เลอเมอริเดียนกรุงเทพฯ ทุ่ม 232 ล้าน ปรับโฉม ลุ้นอีก 2 ปีรายได้เท่าก่อนโควิด

ดีเธอร์ รุคเค้นเบาออร์
ดีเธอร์ รุคเค้นเบาออร์ ผู้จัดการทั่วไป โรงแรมเลอ เมอริเดียน กรุงเทพฯ

“เลอ เมอริเดียน กรุงเทพฯ” เห็นสัญญาณบวกธุรกิจท่องเที่ยว ทุ่มกว่า 200 ล้านบาทปรับโฉมใหม่ทุกพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยวในยุค new normal คาดอีก 2 ปีรายได้กลับไปใกล้เคียงก่อนโควิด เผยปัญหา “ขาดแคลนแรงงาน-ตั๋วเครื่องบินแพง-ค่าใช้จ่ายเพิ่ม” ปัจจัยท้าทายอุตสาหกรรมโรงแรม

นายดีเธอร์ รุคเค้นเบาออร์ ผู้จัดการทั่วไป โรงแรมเลอ เมอริเดียน กรุงเทพฯ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับบทเรียนอย่างมากจากการระบาดของโควิด-19 ขณะที่ปัจจุบันผู้คนมีความรู้เกี่ยวกับโรคระบาดนี้มากขึ้น ส่งผลให้เกิดแนวคิดการอยู่ร่วมกับไวรัส โดยในปีนี้ตลาดนักท่องเที่ยวในประเทศยังถือเป็นโอกาสสำคัญของธุรกิจโรงแรมไทย

ขณะเดียวกันเริ่มเห็นสัญญาณการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางทั่วโลก โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงทำให้เชื่อว่าปริมาณการออกเดินทางจะกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง

“ตลาดการท่องเที่ยวปี 2566 เราเห็นสัญญาณบวกมาก ๆ นักท่องเที่ยวธุรกิจ และนักท่องเที่ยวกลุ่มพักผ่อนจะกลับมา” นายดีเธอร์กล่าว และว่าแม้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยอยู่ที่ 10 ล้านคน แต่จำนวนดังกล่าวยังน้อยกว่าปี 2562 อยู่มาก (ปี 2562 ราว 40 ล้านคน) และอาจไม่เพียงพอต่ออุปทานของอุตสาหกรรม

สำหรับโรงแรมเลอ เมอริเดียน กรุงเทพฯนั้น นายดีเธอร์กล่าวว่า โรงแรมได้ลงทุนถึง 232 ล้านบาท ทำการปรับโฉมทุกพื้นที่ ตั้งแต่ส่วนกลางไปจนถึงห้องพัก ที่พร้อมด้วยความสะดวกสบาย ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ศิลปะแห่งการใช้ชีวิตสไตล์ยุโรป” การตกแต่งในสไตล์โมเดิร์นผสมผสานกับวัฒนธรรมไทย พร้อมติดตั้งสุขภัณฑ์ TOTO เพื่อตอบโจทย์ด้านความสะอาดและความสะดวกสบาย

พร้อมด้วยบริการจากร้านอาหารที่เสิร์ฟของว่างทั้งไทยและสากลที่ Latitude 13 Indoor หรือ Tempo บาร์แห่งใหม่ของโรงแรม ซึ่งให้กลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น

“เราใช้ระยะเวลาปรับปรุงเป็นเวลา 2 ปี 4 เดือน แล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อเตรียมรับนักท่องเที่ยวในยุค new normal ที่จะมาถึง” นายดีเธอร์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงแรมยังมีปัจจัยที่ท้าทายหลายเรื่อง เช่น ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งหลังจากการระบาดของโควิด-19 แรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ออกจากระบบไป และหลายรายได้เริ่มประกอบอาชีพอื่น หรือเปิดธุรกิจของตนเองขึ้นมา และเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย แรงงานยังไม่กลับเข้ามาในอุตสาหกรรม จึงเกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน

นอกจากนี้ ราคาบัตรโดยสารเครื่องบินที่มีราคาแพง ยังกระทบนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีกำลังการซื้อไม่สูง อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งมีการเก็บออมมาเป็นระยะเวลา 2 ปี จึงทำให้นักท่องเที่ยวบางส่วนยังคงออกเดินทางโดยใช้เงินเก็บดังกล่าวอยู่

ไม่เพียงเท่านี้ การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่าย เช่น ค่าไฟ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมด้วยเช่นกัน ประกอบกับสถานการณ์แรงงานที่ขาดแคลน ทำให้ผู้ประกอบการต้องจ้างแรงงานในอัตราค่าจ้างที่สูงขึ้น ทำให้ราคาห้องพักจำเป็นต้องปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนด้วย

“สภาพแวดล้อมของธุรกิจท่องเที่ยวนั้นไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป มีปัจจัยที่เราคาดการณ์ไม่ได้รออยู่ข้างหน้าอีกมาก” นายดีเธอร์กล่าว

นายดีเธอร์กล่าวด้วยว่า แม้จะมีเหตุการณ์ที่ยังคาดการณ์ไม่ได้อีกมาก แต่เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว สำหรับในส่วนของโรงแรมตั้งเป้าว่าในปี 2566-2567 โรงแรมจะมีรายได้กลับไปใกล้เคียงกับช่วงก่อนการระบาด

โดยโรงแรมมุ่งเป้าจับกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ไม่ได้จำกัดเพียงชาติใดชาติหนึ่ง แต่การที่นักท่องเที่ยวชาวจีนยังไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้สะดวกนั้น ก็อาจส่งผลกระทบ เนื่องจากเป็นตลาดนักท่องเที่ยวที่ใหญ่มาก

“ประเทศไทยสามารถจัดการการระบาดได้ดี ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นกับชาวต่างชาติ และเชื่อว่าจะเป็นสิ่งที่ดี หากประเทศไทยศึกษาการจัดการโควิด-19 ในต่างประเทศ และนำบางมาตรการมาปรับใช้อย่างเหมาะสม” นายดีเธอร์กล่าว