จัดอันดับ “ธนาคารไทย” แบงก์ไหนยั่งยืนและเป็นธรรมตามหลัก ESG

ATM
Photo: Eduardo Soares/unsplash

จัดอันดับธนาคารไทยตามหลัก ESG ธนาคารมีแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนที่เข้มข้นมากขึ้น หลายแห่งปรับปรุงนโยบายสินเชื่อ ไม่ให้การสนับสนุนธุรกิจที่สร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

วันที่ 18 เมษายน 2566 แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finace Thailand) จัดเวทีสาธารณะ เรื่อง “เปิดคะแนน ESG ธนาคารไทย ปีที่ 5 ก้าวต่ออย่างไรให้ยั่งยืนและเป็นธรรม” ที่ห้องประชุม @BOT ชั้น 5 ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อแถลงผลการประเมินธนาคาร ประจำปี 2565 พร้อมมอบรางวัลแก่ธนาคารที่ได้รับรางวัล

นอกจากนี้ ยังมีการเสวนา 2 หัวข้อจากมุมมองของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งสองภาคส่วน ได้แก่ หัวข้อ “อนาคต ESG ธนาคารไทย” โดยผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และหัวข้อ “อนาคต ESG ธนาคารไทย ในมุมมองผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” จากองค์กรสมาชิกของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย

ESG ผลักดันธนาคารไทยยั่งยืน

Fair Finace Thailand ก่อตั้งในปี 2561 สมาชิกประกอบด้วยบริษัทวิจัย 1 บริษัท และองค์กรภาคประชาสังคม 4 องค์กร คือ บริษัท ป่าสาละ จำกัด, International Rivers, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) และมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)

โดยมีความสนใจร่วมกันในการติดตามผลกระทบและความท้าทายของธุรกิจธนาคาร และประสงค์จะร่วมกันผลักดันภาคธนาคารไทยให้ก้าวสู่แนวคิดและวิถีปฏิบัติของ “การธนาคารที่ยั่งยืน” (sustainable banking) อย่างแท้จริง ผ่านการนำมาตรฐาน Fair Finance Guide International (แนวปฏิบัติของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ เว็บไซต์ www.fairfinanceguide.org) มาใช้ในการประเมินนโยบายด้านต่าง ๆ ของธนาคารพาณิชย์ไทยที่เปิดเผยสู่สาธารณะ เริ่มจากปี พ.ศ. 2562 เป็นปีแรก

Advertisment

Fair Finace Thailand ได้เลือกธนาคารสัญชาติไทย 11 แห่ง เพื่อคำนวณคะแนน และนับเป็นปีที่ 5 ที่มีการนำมาตรฐาน Fair Finance Guide International (แนวปฏิบัติของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ) มาใช้ในประเทศไทย โดยข้อมูลที่ใช้ในการประเมินได้แก่ เอกสารนโยบายและข้อมูลต่าง ๆ ที่ธนาคารเปิดเผยต่อสาธารณะ ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 รวมถึงข้อมูลที่ธนาคารเปิดเผยเพิ่มเติมบนเว็บไซต์ระหว่างช่วงรับฟังความคิดเห็น สิ้นสุด ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 หัวข้อที่ใช้ในการประเมิณแบ่งเป็น

หมวดรายประเด็น

  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • การทุจริตคอร์รัปชั่น
  • ความเท่าเทียมทางเพศ
  • สุขภาพ
  • สิทธิมนุษยชน
  • สิทธิแรงงาน
  • ธรรมชาติ
  • ภาษี

หมวดรายอุตสาหกรรม

  • อาวุธ (เกณฑ์ในหมวดนี้มีจุดประสงค์หลักใหหธนาคารมีนโยบายไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาวุธที่มีอานุภาพทําลายล้างสูง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน การคอร์รัปชั่น การฟอกเงิน และการก่อการร้าย)

โดยผลการประเมินในปีนี้พบว่าธนาคารทุกแห่งได้คะแนนในหมวดนี้เนื่องจากทุกธนาคารประกาศนโยบายไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินและสินเชื่อแก่ธุรกิจที่ผลิตหรือค้า “อาวุธที่มีอานุภาพทําลายล้างสูง” โดยอาวุธกลุ่มดังกล่าวหมายถึง อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธชีวภาพ อาวุธเคมี หรืออาวุธอื่นใดซึ่งมีอานุภาพที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ สัตว์ พืช จํานวนมากหรือต่อสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรงทํานองเดียวกับอาวุธดังกล่าว รวมทั้งระบบการส่งอาวุธ ส่วนประกอบหรืออุปกรณ์ของอาวุธนั้นด้วย

หมวดการปฏิบัติการภายใน

  • การคุ้มครองผู้บริโภค
  • การขยายบริการทางการเงิน
  • นโยบายค่าตอบแทน
  • ความโปร่งใสและความรับผิด

โดยการเปรียบเทียบระหว่างธนาคารจะแสดงผลเป็นร้อยละ (%) ของคะแนนรวม เพื่อเปรียบเทียบอันดับบนฐานเดียวกัน เนื่องจากธนาคารเฉพาะกิจบางแห่งมีลักษณะการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ Fair Finance Thailand จึงยกเว้นบางหมวดในการประเมิน

เปิดคะแนน ESG ธนาคารไทย

สำหรับผลการประเมินธนาคารตามแนวปฏิบัติของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ (Fair Finance Guide International) ประจำปี พ.ศ. 2565 มีดังนี้

Advertisment

อันดับ 1 ธนาคารทหารไทยธนชาต มีคะแนนเฉลี่ย 42.56%

อันดับ 2 ธนาคารกสิกรไทย มีคะแนนเฉลี่ย 34.03%

อันดับ 3 ธนาคารกรุงไทย มีคะแนนเฉลี่ย 33.43%

อันดับ 4 ธนาคารไทยพาณิชย์ มีคะแนนเฉลี่ย 32%

อันดับ 5 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีคะแนนเฉลี่ย 29.68%

อันดับ 6 ธนาคารกรุงเทพ มีคะแนนเฉลี่ย 26.99%

อันดับ 7 ธนาคารออมสิน มีคะแนนเฉลี่ย 23.2%

อันดับ 8 ธนาคารเกียรตินาคินภัทร มีคะแนนเฉลี่ย 19.3%

อันดับ 9 ธนาคารทิสโก้ มีคะแนนเฉลี่ย 17.68%

อันดับ 10 ธนาคารเพื่อการเกษตรแบะสหกรณ์การเกษตร มีคะแนนเฉลี่ย 16.46%

อันดับ 11 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย มีคะแนนเฉลี่ย 14.03%

4 รางวัลประจำปี 2565

นอกจาากการวัดระดับคะแนนแล้ว Fair Finace Thailand ยังมีการมอบรางวัลประจำปีด้วย

  • รางวัลคะแนนสูงสุด ประจำปี 2565 ได้แก่ ธนาคารทหารไทยธนชาต
  • รางวัลพัฒนาการสูงสุด 5 ปี 2561-2565 ได้แก่ ธนาคารทหารไทยธนชาต
  • รางวัลพัฒนาการสูงสุดประจำปี 2565 หมวดธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์
  • รางวัลพัฒนาการสูงสุดประจำปี 2565 หมวดสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

จัดอันดับธนาคารไทยตามหลัก ESG

วัฒนธรรมการแข่งขันด้าน ESG

“สฤณี อาชวานันทกุล” กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวว่า ผลการประเมินนโยบายธนาคารประจำปี พ.ศ. 2565 สะท้อนให้เห็นว่าธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีการปรับปรุงนโยบายสินเชื่อและรายการธุรกิจที่ธนาคารจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน (exclusion list) ที่มีความชัดเจนมากกว่าทุกปี

โดยเฉพาะการให้ความสำคัญมากขึ้นกับธุรกิจที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การประกาศว่าจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และธุรกิจเหมืองถ่านหิน หรือการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนว่าทยอยลดเงินกู้ในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและเหมืองถ่านหินที่มีอยู่แล้วให้เป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030)

ธนาคารพาณิชย์เริ่มมีการแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนที่เข้มข้นมากขึ้น โดยมีการประกาศว่าธนาคารเคารพในสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGP) ที่ครอบคลุมลูกค้าธุรกิจของธนาคารด้วย (กล่าวคือ ลูกค้าต้องเคารพในสิทธิมนุษยชนภายใต้หลักการชี้แนะ UNGP ด้วย) ซึ่งลูกค้าธุรกิจของธนาคารจะต้องมีกระบวนการเยียวยาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่บริษัท (ลูกค้า) เป็นผู้ก่อหรือมีส่วนในการก่อ และมีการจัดตั้งหรือมีส่วนร่วมในกลไกเรื่องร้องเรียนระดับปฏิบัติการจากปัจเจกและชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบ เป็นต้น

ขณะที่ธนาคารที่รัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมีพัฒนาการที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิทธิแรงงานและความเท่าเทียมทางเพศที่มากขึ้น เช่น การประกาศนโยบายว่าลูกค้าของธนาคารไม่เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานตามกฎหมายแรงงานเท่านั้น แต่ต้องมีระบบการบริหารจัดการที่ชัดเจนในการติดตามและแก้ไขให้เป็นไปตามกฎหมายแรงงาน หรือการประกาศนโยบายไม่ยอมรับความรุนแรงทางเพศทุกรูปแบบ (zero tolerance policy) ในที่ทำงาน ซึ่งรวมถึงการคุกคามทางวาจา ทางร่างกาย และทางเพศ รวมถึงมีการเปิดเผยช่องว่างค่าตอบแทน gender pay gap

นอกจากนี้ ในหมวดการคุ้มครองผู้บริโภคที่ธนาคารไทยได้คะแนนค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับหมวดอื่นตั้งแต่ปีแรก ๆ ของการประเมิน แนวร่วมฯ มีข้อสังเกตว่า เกณฑ์การประเมินในหมวดนี้ยังไม่ครอบคลุมบริการธนาคารออนไลน์หรือแอปพลิเคชั่นมือถือของธนาคารมากนัก ผลคะแนนจึงไม่อาจสะท้อนว่าธนาคารไทยมีนโยบายที่เพียงพอหรือไม่ในการรับมือกับปัญหาที่ผู้ใช้บริการธนาคารทางมือถือหรือออนไลน์ประสบ (ณ สิ้นปี พ.ศ. 2565 Fair Finance Guide International อยู่ระหว่างการปรับปรุงเกณฑ์การประเมินในหมวดนี้ให้ครอบคลุมบริการธนาคารทางมือถือและออนไลน์มากขึ้น)