“บิ๊กแอร์ไลน์” แห่สั่งซื้อเครื่องบินเพิ่ม คาดอุตสาหกรรมการบินฟื้นสู่ปกติในปี 2568

บิ๊กแอร์ไลน์

จากรายงานของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT ระบุว่า ปัจจุบันสถานการณ์อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกยังไม่ฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 (ปี 2562) โดยในแง่ของรายได้ของสายการบินทั่วโลกในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 93% ของปี 2562

และพบว่าในปี 2565 อุตสาหกรรมการบินของไทยฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2564 โดยผู้โดยสารฟื้นตัว 46% เที่ยวบินฟื้นตัว 53% เมื่อเทียบกับปี 2562 และในกรณีที่ดีที่สุดคาดว่าปริมาณผู้โดยสารจะฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับเดียวกับปี 2562 ได้ในปี 2567

ทั้งนี้ สอดรับกับข้อมูลของบริษัท “แอร์บัส” ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลกที่แจ้งว่าในปี 2564 แอร์บัสได้ส่งมอบเครื่องบินพาณิชย์ใหม่ 611 ลำ และจำนวน 661 ลำ ในปี 2565 และยังมีสายการบินที่ลงทะเบียนคำสั่งซื้อใหม่ทั้งหมด 1,078 ลำ ทำให้แอร์บัสมีจำนวนเครื่องบินรอส่งมอบ ณ สิ้นปี 2565 รวมทั้งสิ้น 7,239 ลำ

ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อใหม่ยังทยอยเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามสัญญาณการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินโลก

“เตอร์กิช” สั่งเพิ่ม 220 ลำ

“ดร.อาห์เม็ต โบลาต” ประธานคณะกรรมการและกรรมการบริหารของเตอร์กิช แอร์ไลน์ (Turkish Airlines) ให้ข้อมูลว่า สายการบินจะดำเนินการขยายฝูงบินด้วยการสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัสจำนวน 220 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินแอร์บัส เอ321 (A321) ซึ่งเป็นรุ่นที่ขายดีที่สุดของแอร์บัสจำนวน 150 ลำ และเครื่องบินประเภทลำตัวกว้างรุ่น เอ350 (A350) ซึ่งทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลกจำนวน 70 ลำ

โดยคำสั่งซื้อครั้งล่าสุดนี้จะทำให้ยอดสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัสทั้งหมดของเตอร์กิช แอร์ไลน์ รวมเป็น 504 ลำ โดยได้มีการส่งมอบไปแล้ว 212 ลำ

“คำสั่งซื้อนี้เป็นมากกว่าการเติบโต แต่เป็นการพิสูจน์เจตจำนงต่อความทุ่มเทของเราในด้านนวัตกรรม ความเป็นเลิศในการปฏิบัติงาน และอนาคตที่ยั่งยืน เพราะการเพิ่มจำนวนเครื่องบินแอร์บัสเทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญต่อการสนับสนุนเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของเราอีกด้วย”

อีซี่ย์เจ็ตสั่ง A320-A321 157 ลำ

เช่นเดียวกับสายการบินอีซี่ย์เจ็ต (easyJet) ที่ล่าสุดได้ยืนยันคำสั่งซื้อเครื่องบินตระกูล เอ320นีโอ (A320neo) เพิ่มเติมอีก 157 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบิน A320neo จำนวน 56 ลำ และเครื่องบิน เอ321นีโอ (A321neo) จำนวน 101 ลำ

และเพิ่มขนาดของคำสั่งซื้อ A320neo จำนวน 35 ลำ ให้เป็น A321neo ที่ใหญ่ขึ้น โดยข้อตกลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับปรุงฝูงบิน และการปรับเพิ่มจำนวนที่นั่งผู้โดยสารของ “อีซี่ย์เจ็ต” และนำการพัฒนาด้านความยั่งยืนที่สำคัญมาสู่ธุรกิจ

“โยฮัน ลุนด์เกรน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอีซี่ย์เจ็ต บอกว่า คำสั่งซื้อดังกล่าวไม่เพียงจะช่วยให้สายการบินสามารถเปลี่ยนทดแทนเครื่องบินรุ่นเก่าให้เป็นรุ่นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อันเป็นองค์ประกอบหลักของแผนงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) แต่ยังช่วยให้สายการบินสามารถเติบโตอย่างมีแบบแผน และสร้างโอกาสการพัฒนาที่สำคัญจากการปรับเพิ่มจำนวนที่นั่งผู้โดยสาร

และตอกย้ำตำแหน่งผู้นำทางการบินในสนามบินหลักที่สำคัญของยุโรปต่อไปได้

อีวีเอ แอร์เน้นเครื่องใหญ่-บินไกล

ด้านสายการบินอีวีเอ แอร์ (EVA Air) สายการบินสัญชาติไต้หวัน ได้สรุปคำสั่งซื้อเครื่องบินพิสัยไกล รุ่น เอ350-1000 (A350-1000) จำนวน 18 ลำ และเครื่องบินทางเดินเดี่ยว รุ่น เอ321นีโอ (A321neo) จำนวน 15 ลำ เพื่อรองรับความต้องการในการบินระยะทางไกลในอนาคต

ขณะที่เครื่องบิน A321neo จะนำประสิทธิภาพใหม่ที่ดีขึ้นมาสู่สายการบิน “อีวีเอ แอร์” ภายในเส้นทางระดับภูมิภาค

โดย “เคลย์ ซัน” ประธานสายการบินอีวีเอ แอร์ กล่าวว่า เครื่องบินทั้ง 2 ขนาดที่สายการบินเลือกเป็นประเภทที่ทันสมัยและประหยัดเชื้อเพลิงที่สุด มอบความสะดวกสบายแก่ผู้โดยสารในระดับสูงสุด

นอกจากนี้ ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้อย่างมาก ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของสายการบิน โดยเครื่องบิน A350-1000 ซึ่งใช้สำหรับการปฏิบัติการบินในเส้นทางระยะไกลจะสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับเครื่องบินในระดับเดียวกัน และจะทำให้ “อีวีเอ แอร์” สามารถมอบประสบการณ์บนเครื่องบินที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ให้กับผู้โดยสารในอนาคต

ยูไนเต็ดแอร์สั่งเครื่องเล็ก 60 ลำ

นอกจากนี้ ยังพบว่าในช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา สายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ (United Airlines) ก็ได้สั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส เอ321นีโอ (A321neo) เพิ่มไปอีก 60 ลำ เพื่อส่งเสริมโครงการ “United Next” ที่เป็นการนำเครื่องบินรุ่นใหม่มารวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งในฝูงบินอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และสร้างมาตรฐานและยกระดับเครือข่ายของสายการบินทั่วโลก

พร้อมระบุว่า ก่อนหน้านี้ยูไนเต็ดแอร์ไลน์ได้สั่งซื้อเครื่องบิน เอ321เอ็กซ์แอลอาร์ (A321XLR) จำนวน 50 ลำ และ A321neo จำนวน 70 ลำไปแล้ว

เมื่อประกอบกับคำสั่งซื้อใหม่นี้ ทำให้จำนวนรวมของข้อตกลงในการสั่งซื้อ A321 โดยตรงจากแอร์บัสเพิ่มขึ้นรวมเป็นจำนวน 180 ลำ

“แอร์เอเชีย” สั่งอีก 412 ลำ

เช่นเดียวกับกลุ่ม “โทนี่ เฟอร์นานเดส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Capital A ผู้บริหารกลุ่มสายการบินแอร์เอเชียที่ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันกลุ่มแอร์เอเชียมีคำสั่งจัดหาเครื่องบินจำนวน 412 ลำ โดย 75% อยู่ในขั้นตอนสัญญาทางการเงินเเล้ว

แบ่งเป็นเครื่องบินแอร์บัส A321neo จำนวน 377 ลำ แอร์บัส A321XLR จำนวน 15 ลำ และแอร์บัส A330neo จำนวน 20 ลำ และจะทยอยเข้าสู่ฝูงบินนับจากนี้

ทั้งนี้ จะทำให้ในปี 2028 หรือปี 2571 กลุ่มสายการบินแอร์เอเชียมีเครื่องบินประจำการทั้งสิ้น 333 ลำ

ปรากฏการณ์ดังล่าวนี้สะท้อนชัดเจนว่า สายการบินต่าง ๆ พร้อมที่จะกลับมาให้บริการกันอย่างเต็มที่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามที่สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA คาดการณ์ไว้ ว่าธุรกิจสายการบินจะกลับมาสู่ระดับเดียวกับปี 2562 ภายในปี 2568

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องดูด้วยว่า “คำสั่งซื้อ” ของสายการบินแต่ละแห่งนั้น สุดท้ายแล้วผู้ผลิตเครื่องบินจะสามารถผลิตและส่งมอบได้ทันตามแผนของสายการบินหรือไม่ด้วย เพราะวิกฤตโควิดที่ผ่านมาบริษัทผลิตเครื่องบินรายใหญ่อย่าง “แอร์บัส” และ “โบอิ้ง” ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน