สรุป 8 ข่าวเด่น เทรนด์โลกเปลี่ยน กระทบธุรกิจ-คนทำงานมหาศาล

ข่าว
Photo: Filip Mishevski/unsplash

เทรนด์โลกเปลี่ยน สังคมเป็นขั้วสองโลกมากขึ้น องค์กรต้องปฏิบัติอย่างไรกับพนักงาน โลกในบริบทใหม่ส่งผลอะไรต่อ HR และเราจะอยู่กับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

วันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) ร่วมกับ JOBTOPGUN, บริษัท ฮิวแมนิก้า จำกัด (มหาชน), Darwinbox Digital Solutions Private Limited และ SkillLane จัดงาน Thailand HR Tech 2023 : Everything Everywhere Augmented เมื่อวันจันทร์ที่ 24 เมษายน 2566 น. ณ โรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ชั้น 5 สยามพารากอน

ช่วงหนึ่งของการบรรยาย นายทัส จันทรี ผู้ก่อตั้ง TAS Consulting Partner หนึ่งในกูรูเอชอาร์ที่รอบรู้ทั้งงาน people management เข้าใจธุรกิจ และก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ฉายภาพโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผ่านการเล่าข่าวที่เกิดขึ้น หลายเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ตกกระทบกับผู้คนมหาศาล

โลกใหม่ที่ทุกคนเชื่อมต่อถึงกัน องค์กรต้องปฏิบัติอย่างไรกับพนักงาน ? โลกในบริบทใหม่ ส่งผลอะไรต่อ HR ? และเราจะอยู่กับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

ทัส จันทรี

ใช้เทคโนโลยีไม่มีจริยธรรม ปัญหาจะตามมา

ข่าวที่ 1 “แซม แบงแมน-ฟรายด์” (Samuel Benjamin Bankman-Fried) เด็กด้านคณิตศาสตร์ จบฟิสิกส์จาก MIT (Massachusetts Institute of Technology) พ่อแม่เป็นอาจารย์อยู่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สามารถสร้างธุรกิจให้มีรายได้ 1.6 หมื่นล้านเหรียญ ภายใน 3-4 ปี

แซม แบงแมน-ฟรายด์จบมาทำงานใน trade company อยู่ 2-3 ปี จากนั้นเห็นช่องว่างของคริปโต เลยหาช่องว่างเข้าไปทำธุรกิจ กระทั่งกลายเป็นธุรกิจใหญ่เพราะเป็นเทรนด์โลกปัจจุบัน แต่พอสืบไปลึก ๆ เขาทำงานบริษัทโดยไม่มีจริยธรรม จรรยาบรรณ ไม่มีกรอบอะไรทั้งสิ้น เอาแฟนมาเป็นซีอีโอ ทำงานโยกเงินไปโน่นไปนี่ นี่คือตัวอย่างหนึ่งในโลกปัจจุบัน ซึ่งเราจะเจอเรื่องเหล่านี้ในองค์กรเพิ่มมากขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นจะเห็นว่า เวลาที่เทคโนโลยีพัฒนาไป จะมีคนในสังคมตามไม่ทัน แต่จะมีคนบางกลุ่มที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีแล้วใช้ประโยชน์ได้ เกิดช่องว่างทำให้คนที่เข้าถึงและสามารถใช้เทคโนโลยีสร้างประโยชน์ให้กับตัวเอง

แต่ถ้าไม่มีจริยธรรม ปัญหาจะตามมา อย่างที่เราโดนเรื่องการพนันออนไลน์ เรื่องมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในยุคปัจจุบัน คนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ขณะที่คนกลุ่มใหญ่เข้าไม่ถึงไม่เข้าใจ รวมถึงรัฐไม่สามารถออกนโยบายจัดการสังคมให้เป็นสุขได้ ทำให้เกิดปัญหา

SVB ล้มครืน เพราะโซเซียลเน็ตเวิร์ก

ข่าวที่ 2 Silicon Valley Bank (SVB) ที่ซิลิคอนวัลเลย์ สหรับอเมริกา เป็นที่รู้กันดีว่าใครเป็นสตาร์ตอัพไปแบงก์เขาจะไม่ค่อยให้กู้ มีหลายขั้นตอนที่ทำให้ไม่ได้รับอนุมัติเร็ว

SVB จึงตั้งมาเฉพาะสำหรับสตาร์ตอัพ อยู่ ๆ ไป SVB กลับล้มครืน ไม่ใช่เป็นเพราะมีการทุจริตมหาศาล เพราะ SVB ไม่ได้แย่ขนาดนั้น เพียงแต่เอาเงินไปซื้อพันธบัตร พอดอกเบี้ยสูง เลยโยกเงินลงทุนไปด้านอื่น ทำให้หมุนผลตอบแทนมาคืนเจ้าของเงินไม่ทัน

คนเลยรู้สึกไม่มั่นคง มีการพูดถึงมากมายในทวิตเตอร์ แป็บเดียวสามารถทำให้แบงก์ล้มได้ และ SVB เป็นตัวอย่างแรกของแบงก์ล้มเพราะการโหมกระพือของโซเซียลเน็ตเวิร์ก เป็นอีกตัวอย่างของโลกปัจจุบันที่เราอยู่

ซอฟต์ พาวเวอร์ สายวาย

ข่าวที่ 3 ถ้าใครไม่รู้จักสายวาย แสดงว่าไม่ได้อยู่ในเทรนด์โลกใหม่ ซีรีส์วายมีต้นกำเนิดที่ญี่ปุ่น เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นยาโยอิ แต่ดังในเมืองไทย จนกลายเป็น soft power ใหม่ของไทย สร้างรายได้เป็นพันล้าน อนาคตอาจเป็น 2-3 พันล้านบาท

เมืองไทยกลายเป็นต้นกำเนิดสายวาย ผู้ชายซึ่งไม่ใช่เกย์แต่แสดงความรักกัน เป็นโลกใหม่ที่สะท้อนตัวตนของเจเนอเรชั่น ที่ไม่ต้องการบอกว่าตัวเองมีสถานะเป็นอะไร เป็นคนที่ไม่ต้องบอกว่าฉันเป็นอะไร แต่ฉันรู้อยู่ว่าต้องการอะไร

เมื่อกลับมามองในมุมองค์กร ต้องดูว่าสิ่งที่เราทำ ทำให้คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดแบบนี้ เขารู้สึกว่าถูกบังคับให้เลือก ถูกบังคับให้เป็น หรือไม่

บริษัทเทคเลย์ออฟครั้งใหญ่

ข่าวที่ 4 จากยุคเครื่องจักรไอน้ำ ยุคไฟฟ้า และยุคดอทคอม ใน 3 ยุคนี้มีช่วงเวลายาวนานกว่าจะผ่านไปแต่ละยุค ขณะที่ยุค tech เพิ่งเกิดได้ไม่นาน แต่กลับมีบริษัทอย่างอเมซอน ไมโครซอฟท์ เซลส์ฟอร์ซ หรือเฟซบุก เกิดขึ้นแล้วจำนวนมาก และกำลังอยู่ในยุคที่รุ่งเรือง

ทว่าปัจจุบันทุกบริษัทกำลังเลย์ออฟคนครั้งใหญ่ อาจเป็นปัญหาจากเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาด้วย แต่ถ้าพิจารณา จะเห็นว่าไม่ใช่การเลย์ออฟเพราะผลประกอบการขาลงอย่างเดียว หลาย ๆ ที่ผลประกอบการยังดี แต่มีแผนจะเอาระบบอัตโนมัติมาใช้ เพราะฉะนั้นวันนี้เราอยู่ในโลกที่ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดกับเราบ้าง

ในช่วงที่มีข่าวเลย์ออฟ คนที่ถูกเลย์ออฟเป็นคนที่อยู่ใน gig worker เป็น freelance มือปืนรับจ้างให้บริษัทเทคใหญ่ ๆ พอ tech บูมก็ลาออกจากการเป็น gig แล้วเข้ามาอยู่ในองค์กร เข้ามาอยู่แปปเดียว บริษัทเหล่านี้ก็เลย์ออฟครั้งใหญ่ ถือเป็นเรื่องโหดร้ายสำหรับคนรุ่นใหม่

ไลฟ์สไตล์บริษัท tech ถูกลดทอน

ข่าวที่ 5 เมื่อเดือนธันวาคม 2565 Google ออกระเบียบอันหนึ่ง เรื่องการประเมินผลการปฏิบัติงานแบบใหม่ เป็นเรื่องของ force ranking ที่ทำให้คนต้องทำ performance improvement plan ภายใต้ระบบใหม่นี้ Google ประมาณการว่า 6% ของพนักงานประจำจะจัดอยู่ในกลุ่มที่มีอันดับต่ำ ซึ่งทำให้พวกเขามีความเสี่ยงสูงใน corrective action ขณะที่การประเมินรูปแบบเก่า OKR ที่ให้ปล่อยให้พนักงานประเมินอิสระ ให้จินตนาการมีเพียง มีพนักงานประจำจะจัดอยู่ในกลุ่มที่มีอันดับต่ำเพียง 2%

นอกจากนั้นกูเกิล ที่สหรัฐอเมริกาออกข่าวเมื่อไม่นานนี้ว่า โรงอาหารและสิ่งที่ใช้จ่ายเพื่อไลฟ์สไตล์ของบริษัท tech จะถูกลดทอนสภาพแวดล้อม แล้วหันมาควบคุมต้นทุนมากขึ้น

ปี 2566 นี้การเลื่อนตำแหน่ง การโปรโมตจะไม่ได้เป็นไปตาม performance แต่ใช้โควตาเป็นตัวกำหนด

หนุ่มสาวญี่ปุ่นไม่อยากทำงานจ่ายภาษีอุ้มผู้สูงอายุ

ข่าวที่ 6 นายยูสุเกะ นาริตะ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล พูดออกสื่อว่า ตอนนี้เด็กรุ่นใหม่ในญี่ปุ่นไม่สามารถโตขึ้นมาเป็นผู้บริหารภาคธุรกิจ การเมือง และภาคส่วนอื่น ๆ แทนที่คนรุ่นเก่าจำนวนมากที่ไม่ยอมหลีกทาง และคนรุ่นใหม่ไม่สามารถทำงานเพื่อจ่ายภาษีไปอุ้มผู้สูงอายุ ที่มีอายุยาวนานมากขึ้นเรื่อย ๆ

นายยูสุเกะจึงแนะนำว่า วิธีเดียวที่จะแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุของญี่ปุ่นได้คือ ให้ผู้สูงอายุฆ่าตัวตายหมู่ และคว้านท้องตัวเองหรือทำเซ็ปปุกุ ซึ่งเป็นความคิดที่รุนแรงมากและได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ภายหลังนายนาริตะจึงออกมาบอกว่าไม่ได้คิดจริง ๆ

แต่ต้องการสะท้อนให้เห็นความคิดของคนในสังคมที่เป็นขั้วสองโลกเพิ่มมากขึ้นทุกวันคือ มีคนที่รวยมาก ๆ กับจนมาก ๆ คนที่เข้าถึงการศึกษา คนที่ไม่มีโอกาสทางการศึกษา คนที่รู้จักเทคโนโลยี คนที่ไม่รู้จักเทคโนโลยี

เป็นสังคม polarized society คือคนสองกลุ่มที่มีความคิดต่างขั้วกันอย่างชัดเจน พอมีอะไรเกิดขึ้น แตะนิดเดียว จะเกิดความรุนแรง เกิดความเห็นที่ไม่ตรงกันง่าย ๆ ไม่ใช่แค่ในระดับการเมือง แต่เกิดในองค์กรด้วย

ยืดอายุคนเกษียณ

ข่าวที่ 7 ประเด็นผู้สูงอายุในประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่เข้าสังคมผู้อายุ ยังไม่รวย แต่ว่าแก่แล้ว ประเทศที่รวยแล้วแก่อย่าง ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ก็กำลังมีปัญหาคือ คนเกษียณใช้สวัสดิการ เงินออม ที่เคยจ่ายให้รัฐ แต่เมื่อ work force ไม่มีเงินพอที่จะไปจัดสรรให้คนเหล่านี้ใช้เงินเกษียณ ฝรั่งเศสก็เลยยืดอายุคนเกษียณ จาก 60 ปี เป็น 64 ปี เลยเกิดประท้วงครั้งใหญ่ เป็นความรุนแรงในฝรั่งเศส สิ่งที่เกิดขึ้นคือโลกใหม่ที่เรากำลังพูดถึง

Apple อยากเป็นธนาคาร

ข่าวที่ 8 เมื่อเร็ว ๆ นี้ Apple ทำตัวเป็นธนาคารจ่ายเงินให้ลูกค้าดอกเบี้ย 4% สำหรับคนที่มีเงินฝาก จริง ๆ แอปเปิลยังไม่คิดถึงเป็นแบงก์ทางเลือก แต่ต้องการทำให้เป็น ecosystem ของแอปเปิลให้ครบ แต่ก็ไม่แน่ อาจเป็นแบงก์ในอนาคตก็ได้