมากขึ้นให้กับผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่มีแนวคิดความยั่งยืน องค์กรสามารถปลูกฝังแนวคิดความยั่งยืนลงในการปฏิบัติการและรูปแบบธุรกิจ รวมถึงสามารถวัดมูลค่าและผลตอบแทนจากการลงทุนได้”

เอาชนะการฟอกเขียว

การฟอกเขียว (Green-washing) และการสร้างภาพว่ารับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมขององค์กร เป็นปัญหาที่แพร่หลายในหมู่ผู้บริหารในประเทศไทย โดยเกือบ 7 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศไทย (69%) กล่าวว่า องค์กรของตนกล่าวเกินจริงหรือนำเสนออย่างไม่ถูกต้องเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการริเริ่มด้านความยั่งยืน

ผู้บริหารส่วนใหญ่ (83%) เชื่อว่าการฟอกเขียวเป็นเรื่องที่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้น (เช่น เมื่อบริษัทไม่สามารถวัดผลลัพธ์หรือความคืบหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ มักจะกล่าวเกินจริงถึงความพยายามด้านความยั่งยืนของตน) ดังนั้น องค์กรจำเป็นต้องมีระบบที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลที่ให้ข้อมูลเชิงลึกที่นำไปใช้ได้จริง

เพื่อช่วยให้องค์กรเข้าใจถึงวิธีการใช้ความคิดริเริ่มด้านความยั่งยืน ที่จะสามารถขับเคลื่อนให้เกิดผลลัพธ์สูงสุด และวัดความก้าวหน้าได้อย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ ผู้บริหารในประเทศไทยกว่า 63% มีโปรแกรมการวัดผลสำหรับความพยายามด้านความยั่งยืนอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงที่สุดจากตลาดทั้งหมดที่ได้สำรวจเมื่อเทียบกับผู้ร่วมแบบสำรวจทั่วโลกที่ 37% โดยผู้บริหารส่วนใหญ่ (67%) เทียบกับผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลก (47%) เชื่อว่าการเข้าถึงเครื่องมือวัดผลขั้นสูงจะมีส่วนช่วยอย่างมากในการพัฒนาความพยายามด้านความยั่งยืนขององค์กรให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

สร้างความสามารถภายในองค์กร

องค์กรจำเป็นต้องทบทวนโครงสร้าง และโปรแกรมการเสริมสร้างทักษะ เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน นอกเหนือจากการปรับแนวทางที่จำเป็นสำหรับกลุ่มผู้บริหารระดับสูงที่จะช่วยตัดสินใจเกี่ยวกับความยั่งยืนขององค์กร

ผู้บริหารในประเทศไทยยังต้องมีวิธีการที่คล่องตัวและการสร้างความสามารถภายใน ซึ่งอาจเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับความสำเร็จ โดยผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่า 9 ใน 10 ในประเทศไทย (96%) เชื่อว่าจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดขึ้นได้หากบริษัทนำแนวทางการทำงานข้ามสายงานมาปรับใช้แทนการมีทีมงานด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะ

ทั้งนี้ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากมองหาความรู้ที่เกี่ยวข้อง (61%) และเข้าถึงบุคลากรที่มีความสามารถที่เหมาะสม (45%) เพื่อพัฒนาความพยายามด้านความยั่งยืนของบริษัท

องค์กรต่าง ๆ สามารถระดมทีมบุคลากรที่มีความสามารถมาออกแบบ และดำเนินการริเริ่มด้านเทคโนโลยีและความยั่งยืน โดยนำทักษะอื่น ๆ หรือทักษะข้ามสายงานมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในด้านต่าง ๆ เช่น สถาปัตยกรรมคลาวด์, การวิเคราะห์ข้อมูล, AI และแมชชีนเลิร์นนิง (ML) เป็นต้น

“Google Cloud สนับสนุนความพยายามในการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลภายในองค์กรผ่านโปรแกรมต่าง ๆ เช่น Google Cloud Skills Boost นอกจากนี้ เรายังนำเสนอแลปเชิงปฏิบัติที่ช่วยให้ทีมวิศวกรทำความคุ้นเคยกับคุณลักษณะด้านความยั่งยืนที่ฝังอยู่ในเครื่องมือ Google Cloud”

“รวมถึงหลักสูตรการฝึกอบรมที่ปรับให้เหมาะกับผู้เรียนซึ่งช่วยให้ผู้เรียนมีทักษะพื้นฐานในการทำความเข้าใจและจัดการกับความท้าทายด้านความยั่งยืนที่องค์กรต้องเผชิญ” นางเอพริล กล่าว

เทคโนโลยี หนทางสู่การเติบโตยั่งยืน

Google Cloud ใช้งานระบบคลาวด์ที่สะอาดที่สุดในอุตสาหกรรม สนับสนุนองค์กรต่าง ๆ ในไทย เช่น ยิ้ม แพลตฟอร์ม (Yim Platform) ของ Central Retail, โรบินฮุ้ด (Purple Ventures: Robinhood) ของ SCBX Group และ EVme ของกลุ่มบริษัท ปตท. ที่ได้เลือก Google Cloud เป็นผู้ให้บริการคลาวด์หลัก

เพื่อช่วยให้องค์กรดำเนินการลดคาร์บอนของโครงสร้างพื้นฐานและแอปพลิเคชันดิจิทัล และบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนตามคำมั่นขององค์กรได้อย่างสูงสุด

นางเอพริลกล่าวด้วยว่า ในปี 2560 ทาง Google เป็นบริษัทแห่งแรกที่มีการใช้ไฟฟ้าประจำปีด้วยพลังงานหมุนเวียน 100% เมื่อเทียบกับขนาดขององค์กร และยังคงบรรลุเป้าหมายนี้ทุกปีตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อย้ายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและแอปพลิเคชันไปยัง Google Cloud องค์กรต่าง ๆ จะได้รับความเป็นกลางทางคาร์บอนของ Google และปรับปรุงโปรไฟล์ด้านความยั่งยืนในทันที

เครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพอัจฉริยะและคุณลักษณะด้านความยั่งยืนที่ฝังอยู่ใน Google Cloud เพิ่มโอกาสให้องค์กรต่าง ๆ สามารถลดการปล่อยคาร์บอนในวงกว้างได้ง่ายขึ้น ดังนี้

1. Carbon Footprint แสดงภาพของการปล่อยก๊าซแบบครบวงจรในสโคป 1, 2 และ 3 ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งาน Google Cloud ขององค์กร ซึ่งทำให้สามารถแยกย่อยข้อมูลตามโครงการ บริการ หรือภูมิภาค และดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเหล่านี้และทำให้เกิดการตัดสินใจเกี่ยวกับความยั่งยืนมากขึ้น

2. Active Assist ใช้ AI เพื่อให้คำแนะนำแก่องค์กรในการทำความสะอาดสภาพแวดล้อมระบบคลาวด์ เพื่อทำการใช้จ่ายด้านไอทีอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงปรับปรุงความปลอดภัยและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย

3. Google Earth Engine ใช้แคตตาล็อกภาพถ่ายดาวเทียมและชุดข้อมูลเชิงพื้นที่หลายเพตะไบต์ของ Google Cloud และการวิเคราะห์ที่ครอบคลุมระดับโลก เพื่อแสดงข้อมูลเชิงลึกในเวลาที่เหมาะสม แม่นยำ มีความละเอียดสูง และเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเกี่ยวกับความเป็นอยู่และระบบนิเวศของโลก ซึ่งช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถมองเห็นห่วงโซ่อุปทานของตนและเข้าใจถึงความเสี่ยงด้านสภาพอากาศที่เกิดขึ้นได้

4. Google Cloud เร่งขับเคลื่อนความสามารถของทุกองค์กรในการแปลงธุรกิจเป็นดิจิทัล เรานำเสนอโซลูชันระดับองค์กรที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีล้ำสมัยของ Google ทั้งหมดนี้มาอยู่บนระบบคลาวด์ที่สะอาดที่สุดในอุตสาหกรรม ลูกค้าจากกว่า 200 ประเทศและเขตแดนต่าง ๆ หันมาใช้ Google Cloud ในฐานะพาร์ทเนอร์ที่เชื่อถือได้เพื่อกระตุ้นการเติบโตและแก้ปัญหาทางธุรกิจที่สำคัญที่สุด